ศูนย์ข่าวเชียงใหม่– เชียงใหม่เดินหน้าป้องกันปัญหาหมอกควัน หวั่นเกิดเหตุซ้ำปี 50 ขอความร่วมมือประชาชนงดการเผาที่โล่งทุกชนิด ระหว่าง ก.พ.-มี.ค. พร้อมตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุระงับการเผาตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งเป้าไม่ให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานแม้แต่วันเดียว ทั้งนี้ยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาได้หากทุกฝ่ายไม่ร่วมป้องกันปัญหาจริงจังและมีการลักลอบเผา
นายสัญญา ทุมตะขบ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าจากการที่ปี 2551 จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศให้ปัญหาหมอกควันเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ขณะนี้ จังหวัดได้มีการกำหนดกรอบการดำเนินงาน โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เสร็จ และมีการนำเสนอต่อนายอำเภอทั้ง 24 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติแล้วในการที่จะลดการเผาทุกชนิดลงให้ได้
ปีนี้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ให้มีวันใดที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แม้แต่วันเดียว และลดจำนวนผู้ป่วยจากผลกระทบหมอกควันที่ต้องเข้ารับการรักษาลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาถึงประมาณ 9,000 คน
สำหรับสถานการณ์หมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ในปีนี้ถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากล่าสุดที่มีฝนหลงฤดูตกลงมาในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ในการเฝ้าระวังป้องกันปัญหาอย่างจริงจัง
"อยากขอความร่วมมือจากประชาชน ให้งดการเผาทุกชนิดและการเผาเศษกิ่งไม้ใบไม้ ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการขอความร่วมมือผ่านไปทางผู้ใหญ่บ้านทุกแห่งให้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ผ่านทางเสียงตามสาย"นายสัญญากล่าวและว่า
ในส่วนของกิ่งไม้ใบไม้ ขอให้กองเก็บไว้ก่อน ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาเพราะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ หากจำเป็นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมารับไปกำจัดด้วยการทำเป็นปุ๋ยหมัก
นอกจากนี้ นายสัญญา กล่าวอีกว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการตั้งสายด่วนรับแจ้งเหตุหากพบการเผาทุกชนิดที่หมายเลขโทรศัพท์ 053-409345 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเมื่อได้รับแจ้งเหตุแล้ว จะประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ได้รับแจ้งเหตุให้เข้าดำเนินการระงับเหตุทันที โดยในการรับแจ้งเหตุแต่ละครั้งจะพยายามใช้เวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาระงับเหตุให้แล้วเสร็จภายใน 30 นาที
ทั้งนี้ ในพื้นที่แต่ละอำเภอ ก็จะมอบหมายให้นายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบดูแลในระดับพื้นที่โดยตรง ซึ่งนอกจากการเข้าไประงับเหตุแล้วยังจะมีการสืบหาผู้ที่เผาด้วย เพื่อตักเตือนทำความเข้าใจและหากพบมีการก่อเหตุซ้ำ ก็อาจจะมีความจำเป็นต้องนำมาตรการทางกฎหมายมาลงโทษ ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการนี้จะช่วยป้องกันการเกิดปัญหาได้ดีในระดับหนึ่ง
นายสัญญา ทุมตะขบ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าจากการที่ปี 2551 จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศให้ปัญหาหมอกควันเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ขณะนี้ จังหวัดได้มีการกำหนดกรอบการดำเนินงาน โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เสร็จ และมีการนำเสนอต่อนายอำเภอทั้ง 24 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติแล้วในการที่จะลดการเผาทุกชนิดลงให้ได้
ปีนี้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ให้มีวันใดที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แม้แต่วันเดียว และลดจำนวนผู้ป่วยจากผลกระทบหมอกควันที่ต้องเข้ารับการรักษาลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 ซึ่งเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาถึงประมาณ 9,000 คน
สำหรับสถานการณ์หมอกควันของจังหวัดเชียงใหม่ ในปีนี้ถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากล่าสุดที่มีฝนหลงฤดูตกลงมาในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน ในการเฝ้าระวังป้องกันปัญหาอย่างจริงจัง
"อยากขอความร่วมมือจากประชาชน ให้งดการเผาทุกชนิดและการเผาเศษกิ่งไม้ใบไม้ ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการขอความร่วมมือผ่านไปทางผู้ใหญ่บ้านทุกแห่งให้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ผ่านทางเสียงตามสาย"นายสัญญากล่าวและว่า
ในส่วนของกิ่งไม้ใบไม้ ขอให้กองเก็บไว้ก่อน ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาเพราะเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ หากจำเป็นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมารับไปกำจัดด้วยการทำเป็นปุ๋ยหมัก
นอกจากนี้ นายสัญญา กล่าวอีกว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการตั้งสายด่วนรับแจ้งเหตุหากพบการเผาทุกชนิดที่หมายเลขโทรศัพท์ 053-409345 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเมื่อได้รับแจ้งเหตุแล้ว จะประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ได้รับแจ้งเหตุให้เข้าดำเนินการระงับเหตุทันที โดยในการรับแจ้งเหตุแต่ละครั้งจะพยายามใช้เวลาในการดำเนินการแก้ไขปัญหาระงับเหตุให้แล้วเสร็จภายใน 30 นาที
ทั้งนี้ ในพื้นที่แต่ละอำเภอ ก็จะมอบหมายให้นายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบดูแลในระดับพื้นที่โดยตรง ซึ่งนอกจากการเข้าไประงับเหตุแล้วยังจะมีการสืบหาผู้ที่เผาด้วย เพื่อตักเตือนทำความเข้าใจและหากพบมีการก่อเหตุซ้ำ ก็อาจจะมีความจำเป็นต้องนำมาตรการทางกฎหมายมาลงโทษ ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการนี้จะช่วยป้องกันการเกิดปัญหาได้ดีในระดับหนึ่ง