xs
xsm
sm
md
lg

ฤาว่าเด็กวัยรุ่นยุคนี้จะขาดภูมิคุ้มกัน…

เผยแพร่:   โดย: เฉลิมพล พลมุข

ช่วงในปีที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่นหลาย ๆ กรณีด้วยกันที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นระยะๆ แต่ละเหตุการณ์นำมาซึ่งความสูญเสียและสะเทือนใจให้กับผู้ที่เป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ครูอาจารย์ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงผู้ที่ประกอบวิชาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเขาเหล่านั้น เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษาธิการ...

หากย้อนเวลาไปเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเด็กวัยรุ่นมีอยู่ในจำนวนที่น้อยไม่บ่อยมากเท่ายุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตาย เด็กสาววัยรุ่นทำแท้ง แก๊งวัยรุ่นซิ่งมอเตอร์ไซค์ เด็กติดเกมออนไลน์ การข่มขืนกระทำชำเราระหว่างเด็กวัยรุ่นด้วยกัน คดีติดยาเสพติดพุ่งสูงขึ้น รวมไปถึงเด็กวัยรุ่นติดเชื้อเอดส์...

อะไรที่ทำให้เด็กวัยรุ่นยุคก่อนและยุคนี้มีความแตกต่างกันมากมาย สิ่งหนึ่งที่จะปฏิเสธไปไม่ได้ก็คือ ความเจริญของบ้านเมือง จากครอบครัวที่ต้องทำมาหากิน มาเป็นเงินคืองานบันดาลสุข แห่งความเป็นวัตถุนิยม บริโภคนิยม อำนาจนิยม เงินนิยม...

ผู้เขียนไม่อาจจะตัดสินได้ว่ายุคสมัยใดถูกผิด อะไรที่ควรปฏิบัติ สิ่งใดไม่ควรปฏิบัติ ในท่ามกลางความสลับซับซ้อนของสังคมสมัยนี้อย่างหลากหลายมิติ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กวัยรุ่นต้องเปลี่ยนไปตามกระแสของเวลาเช่นนั้น...

ปีที่แล้วเด็กวัยรุ่นมีคดีล่วงละเมิดทางเพศ ส่งเข้าสถานพินิจ 43,000 ราย เฉลี่ยแล้ววันละ 120 คน ขณะเดียวกันเด็กวัยรุ่นผู้หญิงอายุต่ำกว่า 19 ปี ต้องทำคลอดถึง 68,385 ราย เฉลี่ยวันละ 180 ราย และสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้คือ เด็กวัยรุ่นมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นคนรักเพศเดียวกันถึง 45 เปอร์เซ็นต์ (มติชนรายวัน 12 มกราคม 2551, หน้า 16)

จากกรณีที่นายนิธิพัฒน์ เกียรติกรชูวงศ์ อายุ 18 ปี นักเรียนชั้น ม. 6
โรงเรียนมัธยมฐานบินกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ได้ใช้ปืนยิงตัวตาย โดยเขียนจดหมายลาตายไว้ว่า “ฝากบอกเพื่อนทุกคนให้ช่วยขยันเรียน ทำตัวให้ดี เรียนให้จบ แต่ผมคงเรียนไม่จบ ขอโทษเพื่อน ๆ ครูอาจารย์ด้วย และขอโทษพ่อแม่ที่ตนเองทำตัวไม่ดี ชาติหน้าจะมาเกิดเป็นลูกของพ่อแม่อีกครั้ง” (ไทยรัฐ 21 มกราคม 2551, หน้า 12)

ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปีก็มีนักศึกษาสาว นางสาวปิยฉัตร หรือเกตุ เกษมสุข อายุ 22 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปีที่ 3 ได้กระโดดตึกฆ่าตัวตาย โดยในสมุดบันทึกส่วนตัวได้เขียนข้อความที่ตัดพ้อต่อว่าน้อยใจในความรักกับผู้ชายคนหนึ่ง “เคยทำตัวไม่ดี คบผู้ชายหลายคน ก็แค่ทดลองคบเท่านั้น เพราะมารักกับผู้ชายคนนี้ ผลสุดท้ายต้องมาผิดหวังกับความรัก...” (ไทยรัฐ 5 มกราคม 2551, หน้า 11)

