xs
xsm
sm
md
lg

จารุวรรณจี้พลังงานแจงเงื่อนงำ ต่อสัญญาปิโตรเลียมล่วงหน้า5ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"จารุวรรณ" งงกระทรวงพลังงาน ต่ออายุสัมปทาน บ.ผลิตปิโตรเคมี ล่วงหน้า 5 ปี ก่อนหมดอายุสัญญา ร่อนหนังสือด่วนมากให้ชี้แจงรายละเอียดภายใน 18 ก.พ. หวั่นทำรัฐเสียหาย

รายงานข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าฯสตง.ได้ลงนามในหนังสือด่วนมาก ถึง รมว.พลังงาน เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง กรณีการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม ของสัญญาสัมปทานล่วงหน้าก่อนหมดอายุสัญญาถึง 5 ปี

หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่กระทรวงพลังงาน ได้ต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม ตามสัมปทานเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.55 ถึง 23 เม.ย.65 โดยเป็นการต่อสัญญาล่วงหน้าก่อนที่สัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลงถึง 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 23 เม.ย. 55 ทั้งที่ สัญญาฉบับเดิมได้กำหนดว่า ถ้าผู้รับสัมปทานประสงค์ จะขอต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม ให้ยื่นคำขอก่อนสิ้นระยะเวลาการผลิตไม่น้อยกว่า 6 เดือน ดังนั้นการยื่นคำขอต่ออายุก่อนหมดระยะเวลาถึง 5 ปี อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบสัญญา และการต่ออายุระยะเวลาสัมปทาน สตง. จึงขอให้กระทรวงพลังงาน ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ สตง. ทราบโดยเร็วภายในวันที่ 18 ก.พ.51

ทั้งนี้ สิ่งที่ สตง.ต้องการให้ชี้แจง คือ เหตุผลและความจำเป็นในการขอ และอนุมัติต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม ล่วงหน้าถึง 5 ปี การต่ออายุดังกล่าว มีหลักเกณฑ์ กฎหมาย หรือ มติครม. กำหนดไว้อย่างไร และที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน เคยทำการต่อระยะเวลาล่วงหน้าก่อนสัญญาเดิมจะสิ้นสุดลงเป็นเวลาเท่าใด และมีสัญญาใดบ้าง พร้อมทั้งให้ชี้แจงความแตกต่างการต่อสัญญาล่วงหน้า ก่อน 6 เดือน ก่อน 1 ปี ก่อน 3 ปี และ ก่อน 5 ปี มีเหตุผลความจำเป็น มีความเหมาะสม รวมถึงมีประโยชน์สูงสุดอย่างไรบ้าง ที่สำคัญการต่อสัมปทานดังกล่าว มีหลักเกณฑ์การคำนวณ โบนัสการลงนาม และ ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิตอย่างไร เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และมติ ครม.ฉบับใด

รายงานข่าว แจ้งอีกว่า สตง. ยังต้องการทราบการเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ในการพิจารณาต่อหรือไม่ต่อระยะเวลาของอายุสัมปทาน รวมถึงสัมปทานเดิมมีหลักเกณฑ์การคำนวณ ผลประโยชน์พิเศษ การตรวจสอบ และควบคุมปริมาณการผลิตตามข้อกำหนดในการจ่ายโบนัสการผลิตให้แก่รัฐบาลไทยอย่างไร และในข้อตกลงสัมปทานเดิม และการต่อระยะใหม่ มีการกำหนดผลประโยชน์พิเศษ โบนัสการผลิต โบนัสการลงนาม ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต รวมทั้งค่าภาคหลวงของกระทรวงพลังงาน มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเทียบเคียงกับประเทศใด ในแถบเอเชีย ที่สำคัญการคำนวณค่าตอบแทนข้างต้น ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณหรือไม่

ในหนังสือดังกล่าวได้ข้อสังเกต เรื่องสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีการกำหนดการสิ้นอายุสัมปทานว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบให้รัฐบาลไทยโดยไม่คิดมูลค่าส่วนทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ ผู้รับสัมปทานต้องรื้อถอนตามที่ ครม.สั่งให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่สั่ง โดย สตง.ต้องการทราบว่า เป็นเพราะเหตุใด กระทรวงพลังงาน จึงไม่พิจารณาดำเนินการผลิตปิโตรเลียมเอง หากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง แต่กลับมีการต่ออายุล่วงหน้าถึง 5 ปี และเหตุใด กระทรวงพลังงานเลือกต่ออายุ แทนที่จะมีการวางแผน และเตรียมการดำเนินการเองในอีก 5 ปีข้างหน้า

รายงานข่าว ระบุว่า สตง. ยังได้ตั้งข้อสังเกต กรณีการเสนอเรื่องการต่อระยะเวลาการผลิตตามสัญญา ซึ่งเคยเสนอ ครม. มาแล้ว แต่ถูกถอนเรื่องคืนจาก ครม.เมื่อวันที่ 21 ส.ค.50 แต่หลังจากนั้นไม่นานได้มีเสนอเสนอเข้าครม.อีกครั้ง จนได้รับการอนุมัติจากขยายเวลาเป็น 10 ปี เมื่อวันที่ 16 ต.ค.50 จึงต้องการให้กระทรวงพลังงาน ชี้แจงเหตุผลเรื่องนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสัญญาการต่ออายุดังกล่าว กระทรวงพลังงาน ได้ออกให้กับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจ และผลิต จำกัด และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 29 ต.ค.50 ที่ผ่านมา โดยผู้สัมปทานจ่ายโบนัสการลงนาม 11,654,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับกระทรวงพลังงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันลงนามเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต จำนวน 349,608,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่กระทรวงพลังงาน เพื่อนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยแบ่งชำระเป็นรายรอบ ระยะเวลาสามเดือนปฏิทิน คราวละเท่าๆ กัน จำนวน 40 งวด โดยงวดแรกชำระในวันที่ 1 ก.ค. 55 และงวดสุดท้ายวันที่ 1 เม.ย. 65
กำลังโหลดความคิดเห็น