xs
xsm
sm
md
lg

นายสมัคร สุนทรเวชขาดคุณสมบัติหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมพูดถึงเรื่องหน้าบางหน้าด้าน และเรื่องมาตรฐานของศาลยังไม่ทันจบ ก็มีผู้เปิดประเด็นข้างเคียงขึ้นมา นั่นก็คือ เรื่องคุณสมบัติของ(ผู้ที่จะมาเป็น)นายกรัฐมนตรี

พูดกันมากว่าใช่แต่ประเทศตะวันตกเท่านั้น จรรยาบรรณและมาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมผู้นำการเมืองเอเชีย คือ ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน สูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ของไทยต่ำลงๆ

เครื่องชี้วัดตัวหนึ่งก็คือการลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น มัวแต่ไปตีกอล์ฟมาไม่ทันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ลูกน้องไปคบกับคนโกง และผมเพิ่งเขียนถึงปีเตอร์ เฮน ผู้นำอาวุโสพรรคแรงงานอังกฤษ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ เพราะความบกพร่องลืมรายงานเงินที่ได้รับบริจาคช่วยหาเสียง พอ กกต.แจ้งว่าจะส่งเรื่องให้ตำรวจสอบสวนเท่านั้นเขาก็ลาออกทันที อย่างนี้เขาเรียกว่ามาตรฐานแพรเยื่อไม้ มิใช่มาตรฐานกระเบื้องตราช้างของปูนซิเมนต์ไทย

ผู้นำการเมืองไทยถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ในระหว่างอุทธรณ์ ถูกฟ้องร้องกล่าวหาว่าทุจริตกำลังเตรียมตัวขึ้นศาล ไม่ยักหน้าบางเหมือนเขา ที่ “ยกเอาประโยชน์ของประเทศชาติเหนือประโยชน์ส่วนตัว” ไม่อยากให้ชื่อเสียงประเทศหม่นหมองเป็นที่ดูแคลนของนานาชาติ

ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะพาประเทศไปตาย เพราะมาตรฐานของผู้ร่าง ผู้นำมาใช้ และผู้ตีความนั้นต่ำมาก ความรู้และประสบการณ์ไม่ถึง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีช่องว่างและปัญหามากมาย ผู้นำการเมืองจะใช้มาตรฐานกระเบื้องตราช้างตีความเข้าข้างตัวเอง

มีประเด็นว่า นายสมัคร สุนทรเวช มีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่

การตีความรัฐธรรมนูญมีหลักโดยย่อดังนี้

1.ตีความตามตัวอักษร กล่าวคือ เขียนไว้ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น ถ้าหากจะมีข้อยกเว้น ข้อยกเว้นก็ต้องเขียนให้ชัดไว้เป็นตัวอักษรเช่นเดียวกัน ในกรณีที่ตัวอักษรคลุมเครือ มีข้อความที่แปลได้หลายอย่าง หรือมีการขัดกันเองในเนื้อหา ในอรรถะพยัญชนะ ต่างวรรคต่างประโยค ก็ให้ใช้หลักที่ 2 เป็นตัวเสริม คือ

2. ตีความตามเจตนารมณ์ ด้วยการวิเคราะห์ว่าที่เขียนไว้ หรือไม่เขียนไว้ในเรื่องนั้นๆ ผู้ร่างมีเจตนาอย่างไร ถ้าหากผู้ร่างยังมีชีวิตอยู่ก็สามารถสอบถามได้ หรือไม่ก็ศึกษาวิเคราะห์จากบันทึกคำพูด ข้อเขียนหรือบทความของผู้ร่างหรือคณะผู้ร่างได้ ถ้าหากมีบันทึกเสียงหรือรายงานการประชุมระหว่างการร่างก็อาศัยบันทึกรายงานเป็นเครื่องยืนยันว่าผู้ร่างมีเจตนาอย่างไร ถ้าหากหลักที่ 2 ไม่สามารถใช้ได้ก็ให้ใช้หลักต่อไป

3.ตีความตามจารีตประเพณีและหลักรัฐธรรมนูญ ด้วยการตรวจสอบว่าเรื่องใดมีการปฏิบัติเป็นแบบอย่างตามธรรมเนียมประเพณีในอดีตมาอย่างไร ก็ให้หรืออาจตีความไปตามนั้น และอาจหรือต้องยึดถือหลักความเป็นประชาธิปไตยและลัทธิธรรมนูญ ประกอบด้วย เช่น หลักการแยกอำนาจ หลักสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามกฎหมาย (Equal Protection of Laws) เป็นต้น

