xs
xsm
sm
md
lg

“จารุวรรณ” แฉกลิ่นตุ ก.พลังงาน ต่อสัมปทานปิโตรฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สตง.” ขอคำชี้แจงกระทรวงพลังงาน ต่ออายุสัมปทาน บ.ผลิตปิโตรเคมี ล่วงหน้า 5 ปี ก่อนหมดอายุสัญญา ร่อนหนังสือด่วนมาก จี้แจงรายละเอียดภายใน 18 ก.พ.หวั่นทำรัฐเสียหายกว่า 300 ล้านดอลลาร์

วันนี้ (10 ก.พ.) มีรายงานข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง.ได้ลงนามในหนังสือด่วนมาก ถึงรมว.พลังงาน เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง กรณีการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมของสัญญาสัมปทานล่วงหน้าก่อนหมดอายุสัญญาถึง 5 ปี

หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่ กระทรวงพลังงาน ได้ต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียมตามสัมปทานเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.2555 ถึง 23 เม.ย.2565 โดยเป็นการต่อสัญญาล่วงหน้าก่อนที่สัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลงถึง 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 23 เม.ย.2555 ทั้งที่สัญญาฉบับเดิมได้กำหนด ว่า ถ้าผู้รับสัมปทานประสงค์จะขอต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม ให้ยื่นคำขอก่อนสิ้นระยะเวลาการผลิตไม่น้อยกว่า 6 เดือน ดังนั้น การยื่นคำขอต่ออายุก่อนหมดระยะเวลาถึง 5 ปี อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบสัญญาและการต่ออายุระยะเวลาสัมปทาน สตง.จึงขอให้กระทรวงพลังงานชี้แจงข้อเท็จจริงให้ สตง.ทราบโดยเร็วภายในวันที่ 18 ก.พ.2551

ทั้งนี้ สิ่งที่ สตง.ต้องการให้ชี้แจงเป็นการเร่งด่วน คือ เหตุผลและความจำเป็นในการขอและอนุมัติต่อระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม ล่วงหน้าถึง 5 ปี การต่ออายุดังกล่าวมีหลักเกณฑ์ กฎหมาย หรือมติคณะรัฐมนตรี กำหนดไว้อย่างไร และที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานเคยทำการต่อระยะเวลาล่วงหน้าก่อนสัญญาเดิมจะสิ้นสุดลงเป็นเวลาเท่าใด และมีสัญญาใดบ้าง พร้อมทั้งให้ชี้แจงความแตกต่างการต่อสัญญาล่วงหน้า ก่อน 6 เดือน ก่อน 1 ปี ก่อน 3 ปี และ ก่อน 5 ปี มีเหตุผลความจำเป็น มีความเหมาะสม รวมถึงมีประโยชน์สูงสุดอย่างไรบ้าง ที่สำคัญ การต่อสัมปทานดังกล่าว มีหลักเกณฑ์การคำนวณโบนัส การลงนาม และค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต อย่างไร เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และมติ ครม.ฉบับใด

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สตง.ยังต้องการทราบการเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ในการพิจารณาต่อหรือไม่ต่อระยะเวลาของอายุสัมปทาน รวมถึงสัมปทานเดิมมีหลักเกณฑ์การคำนวณ ผลประโยชน์พิเศษ การตรวจสอบและควบคุมปริมาณการผลิตตามข้อกำหนดในการจ่ายโบนัสการผลิตให้แก่รัฐบาลไทยอย่างไร และในข้อตกลงสัมปทานเดิมและการต่อระยะใหม่ มีการกำหนดผลประโยชน์พิเศษ โบนัสการผลิต โบนัสการลงนาม ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต รวมทั้งค่าภาคหลวงของกระทรวงพลังงาน มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเทียบเคียงกับประเทศใด ในแถบเอเชีย ที่สำคัญ การคำนวณค่าตอบแทนข้างต้น ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีการคำนวณหรือไม่

ในหนังสือดังกล่าวได้ข้อสังเกต เรื่องสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีการกำหนดการสิ้นอายุสัมปทานว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบ ให้รัฐบาลไทยโดยไม่คิดมูลค่าส่วนทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ ผู้รับสัมปทานต้องรื้อถอนตามที่ ครม.สั่งให้เสร็จสิ้นภายในสามเดือนนับตั้งแต่วันที่สั่ง โดย สตง.ต้องการทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด กระทรวงพลังงาน จึงไม่พิจารณาดำเนินการผลิตปิโตรเลียมเอง หากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง แต่กลับมีการต่ออายุล่วงหน้าถึง 5 ปี และเหตุใด กระทรวงพลังงานเลือกต่ออายุ แทนที่จะมีการวางแผนและเตรียมการดำเนินการเองในอีก 5 ปีข้างหน้า

รายงานข่าวระบุว่า สตง.ยังได้ตั้งข้อสังเกตกรณีการเสนอเรื่องการต่อระยะเวลาการผลิตตามสัญญา ซึ่งเคยเสนอ ครม.มาแล้ว แต่ถูกถอนเรื่องคืนจาก ครม.เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2550 แต่หลังจากนั้น ไม่นานได้มีเสนอเสนอเข้าครม.อีกครั้งจนได้รับการอนุมัติจากขยายเวลาเป็น 10 ปี เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2550 จึงต้องการให้กระทรวงพลังงานชี้แจงเหตุผลเรื่องนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสัญญาการต่ออายุดังกล่าว กระทรวงพลังงาน ได้ออกให้กับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2550 ที่ผ่านมา โดยผู้สัมปทานจ่ายโบนัสการลงนาม 11,654,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับกระทรวงพลังงานภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันลงนามเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาการผลิต จำนวน 349,608,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่กระทรวงพลังงานเพื่อนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน โดยแบ่งชำระเป็นรายรอบ ระยะเวลาสามเดือนประดิทิน คราวละเท่าๆ กัน จำนวน 40 งวด โดยงวดแรกชำระในวันที่ 1 ก.ค.2555 และงวดสุดท้ายวันที่ 1 เม.ย.2565
กำลังโหลดความคิดเห็น