xs
xsm
sm
md
lg

จาก ‘สภาฯ ผัว-เมีย’ ถึง ‘ครม.ผัว-เมีย’

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ผมนั่งลงเขียนบทความชิ้นนี้ตอนบ่ายสองโมงกว่าๆ ของวันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 หลังจากที่เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์เปิดเผยโผคณะรัฐมนตรีชุด ‘สมัคร 1’ ออกมาก่อนที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรับพระราชทานประกาศพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีและถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในช่วงเย็นวานนี้ (6 ก.พ.)

เพราะฉะนั้น หากรายละเอียดของชื่อ-ตำแหน่งรัฐมนตรีในบทความชิ้นนี้ไม่ตรงกันกับที่มีการประกาศพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีอย่างไร ผมก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

กระนั้น ผมก็ยังคงเชื่อแน่ว่า แม้รายชื่อหรือรายละเอียดของตำแหน่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่โดยเนื้อแท้และสารัตถะของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ก็คงไม่ผิดไปจากคำจำกัดความที่ว่าคณะผู้บริหารประเทศไทยชุดนี้คือ ครม.ผัว-เมีย หรือที่ผมขอเรียกในชื่ออย่างเป็นทางการว่า คณะรัฐมนตรี ผัว-เมีย, พ่อ-ลูก, พี่-น้อง, นาย-บ่าว และเครือญาติ

เพราะเมื่อกวาดตาไปยังรายชื่อทั้ง 35-36 รายชื่อ เราก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้วประเทศไทยของเรากำลังจะมีผู้บริหารประเทศที่ “เป็นตัวของตัวเอง” ไม่กี่คนเท่านั้น ขณะที่ส่วนใหญ่นั้นล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของใครสักคน อย่างเช่น ตัวแทนของสามี พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ ภรรยานายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นางอุไรวรรณ เทียนทอง ภรรยานายเสนาะ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ภรรรยานายไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ภรรยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนของลูก นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดา นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า นายชัย ชิดชอบ วัย 79 ปี บิดานายเนวิน ชิดชอบ ก็เกือบได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมานายเนวินกลับเปลี่ยนใจพลิกจากสูตร ‘พ่อ-ลูก’ ไปเป็น ‘นาย-บ่าว’ แทน ด้วยการส่ง นายทรงศักดิ์ ทองศรี และ นายธีระชัย แสนแก้ว มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรแทน

ตัวแทนของพี่ชาย นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง น้องชายนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตัวแทนของพี่เขย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ขณะที่สัดส่วนรัฐมนตรีที่เยอะที่สุดน่าจะเป็นสัดส่วน ตัวแทนของนาย ที่กินความตั้งแต่ตัว นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอง เรื่อยไปจน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฯลฯ

แท้จริงแล้ว สิ่งที่พวกเราประชาชนชาวไทยต้องเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง แต่ ครม.ผัว-เมีย อัน ‘อัปลักษณ์’ (ไม่ใช่เพียงแค่ ‘ขี้เหร่’) นี้นั้นเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจาก ‘ระบอบทักษิณ’ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นระบอบที่นิยมชมชอบการบริหารใน ระบบนอมินี

ในสมัยแรกของการบริหารประเทศโดยการนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทย การบริหารงานในระบบนอมินีที่ถูกดัดแปลงมาจากรูปแบบการบริหารธุรกิจนั้นไม่มีความเด่นชัดนัก เนื่องจากตอนนั้นถือว่าเป็นยุคบุกเบิกงานด้านการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวกที่เจ้าตัวจำเป็นต้องกระโดดลงสนามมาเล่นเองเพื่อความคล่องตัวและคล่องคอ อย่างไรก็ตามภาพของความเป็นนอมินีทางการเมืองเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆใน “สภาสูง” หรือ วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวาระยาวนานถึง 6 ปี (พ.ศ.2543-2549)