4.ตีความตามความเห็นหรือคำพิพากษาของศาล หลักทั้ง3 ข้างต้นนี้เป็นหลักสำคัญที่จะต้องยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการตีความรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลสูงของสหรัฐเอเมริกา ได้มีคำพิพากษาเรื่องการขัดกับหลักรัฐธรรมนูญต่างๆเป็นบรรทัดฐานโดยใช้หลักที่ 3 ไว้มาก ศาลในประเทศอื่นๆ ทั้งที่เป็นระบบศาลเดี่ยวหรือศาลรัฐธรรมนูญในระบบหลายศาลมักจะใช้หลักที่ 1 และ 2 มากกว่า

5.ตีความตามความเห็นและมติของสภาผู้แทนราษฎร มีหลายกรณีในบางประเทศที่การขัดกันแห่งกฎหมายและการขัดกับรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของสภาผู้แทนที่จะตีความได้เพราะผู้แทนเป็นผู้ออกกฎหมาย แต่ก็มักจะมีข้อแย้งในทฤษฎีแยกอำนาจว่า สภาเป็นผู้ออก รัฐบาลเป็นผู้ใช้ ศาลเป็นผู้ตีความกฎหมาย จึงจะถูก

จะต้องถามกันว่าในประเทศไทยมีเพิ่มหลักที่ 6 คือตีความตามใจผู้มีอำนาจและมีเงินใช่หรือไม่

กรณีนายสมัครสุนทรเวชจะตีความอย่างไร (เฉพาะเรื่องคุณสมบัติ ไม่รวมเรื่องติดคุกหรือถูกฟ้อง ซึ่งนายสมัคร ลูกเมียและพวกพ้องบริวาร พรรคและนายเหนือหัวจะต้องใช้หลักจรรยาบรรณ จริยธรรมและผลประโยชน์ของชาติตัดสินกันเอง) ขอเชิญท่านผู้อ่านลองตีความกันดูตามหลักและอัธยาศัยดังนี้

1. หากใช้หลักที่ 1 คือการตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด ก็ต้องใช้มาตรา 174 เป็นหลักดังนี้

หมวด ๙ คณะรัฐมนตรี มาตรา ๑๗๔ รัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์

(๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(๔) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๒ (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๑) (๑๒) (๑๓) หรือ (๑๔)

(๕) ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๖) ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปีนับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

ข้อนี้แน่นอนว่านายสมัครขาดคุณสมบัติ

2. หลักที่ 1 และมาตรา 174 มีข้อยกเว้นหรือไม่ การตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัดมีข้อยกเว้นได้ แต่จะต้องบัญญัติไว้เป็นตัวอักษรให้ชัดแจ้ง ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบัญญัติข้อยกเว้นมาตรา 174 อยู่ 1 แห่งคือ

บทเฉพาะกาล มาตรา ๒๙๘ ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้คงเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเมื่อคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้เข้ารับหน้าที่ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๔๙ พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะพร้อมกับคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ด้วย

มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง มาตรา ๑๗๒ มาตรา ๑๗๔ และมาตรา ๑๘๒ (๔) (๗) และ (๘) มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

3. หากยังใช้หลักที่ 1 แต่ไม่ต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัดได้หรือไม่ หรือสามารถใช้ข้อยกเว้นอื่นหรือข้อความที่เทียบเคียงกันแต่ไม่เหมือนกัน 100 % ได้หรือไม่
ตอบว่า ได้ แต่ต้องใช้หลักอื่นใน 2 หรือ 3 คือเจตนารมณ์และหลักรัฐธรรมนูญมาใช้ร่วมเป็นการสนับสนุนด้วย บทบัญญัติที่เทียบเคียงกับมาตรา 174 ได้ แต่อยู่คนละหมวด (ว่าด้วยคนละเรื่อง) คือ หมวด ๖ ส่วนที่ ๓ วุฒิสภา มาตรา ๑๑๖ สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นรัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นและหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มิได้

บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปีจะเป็นรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิได้

ถามว่า มาตรา ๑๑๖ มีข้อยกเว้นหรือไม่ และถ้ามีเป็นข้อยกเว้นที่นำไปอนุโลมใช้ยกเว้นมาตรา 174 ได้หรือไม่ ก่อนตอบ ขอให้อ่านข้อยกเว้นคือมาตรา 296 และมาตรา 305 ก่อน

