xs
xsm
sm
md
lg

มือที่มองไม่เห็น (ที่ภาคใต้)

เผยแพร่:   โดย: ธรรมคุณ บุญพา

แม้จะวางระยะเวลาการอภิปรายเนื่องในวาระการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลถึง3 วัน ( 18 -20 ก.พ. 2551) วันละ 12 ชั่วโมงรวม 36 ชั่วโมง แต่น่าเชื่อว่าโดยเนื้อหาคงไม่มีอะไรที่น่าสนใจสักกี่มากน้อย

ทั้งนี้ เพราะตัวนโยบายที่รัฐบาลสมัครนำเสนอต่อรัฐสภาก็ไม่มีอะไรที่หวือหวาน่าสนใจ ส่วนใหญ่จะเขียนตามกรอบรัฐธรรมนูญซึ่งได้วางกรอบเอาไว้แล้ว กับอีกส่วนหนึ่งรัฐบาลพยายามที่จะต่อยอด-หยิบยกนโยบายประชานิยมในช่วงรัฐบาลทักษิณมาเรียกคะแนน..

รัฐบาลสมัครได้วางกรอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน เป็น 2 ระยะ คือระยะเร่งด่วนที่ต้องเริ่มดำเนินการในปีแรก และระยะการบริหารราชการ 4 ปี

เฉพาะที่จะดำเนินการในปีแรกมีทั้งหมด 19 รายการ ผมสนใจในหัวข้อที่ 2คือปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอลอกมาทั้งดุ้นดังนี้

“1.2 แก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาดำเนินภารกิจในด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา โดยให้มีความสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะพื้นที่ วิถีชีวิตวัฒนธรรมและความเชื่อของประชาชน ตลอดทั้งอำนวยความเป็นธรรมและความยุติธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความสมานฉันท์และสันติสุขในพื้นที่โดยเร็วที่สุด”

ต้องบอกว่า...แม้ที่เขียนมาไม่มีอะไรผิดพลาดหรอก แต่ก็ต้องพูดกันตรงๆ ว่า..ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรในกอไผ่..ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมที่สัมผัสได้..

ยิ่งหากมองทะลุลอดไปถึงตัวบุคคลที่จะเป็นแกนนำในการดูแลปัญหาความมั่นคงสองคนคือ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี/รมว.กลาโหม กับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ก็ยิ่งดูเหมือนจะยิ่งห่างไกลความหวังในการดับไฟใต้อยู่เหมือนกัน...

โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิมที่ไม่ทันได้เริ่มงานอย่างเต็มตัวก็มีอันต้องใส่เกียร์ถอยหลังถึงสองก้าวใหญ่...ครั้งแรกจากการโยนข้อเสนอเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” ที่ถูกนายกฯ เบรกกลางอากาศ ทำให้ “เฉลิม” ต้องขอเปลี่ยนเป็น “เขตปกครองเฉพาะส่วน” แต่ไม่วายที่จะต้องขอยกเลิกอีกครั้ง..

แม้จะเสียรังวัดเป็นอันมาก... แต่ก็เอาเถอะถึงอย่างไรผมก็พยายามจะเข้าใจและชื่นชม ร.ต.อ.เฉลิมที่อย่างน้อยก็แสดงความเร่าร้อนที่จะทำงาน และไม่แคร์ที่ใครต่อใครจะตำหนิว่า “ร้อนวิชา”...

เอาไปเอามา ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงต้องมองบทบาทหลักที่คนชื่อ สมัคร สุนทรเวช ทั้งในฐานะนายกฯ ซึ่งจะกำกับดูแลกองทัพและรวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)

และหากให้เดาทางมวย... “สมัคร” ก็คงปล่อยให้กองทัพเป็นพระเอกหรือเจ้าภาพหลักในการปฏิบัติการ ส่วนรัฐบาลก็คงหาทางผลิตนโยบาย มาตรการต่างๆ (ซึ่งในชั้นนี้ยังไม่มีอะไรเลย)..

ครั้นชายตามองไปที่พรรคฝ่ายค้านบนเวทีรัฐสภาว่าด้วยการอภิปราย-แถลงนโยบาย ก็พอจะคาดหมายได้ว่า พวกเขา(พรรคประชาธิปัตย์) ก็คงไม่มีอะไรใหม่ไปกว่าข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมประการเดียวคือ..ให้ตรากฎหมายจัดตั้ง สำนักงานบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ คล้ายๆ กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพียงแต่องค์กรใหม่ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอจะเน้นหนักไปที่การรวมศูนย์พลเรือน ตำรวจ ทหาร ให้ทำงานเป็น “เอกภาพ”

จะว่าไป ตามแนวคิดพรรคประชาธิปัตย์หากทำได้จริงก็คงแก้ปัญหาได้บ้างบางส่วน...เพราะในยามที่แทบทุกฝ่ายรู้สึก “มึนตึ้บ” กับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อะไรที่พอจะเป็นเรื่องเป็นราว มีความหวังอยู่บ้างก็ดีทั้งนั้น แต่ก็นั่นแหละหนทางที่ดีที่สุดที่รัฐบาลและทุกฝ่ายควรจะได้ร่วมด้วยช่วยกันคิดก็คือ...การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดีที่สุดควรจะได้คิดทำแบบบูรณาการครบวงจร..