จะเห็นได้ว่าเด็กวัยรุ่นที่กระทำอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตายนั้นหลาย ๆ คนมาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ดี พ่อแม่บางคนถึงกับร้องไห้และสารภาพว่า ไม่มีเวลาพูดคุยใกล้ชิดกับลูก บ้างก็อ้างว่าหน้าที่การงานของพ่อแม่ต้องทำให้ไม่มีเวลาพบปะกัน ผลที่ตามมาก็คือ ปัญหาที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนจะเกิดขึ้นก็ตามมา...

ในยุคที่ผู้เขียนเป็นเด็กและวัยรุ่น เครื่องโทรทัศน์มีไม่กี่บ้าน คนในชุมชนหมู่บ้านทุกคนแทบจะรู้จักกันเป็นอย่างดี ลูกหลานบ้านไหนทำตัวจะออกนอกลู่นอกทาง ชาวบ้านจะคอยตักเตือนเป็นหูเป็นตา เป็นห่วงเป็นใยเสมือนลูกหลานตนเอง ครูที่โรงเรียนกับบ้านมีสัมพันธภาพที่ดีซึ่งกันและกัน ร้านค้าขายของชำในหมู่บ้านจะไม่ขายบุหรี่ เหล้าให้กับเด็ก ๆ และไม่มีโอกาสแม้กระทั่งจะดูหนังโป๊ หนังเอ๊กซ์...

สมัยก่อนบ้านใครทำกับข้าวต้มยำ ทำแกง แบ่งปันกันกิน วัฒนธรรมข้าวกล่อง แกงถุงยังไม่ระบาดเข้าหมู่บ้าน ทุกวันนี้เด็กวัยรุ่นคนใดต้องการบริโภคอาหารขยะ สามารถสั่งรายการอาหารได้ทางโทรศัพท์มือถือ อีกไม่นานนักก็มีบริการส่งถึงบ้าน ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าชีวิตของเด็กวัยรุ่นมากมาย ปัญหาเรื่องการเรียน ยาเสพติด ติดเกม ติดเน็ต มอเตอร์ไซค์ซิ่ง ซีดีโป๊ หนังเอ๊กซ์ เด็กวัยรุ่นหลายคนมีข้อมูลและระบบการเข้าถึงได้ดีกว่าผู้ใหญ่หลาย ๆ คน...

กาลเวลาผ่านไป ยุคสมัยก็เปลี่ยนไป อะไรทำให้เด็กวัยรุ่นยุคนี้ขาดภูมิคุ้มกันของชีวิตถึงขนาดนี้...

ผู้เขียนเห็นว่า ณ วันนี้บ้านเมืองเรามีปัญหาต่างๆ ที่ต้องถกเถียง หาทางแก้ไขกับปัญหาเยาวชนของชาติในหลายๆ เรื่อง ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเราแต่ละคนก็เคยผ่านชีวิตเหล่านั้นมา ขณะนี้หลายคนมีลูกหลานที่กำลังเป็นเด็กวัยรุ่น ที่อยู่ในภาวะของความเสี่ยงในระดับต่างๆ จะหาผู้ที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยความจริงใจจะมีอยู่ในปัจจุบันและอนาคตหรือไม่...

ผู้รู้หลายคนก็ต่างถกเถียงกันในประเด็นมุมมองต่างๆ บ้างก็ว่า เด็กสมัยนี้ส่วนหนึ่งคลอดด้วยการผ่า แม่ไม่มีน้ำนมเลี้ยงเด็ก พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดู ให้ความรักความเข้าใจกับเด็กๆ ทำให้เด็กๆ ขาดความอบอุ่น ส่วนปู่ย่าตายายหลายคนก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยดูแลหลานๆ ได้ ชีวิตเด็กหลายคนต้องฝากการดูแลไว้กับศูนย์เด็กเล็ก คุณภาพการดูแลในศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศนี้มีมาตรฐานอยู่ในระดับที่ดีหรือไม่...