บทเฉพาะกาล มาตรา ๒๙๖ ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวัน และดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน ทั้งนี้ นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๕ มีผลใช้บังคับในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปครั้งแรกภายหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง ส่วนระยะเวลาตามมาตรา ๑๐๑ (๔) (ก) ให้ใช้กำหนดเป็นเวลาหนึ่งปี และระยะเวลาตามมาตรา ๑๐๑ (๔) (ค) และ (ง) ให้ใช้กำหนดเป็นสองปีในวาระเริ่มแรก ห้ามมิให้ผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งจะมีการได้มาเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ และมิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๑๕ (๙) และมาตรา ๑๑๖ วรรคสอง มาใช้บังคับกับผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับเลือกตั้งครั้งหลังสุดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐

บทเฉพาะกาล มาตรา ๓๐๕ ในวาระเริ่มแรก มิให้นำบทบัญญัติดังต่อไปนี้มาใช้บังคับกับกรณีต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

(๑) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๗ วรรคสอง มาใช้บังคับจนกว่าจะมีการตรากฎหมาย ตามมาตรา ๔๗ จัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยอย่างน้อยกฎหมายดังกล่าวต้องมีสาระสำคัญให้มีคณะกรรมการเฉพาะด้าน เป็นหน่วยย่อยภายในองค์กรนั้น แยกต่างหากจากกัน ทำหน้าที่กำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม และมีรายละเอียด ว่าด้วยการกำกับและคุ้มครองการดำเนินกิจการ การจัดให้มีกองทุนพัฒนาทรัพยากรสื่อสารและส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ได้กระทำขึ้นก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้จนกว่าการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้นจะสิ้นผล

(๒) ภายใต้บังคับมาตรา ๒๙๖ วรรคสาม มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐๒ (๑๐)เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา มาตรา ๑๑๕ (๙) และมาตรา ๑๑๖ วรรคสอง มาใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้

(๓) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๑ มาใช้บังคับกับการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๕

(๔) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๗ วรรคหนึ่ง และวรรคสอง มาตรา ๑๖๘ วรรคเก้า มาตรา ๑๖๙ เฉพาะกรณีการกำหนดแหล่งที่มาของรายได้เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปก่อนและมาตรา ๑๗๐ มาใช้บังคับภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

(๕) การใดที่เกี่ยวกับการจัดทำหรือดำเนินการตามหนังสือสัญญาที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้เป็นอันใช้ได้ และมิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๐ วรรคสามมาใช้บังคับ แต่ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙๐ วรรคสาม มาใช้บังคับกับการดำเนินการที่ยังคงค้างอยู่ และต้องดำเนินการต่อไป

(๖) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐๙ (๒) มาใช้บังคับกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

(๗) มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๕๕ วรรคห้า และมาตรา ๒๘๘ วรรคสาม มาใช้บังคับภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

หลักการตอบ ก็คือต้องถามว่าถ้าจะยกเว้นมาตรา 174 ด้วยทำไมจึงไม่เขียนลงไป ไม่เห็นจะยากอะไรที่จะเขียนลงไป และมาตรา 116 นั้นอยู่คนละหมวดเป็นคนละเรื่องกับมาตรา 174 ใช่หรือไม่ แปลว่ามาตรา 295 และ 305 นั้นเป็นข้อยกเว้นเฉพาะตำแหน่งการเมืองอื่นที่กล่าวถึงในหมวดและส่วนนั้นๆ โดยมิได้กล่าวถึงตำแหน่งรัฐมนตรีใช่หรือไม่ ถ้าตอบไม่ได้หรือคลุมเครือ ก็ต้องลงไปตรวจสอบหลักที่ 2 ว่าสสร.ผู้ร่างมีเจตนารมณ์อย่างไร มีคำยืนยันในบันทึกการประชุมหรือไม่อย่างไรฯลฯ และหลักที่ 3 ว่ามีจารีตหรือหลักรัฐธรรมนูญข้อใดนำมาช่วยในการตีความได้บ้าง

หลักที่น่าจะนำมาช่วยนายสมัครได้คือหลักความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมาย Equal Protection of Laws กล่าวง่ายๆคือผู้แทนราษฎรมีสิทธิเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐธรรมนูญพิการของเราฉบับนี้มิได้ยึดหลักรัฐธรรมนูญและได้สละหลัก Equal Protection of Laws ไปเสียแล้วโดยตัดสิทธิผู้แทนที่อายุไม่ถึง 35 ปี และไม่จบปริญญาตรี หากจะนำหลักนี้มาคุ้มครองนายสมัครก็กระไรอยู่

สรุปแล้ว หลักข้อที่ 1 กับมาตรา 174 น่าจะเป็นหลักที่แข็งแรงกว่ามาตราอื่นๆ นอกจากหลักที่ 6 ของสังคมไทยที่เห็นว่าจรรยาบรรณ จริยธรรมของผู้นำการเมืองและผลประโยชน์ของประเทศชาติไม่มีความหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น