ทั้งนี้เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งตรงของประชาชน รัฐธรรมนูญจึงมอบอำนาจให้กับสมาชิกวุฒิสภาอย่างมากมาย ทั้งแต่งตั้งองค์กรอิสระ ตรวจสอบ ถอดถอน เสนอกฎหมาย รวมถึงคัดคานอำนาจของฝ่ายบริหารและสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเหตุการณ์แทรกแซงวุฒิสภาอย่างเข้มข้นในเวลาต่อมา

ทำให้ในระยะเวลา 6 ปีของสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ตำแหน่งประธานวุฒิสภาจึงต้องมีการสับเปลี่ยนกันถึง 3 ครั้ง คือ คนแรก นายสนิท วรปัญญา (พ.ศ. 2543-พ.ศ. 2545) คนที่สอง พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร (พ.ศ.2545-2547) และ คนสุดท้าย นายสุชน ชาลีเครือ (พ.ศ.2547-หมดวาระ) ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าประธานวุฒิสภาคนสุดท้ายที่ชื่อสุชน ชาลีเครือนั้น แท้จริงแล้วก็คือ เครือญาติของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ใช้นามสกุลเดิมว่าดามาพงษ์นั่นเอง!

ในช่วงปี 2548-2549 นายสุชนซึ่งดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ญาติของคุณหญิงพจมานผู้นี้ถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการปกป้องญาติห่างๆ ของเขาอย่างไม่คิดชีวิต เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็น “ขาลง” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลพรรคไทยรักไทยอย่างแท้จริง โดยนายสุชนในฐานะประธานวุฒิสภามีบทบาทอันฉาวโฉ่จากกรณีการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย

เมื่อ ‘ระบอบทักษิณ’ ประจักษ์ชัดในอำนาจในการคัดค้านและตรวจสอบอย่างล้นเหลือของวุฒิสภา ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาสมัยที่สองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2549 ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีและพลพรรคของเขายังคงกุมอำนาจในการบริหารประเทศอยู่ ภาพของ “สภาฯ ผัว-เมีย สภาฯ เครือญาติ” จึงปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นเป็นครั้งแรก กล่าวคือ สมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต่างเป็นคนกลุ่มก้อนเดียวกัน แม้สมาชิกวุฒิสภาจะไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองแต่ก็มีความเกี่ยวดองกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในหลายๆ สถานะไม่ว่าจะเป็น สามี-ภรรยา, พี่-น้อง, พ่อ-ลูก, แม่-ลูก, อา-หลาน ฯลฯ

ณ เวลานั้น การที่พลพรรคของระบอบทักษิณ สามารถเดินพาเหรดเข้ามายึดสภาสูงได้อย่างเบ็ดเสร็จ ยิ่งทำให้ภาพของ “สภาฯ ผัว-เมีย” นั้นเด่นชัดยิ่งขึ้น และ ปัจจัยนี้เองถือเป็นตัวกระตุ้นสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สภาวะทางการเมืองของประเทศไทยในขณะนั้นเข้าสู่ทางตันอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดผลักดันให้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549

กลับมายังปัจจุบัน ...

เมื่อมองการเมืองด้วยสายตาที่เปรียบเทียบ หากจะกล่าวว่าการอุบัติขึ้นอย่างเป็นทางการของ ‘สภาฯ ผัว-เมีย’ ในปี 2549 นั้นถือว่าเป็นความวิปริตและอัปลักษณ์ของการเมืองไทยแล้ว ทั้งความวิปริตและอัปลักษณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้ระบบการเมืองไทยเดินเข้าสู่ทางตันภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน ดังนั้นคงจะไม่เป็นเรื่องที่เกินเลยไปนัก หากจะกล่าวว่า ‘ครม.ผัว-เมีย’ ใน พ.ศ.นี้ ที่ถือว่า วิปริต อัปลักษณ์และส่งผลกระทบในวงกว้างยิ่งกว่าก็น่าที่จะผลักให้การเมืองไทยเดินเข้าสู่ทางตันในระยะเวลาที่สั้นเช่นเดียวกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น