บ้างก็มองไปที่ระบบการศึกษาแต่ชั้นประถม มัธยม โดยกล่าวว่า เด็กหลายๆ คนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ขาดความรับผิดชอบทั้งตนเองและส่วนรวม เด็กส่วนหนึ่งติดเพื่อน ติดเทคโนโลยีสมัยใหม่ ติดกระแสวัฒนธรรมการพูด การกิน การแต่งกายตามตะวันตก ผลการเรียนวิชาหลักๆ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ต่ำกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา... (มติชนรายวัน 16 มกราคม 2551, หน้า 20)

คนที่เป็นพ่อแม่ของเด็กวัยรุ่นหลายคนในขณะนี้ เลือกโรงเรียน สถานที่เรียน หวังว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับบุตรหลาน บางคนยอมจ่ายไปกับการศึกษาไม่ว่าจะเข้าสถานศึกษาเอกชน ทุ่มทุนทุกอย่างในระหว่างการเรียน อาทิเรียนพิเศษซึ่งเป็นกระแสของเด็กยุคใหม่ที่ไม่มีสิ่งใดมาสกัดกั้นได้ การฝึกฝน ทดลองหรือดูงานในต่างประเทศ ผู้ปกครองหลายคนสนับสนุนอย่างเต็มที่ เราจะเห็นได้ว่าโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งขยายกิจการ สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ ธุรกิจการศึกษาเข้ามาในบ้านเมืองเราอย่างเต็มรูปแบบ...

รัฐบาลที่ผ่านๆ มาได้ผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่า ขณะนี้จำนวนเด็กที่เข้าเรียนระดับประถมศึกษาในต่างจังหวัด บางอำเภอ ตำบลมีจำนวนเด็กลดน้อยลง ขณะเดียวกันปัญหาของครูอาจารย์ในมิติต่างๆ ก็เป็นปัญหาให้สังคมได้รับรู้อยู่เป็นระยะๆ รัฐบาลประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบจริงหรือ...

ผู้ใหญ่บางคนก็โทษว่าสิ่งแวดล้อมบ้านเราทำให้พฤติกรรมเด็กเปลี่ยนแปลงไปมาก รายการโทรทัศน์ที่มีละครน้ำเน่า ตบจูบตี อิจฉาริษยา มีชีวิตที่หรูหราโดยไม่ต้องทำงาน ทำให้เด็กวัยรุ่นหลายคนมีพฤติกรรมยอมรับความเป็นจริงของชีวิตไม่ได้ ร้านอินเทอร์เน็ต ร้านเกม เธคผับ เหล้าปั่นหน้าสถานศึกษามีเกือบทุกจังหวัดของเมืองไทย นักเรียนนักศึกษาบางคนมีพฤติกรรมขายบริการทางเพศ บางโรงเรียนนักเรียนประท้วงผู้อำนวยการ ครูอาจารย์ผู้สอน ซึ่งปรากฏเป็นข่าวมาเป็นระยะๆ บ้างก็ได้แต่บ่นว่า เด็กวัยรุ่นยุคนี้มีสิทธิ เสรีภาพมากเกินไปหรือไม่ ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าบรรยากาศเหล่านี้จะทวีคูณมากขึ้นในอนาคต สิ่งใด ใครที่เป็นผู้กำหนดให้เป็นไปเช่นนั้น ...

บ้างก็โทษว่าบทบาทของศาสนาอ่อนแอ ทั้งกำลังของผู้ที่สอนศาสนาและระบบวิธีการเข้าถึงหลักธรรมในการปฏิบัติเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน...