การจัดตั้งองค์กรตามแนวประชาธิปัตย์เสนอก็พอฟังได้ แต่ก็ต้องคิดต่อด้วยว่าเมื่อมีองค์กรนี้แล้ว องค์กรอื่นๆ ที่มีอยู่จะทำอย่างไร องค์กรใหม่องค์กรเดียวที่เสนอ..เพียงพอหรือไม่..!?
เมื่อไม่กี่วันก่อน ผมได้อ่านรายงานผลการสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เพิ่งสรุปกันเมื่อไม่นานมานี้

ตามรายงาน คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ได้เสนอให้ตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อขับเคลื่อน-แก้ปัญหาขึ้นมาใหม่อย่างน้อย 2 องค์กร คือ

สถาบันสันติยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความเป็นธรรมและพัฒนาการใช้สันติวิธี โดยกำหนดให้องค์กรนี้เป็นองค์กรอิสระ มีภารกิจสำคัญอาทิ กำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนโดยทั้งภาครัฐและประชาชนมีส่วนร่วม, จัดโครงสร้างการประสานงานกระบวนการยุติธรรม และแนวทางการใช้สันติวิธีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, ติดตาม ประสานและประเมินผลการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติแนวทางสันติวิธี...ฯลฯ..

สภาประชาชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภานี้จะมาจากภาคประชาชนทั้งหมด มีภารกิจสำคัญคือ กำหนดนโยบายการพัฒนาชุมชนในทุกด้าน และเสนอแนะ-วิจัยปัญหาเกี่ยวกับศาสนา วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของท้องถิ่น..

ดังว่ามา... นี่แค่การตกผลึกจากสององค์กร คือ จากพรรคประชาธิปัตย์กับหนึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของ สนช...รัฐบาลเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรก็อย่าได้รอช้าในการตัดสินใจ....และควรเปิดใจกว้าง เพราะวันนี้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มันคือ “วิกฤตชาติ” ที่ไม่อนุญาตให้นักการเมือง -นักเลือกตั้งรวมทั้งคนมีสีทั้งหลายคิดและตัดสินใจกันภายใต้กรอบแคบๆ อีกแล้ว...

กำลังนี้นายกฯ สมัครชักจะพูดถึงคำว่า “มือที่มองไม่เห็น” บ่อยครั้งขึ้น โดยระบุว่าขณะนี้มีมือที่มองไม่เห็นคอยป่วนทำลายรัฐบาลและพรรคพลังประชาชน..

ในขณะที่...ณ แนวรบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช่หรือไม่ว่า..ในขณะที่ดูเหมือนว่าเรามองเห็นตัว เห็นเงาของขบวนการก่อความไม่สงบหลายร้อยหลายพันคนในพื้นที่ 5จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ลึกๆ เราก็รู้สึกคล้ายๆ กันว่ามันยังมี “มือที่มองไม่เห็น” คอยชักโยง บงการหรือตอกลิ่มให้สถานการณ์ระอุร้อน เพื่อตัดแบ่งพื้นที่ให้จงได้...

ผมจะบอกกับนายกฯ สมัครว่า ใครจะคิดยังไงไม่ทราบ แต่สำหรับผมแล้วถึงนาทีนี้ หักลบกลบหนี้แล้ว บนเก้าอี้นายกฯ คนที่ 25 ผมยังให้คะแนนบวกกับท่าน และเชื่อว่าหลายฝ่ายชื่นชมในตัวตนและความเป็นตัวของตัวเองของท่าน เพียงแต่เริ่มรำคาญกับวลี “มือที่มองไม่เห็น” ของท่านขึ้นมาตะหงิดๆ...

เลิกสนใจ “มือที่มองไม่เห็น” ที่ท่านหมายถึงเถอะครับ หันไปตั้งวงเล็กถกกันให้แตกหน่อยเถอะว่า...มือที่มองไม่เห็นในจังหวัดชายแดนภาคใต้..มันเป็นใคร มันคือใครกันแน่ อยู่ในพรรค อยู่ในรัฐบาลของท่านบ้างหรือไม่...!?
กำลังโหลดความคิดเห็น