เชียงราย – ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯเชื่อมั่นแผนพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้/ตะวันออก-ตะวันตก ภายใต้กรอบ GMS/สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกขณะ จะกระตุ้นให้การท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศภาคี 6 ชาติที่มีนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 52 ล้านคนภายใน 5-8 ปีต่อจากนี้ พร้อมเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยเป็น 29 ล้านคนจาก 14.5 ล้านคนต่อปีได้แน่ คาดหลังข้อตกลงการบิน GMS มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 53 หนุนการค้า-การลงทุนคึกคัก เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่เร่งส่งเสริม-เตรียมแผนรับมือ
เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เดินทางมาประชุมประสานนโยบายส่งเสริม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยว กีฬาและนันทนาการ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ โรงแรมอินคำ จ.เชียงราย โดยมี นายปรีชา กมลบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปข้อมูลจังหวัดเชียงราย
จากนั้นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ พร้อมคณะ ได้เดินทางด้วยรถยนต์ไปยัง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว )และใช้เส้นทางถนน R3a ไปยัง นครคุนหมิง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 31 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อหาแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวทางด้านนี้ด้วย
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เชียงราย มีภูมิศาสตร์ที่ติดต่อกับหลายประเทศ คือ สหภาพพม่า-สปป.ลาว และขณะนี้สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มีความพยายามที่จะค้าขายกับประเทศในบริเวณนี้ผ่านประเทศไทย ผ่านแม่น้ำโขงที่เดินเรือไปมาหาสู่กันได้ไม่ยาก รวมถึงถนนสองสายหลัก คือ R3b จากจีนตอนใต้ - สหภาพพม่า - อ.แม่สาย จ.เชียงราย / R3a จากจีนผ่าน สปป.ลาว มารอเชื่อมกับสะพานข้ามโขง ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
ล่าสุดพบว่ามีนักลงทุนชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เข้าไปลงทุนในเส้นทาง R3a มาก คาดว่าอนาคตนักท่องเที่ยวจากจีน จะเดินทางมาท่องเที่ยวในเส้นทางนี้มากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆก็จะเข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อนที่ เชียงราย ก่อนเดินทางต่อไปด้วย ดังนั้นเชียงรายต้องเร่งส่งเสริมให้มีการติดต่อประสานงานกับเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 51 เขาจะนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ-ตัวแทนภาคเอกชนเดินทางไป จีนผ่านถนน R3a ด้วย
ขณะที่ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ดีมากขึ้น โดยมีการปรับโครงสร้างให้แต่ละจังหวัดมีท่องเที่ยวและกีฬา (ระดับ 8 บ.) และเพิ่มเงินประจำตำแหน่งให้ เพื่อส่งเสริมให้มีขีดความสามารถในการทำหน้าที่ในเชิงรุกมากขึ้น
ดร.ศศิธารา กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยได้ทำข้อตกลงโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง Greater Mekong Sub region (GMS) กับประกอบด้วย 5 ประเทศ อีก 1 จังหวัด ได้แก่ ไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และมณฑลหยุนหนัน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมเป็น 6 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งในอนาคตอีก 5-8 ปี 6 ประเทศ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 25 ล้านคน เป็น 52 ล้านคน
ประเทศไทย ขณะนี้มีนักท่องเที่ยวเข้าปีละ 14.5 ล้านคน น่าจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 29 ล้านคนได้ ดังนั้นไทยจึงต้องเร่งเตรียมพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น โดยประเทศไทย มีเส้นทางหลักสองเส้นทางคือ เส้นทางตามแนวพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) ซึ่งเชื่อมจากจีนตอนใต้ ผ่านสหภาพม่า และ สปป.ลาว ผ่าน จ.เชียงราย-พิษณุโลก,กทม-ประเทศมาเลเซีย-ประเทศสิงคโปร์ และเส้นทางตามแนวพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor)ที่จะผ่านจาก สหภาพพม่า สู่ จ.ตาก ประเทศไทย สู่ จ.มุกดาหาร - สปป.ลาว และเชื่อมไปประเทศเวียดนาม ที่จะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางมากขึ้น และทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้น
ขณะที่จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรม และธรรมชาติที่สวยงาม น่าจะมีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะมีสายการบินที่บินตรงจากเมืองหลักๆสำคัญ เช่น คุนหมิง-เชียงราย และข้อตกลงการบริการระหว่างประเทศกลุ่ม GMS มีผลบังคับในปี 2553 คาดว่าจะมีการเข้า-ออก เมือง และติดต่อการค้า การลงทุนคึกคักขึ้นกว่านี้แน่นอน
“ในเร็ว ๆ นี้จะนำข้อมูลทั้งหมดนำเสนอต่อ รัฐบาลชุดใหม่เพื่อหาแนวทางส่งเสริมต่อไป”
ต่อข้อถามว่าการที่จังหวัดเชียงราย มียุทธศาสตร์จะส่งเสริมการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดจะ กระทบการท่องเที่ยวหรือไม่ ดร.ศศิธารา กล่าวว่า จังหวัดควรมีการจัดโซนนิ่งในเขตการลงทุนต่างๆให้ชัดเจนเพื่อที่จะกันพื้นที่ท่องเที่ยวและเขตนิคมออกจากกัน เพื่อที่จะไม่ให้กระทบต่อกัน แต่ส่วนตัวคิดว่า หากมีการควบคุมที่ดีไม่น่าจะมีปัญหา