ผู้เขียนเห็นว่า ในความเป็นจริงขณะนี้ สังคมชาวพุทธในอดีต มีเมตตาธรรมต่อกัน ผิดถูกสามารถให้อภัยกันด้วยเหตุด้วยผล แต่ในปัจจุบันมีหลายอย่างเปลี่ยนไปแม้กระทั่งศาสนบุคคล ซึ่งเป็นตัวจักรกลสำคัญที่จะช่วยผลักดันคุณภาพชีวิตของเด็กวัยรุ่นยุคนี้เปลี่ยนผ่านไปสู่ผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าอย่างมีคุณภาพ...

สังคมชาวพุทธยุคนี้ หลายอย่างวิกฤตที่องค์กรสงฆ์เองจะต้องหันกลับมาทบทวนถึงพุทธประสงค์ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย คือ การทำหน้าที่เพื่อประโยชน์และความสุขของชาวโลก...

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ให้ข้อคิดถึงเด็กวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนไว้ว่า “ถ้าเราไม่ระมัดระวัง คนของเราไม่มีการศึกษาที่พัฒนาให้ถูกจังหวะ ให้ถูกจุด มันจะทำให้คนของเรามีนิสัยแบบเป็นคนลวกๆ ไม่ชอบเผชิญปัญหาและเป็นคนอ่อนแอเปราะบางตลอดจนเป็นคนมักง่าย ชอบหวังลาภลอยจากสิ่งเลื่อนลอย พร้อมกันนั้น สภาพชีวิตมนุษย์มีความสับสนซับซ้อนมากขึ้น พอเจอเข้ามาอย่างนี้ก็จะทำให้คนของเรานี้กลายเป็นคนที่นอกจากไม่สู้ความยากและไม่ชอบแก้ปัญหาแล้วก็จะกลายเป็นคนที่ปล่อยตัวและล้มเหลวได้ง่าย” (มติชนรายวัน 18 มกราคม 2551,หน้า 7)

ผู้เขียนได้แต่หวังว่า บ้านเมืองเราผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชนได้ลงมติให้นักการเมืองเข้าไปทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองในการแก้วิกฤตของบ้านเมืองรวมทั้งวิกฤตของเด็กวัยรุ่นด้วย เวลาและโอกาสของนักการเมืองมาถึงแล้วจะนำช่วงจังหวะนี้ นำสถานการณ์ที่วิกฤตนี้มาเป็นโอกาสหรือไม่...

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ให้ข้อคิดสำหรับชีวิตที่สำคัญไว้ว่า “มนุษย์พากันไปติดสมมติเกี่ยวกับมนุษย์ เช่น สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา ลัทธินิกาย คนมี คนจน คนชั้นต่ำ คนมีการศึกษาสูง คนมีการศึกษาต่ำ มีปริญญาหรือไม่มีปริญญา ปริญญาอะไร นักเรียนในหรือนักเรียนนอก จบจากมหาวิทยาลัยไหน อยู่กระทรวงอะไร สังกัดอะไร เป็นพวกหรือไม่ใช่พวก ฯลฯ

แล้วก็มีอคติไปตามมุมมองและวิธีคิด แล้วเกิดปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่

ความจริงที่ปราศจากสมมติคือ เขาเป็นคน

เขามีศักดิ์ศรีและสิทธิแห่งความเป็นคน มีศักยภาพแห่งความสร้างสรรค์

ยิ่งกว่านั้นเขาเป็นเพื่อนมนุษย์ ผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเรา

การศึกษาจะต้องทำให้คนทั้งหมดมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ มีความมั่นใจ เป็นพลังอันเข้มแข็งของชาติ”

เด็กวัยรุ่นทุกคนประดุจดังหินผา ผ้าขาวที่รอสิ่งต่างๆ ของสังคมเข้ามาเพื่อเจียระไนเติมแต่งดังเพชรเม็ดงามและผืนผ้าที่สวยสะดุดตาทั้งปัจจุบันและอนาคต ใครเป็นผู้ลิขิตชีวิตเขาเหล่านั้น...
กำลังโหลดความคิดเห็น