เชียงราย – มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เร่งหาที่ว่างแถบชายแดนเชียงของ เตรียมตั้งวิทยาเขตผลิตบุคลากรป้อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังเส้นทางคมนาคมเชื่อมจีน-ไทย (R3a) เสร็จสมบูรณ์ พร้อมเสนอตัวเข้าร่วมพลิกฟื้นพิพิธภัณฑ์ปลาบึกที่ถูกทิ้งร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้สมบูรณ์แบบในอนาคต
เมื่อเร็วๆนี้ ผศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) ได้นำคณะผู้บริหาร เดินทางไปสำรวจหาที่ดิน เพื่อก่อสร้างวิทยาเขตแห่งใหม่และจัดตั้งศูนย์วิจัยชายแดน บริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชายแดนไทย-ลาว ด้าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตรงข้ามเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว )
ทั้งนี้ นางปวันรัตน์ วงศ์สิริวณิชย์ หัวหน้ากลุ่มผู้สมัครสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) เชียงของ กลุ่มอิสระเชียงของ ได้นำคณะเข้าสำรวจพื้นที่เป้าหมายก่อตั้งวิทยาเขต ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่มีโฉนด – ส.ป.ก.รวมทั้งป่าอนุรักษ์ของสวนป่า สลับกันอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถพัฒนาได้ในอนาคต
นอกจากนี้คณะยังได้เข้าตรวจสอบสภาพอาคารพิพิธภัณฑ์ปลาบึก ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างโดยไม่มีการดำเนินการใดๆ หลังจากสร้างเสร็จแล้วไม่มีงบประมาณดูแลรักษา ซึ่งอาคารชุดพิพิธภัณฑ์ลงทุนสร้างกว่า 10 ล้านบาท หลังจากสร้างเสร็จแล้ว ไม่มีงบประมาณดูแลรักษา คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้เดินสำรวจจนทั่วบริเวณบนพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำโขงรวมทั้งอาคารสิ่งปลูกสร้างที่รกร้างว่างเปล่าและบริเวณที่ติดต่อกัน
ผศ.ดร.มาณพ กล่าวว่า จากการเดินสำรวจและพบอาคารที่เป็นพิพิธภัณฑ์ปลาบึกที่รกร้าง มีแนวทางในการที่จะพัฒนา มหาวิทยาลัยมีแผนจะให้ความร่วมมือกับเทศบาล ในการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่เดิมด้วยการส่งวิศวกร นักวิชาการ นักชีววิทยาและนักวิจัยมาให้คำปรึกษาปรับปรุงใหม่ อยากให้เทศบาล ตั้งงบประมาณรองรับ และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบริหาร ภายใต้เงื่อนไข ซึ่ง มรช.จะตั้งเป็นศูนย์วิจัยและมีเจ้าหน้าที่มาทำงานอยู่ประจำจัดการบริหารให้เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ด้านปลาบึกและส่งเสริมการเลี้ยงปลาในกระชัง โดยจะนำระบบมัลติมีเดีย - อุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ มาสนับสนุนเพื่อให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย
หลังจากคณะ มรช.ได้สำรวจสถานที่ดังกล่าวแล้ว คณะยังได้นำผู้บริหารมรช. ลงเรือหางยาวไปดูพื้นที่สาธารณะของเทศบาล ห่างจากพิพิธภัณฑ์ปลาบึกราว 500 เมตร เป็นพื้นดินที่เกิดขึ้นใหม่จำนวน 38 ไร่ โดยเทศบาลยินดีมอบให้ มรช.เข้าไปจัดตั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้หรือทำประโยชน์ต่ออำเภอเชียงของ
ด้านนางปวันรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันความเจริญในด้านการค้าและการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดน อ.เชียงของ ก้าวล้ำไปมาก เพราะได้อานิสงส์จากการเข้ามาของกลุ่มทุนจีน เข้ามาจัดตั้งและขยายเขตการค้าส่งสินค้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านถนน R3a เข้าประเทศ สปป.ลาว เชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย
จังหวัดเชียงรายทั้ง 3 อำเภอ คือ อ.เชียงของ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นศูนย์กลางในการประสานงานด้านการค้าและการลงทุน ในอนาคตหากมีการจัดตั้งวิทยาเขตการศึกษาในระดับสูงขึ้นมาใน อ.เชียงของ แล้ว เชื่อว่าจะมีผลต่อการพัฒนา สร้างบุคลากรให้มีประสิทธิภาพโดยเฉพาะเรื่องภาษาและวัฒนธรรม จนมีผลช่วยต่อยอดเรื่องการค้าในเขตเศรษฐกิจใหม่ หรือตลาดอินโดจีนจุดนี้ได้อย่างมหาศาล