xs
xsm
sm
md
lg

"วัฒนา"สู้คลองด่านแพ้ยกแรก ศาลฎีกาฯ ชี้มีอำนาจตัดสินคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลฎีกานักการเมืองยกคำร้อง "วัฒนา"สู้คดีทุจริตคลองด่าน ชี้คดีอยู่ในอำนาจศาล นัดไต่สวนพยานโจทก์นัดแรก 12 ก.พ.ด้าน" วัฒนา" ยันไม่ได้ทุจริตหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง ยื่นศาลขออนุญาตไปจีน 7 วัน แต่ต้องกลับมารายงานตัว 8 ก.พ.นี้

วานนี้ (29 ม.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ พร้อมด้วยองค์คณะผู้พิพากษา รวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์ นัดพร้อมคดีดำหมายเลขที่ อม.2/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใด มอบให้ซึ่งทรัพย์สิน ฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 33 และ 84 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542

สืบเนื่องจากกรณีที่นายวัฒนา ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง จ.สมุทรปราการ ในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน จ.สมุทรปราการ ที่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบจูงใจให้ราษฎรขายที่ดินให้และบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ออกเอกสารสิทธิ์ ซึ่งที่ดินทับที่คลองสาธารณประโยชน์ ให้กับบริษัทเอกชนเพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

โดยองค์คณะผู้พิพากษา มีคำสั่งที่จำเลย ยื่นคำร้องลงวันที่ 18 ธ.ค.50 ขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น 4 ข้อ ประกอบด้วยประเด็น คดีขาดอายุความ ,การกระทำตามคำฟ้องขาดองค์กระกอบความผิดตามกฎหมาย , คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และ คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าควรพิจารณาเพียงประเด็นเดียวว่า ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ ส่วนประเด็นอื่นให้รวมวินิจฉัยพร้อมคำพิพากษา

โดยเรื่องอำนาจศาล เห็นว่า มูลคดีตามฟ้องโจทก์ กล่าวหาว่ารัฐมนตรีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา และรัฐมนตรีเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทางอาญา จึงเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ฯตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1)(2 ) นอกจากนี้มาตรา 4 ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังบัญญัติว่า “ นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ ห้ามไม่ให้ศาลอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกา ฯ ไว้พิจารณาพิพากษา ”

ประกอบกับมาตรา 46 ได้บัญญัติด้วยว่า “ คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลอื่นในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ ให้คงพิจารณาพิพากษาต่อไปจนเสร็จ และไม่ให้ถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลนี้” จากบทบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ว่า คดีที่มีการฟ้องนับแต่ พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ฯ ยกเว้นเฉพาะคดีที่ค้างพิจารณาในศาลอื่น ซึ่งโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 ส.ค.50 คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอื่น

ส่วนที่จำเลยอ้างว่า รัฐธรรมนูญ ฯ ปี 2540 มาตรา 32 –33 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2-3 คุ้มครองให้บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำการที่กฎหมายใช้อยู่ในเวลานั้นบัญญัติ เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้อง หรือจำเลยไม่มีความผิด ศาลเห็นว่า บทบัญญัตินั้นเป็นเรื่องความรับผิดและการลงโทษทางอาญา ไม่ใช่เรื่องอำนาจศาลในการพิจารณาพิพากษาคดี

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และต้องเสียสิทธิในการพิจารณาพิพากษาตามลำดับชั้นศาลยุติธรรมนั้น เห็นว่า พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ไม่ได้บัญญัติเพื่อใช้บังคับกับจำเลยเพียงคนเดียว ซึ่งบุคคลใดก็ตามที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถูกฟ้องคดีที่มีมูลแห่งคดีตามลักษณะที่บัญญัติใน มาตรา 9 (1) – (4) ต้องอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ฯ เช่นเดียวกับจำเลย ข้ออ้างจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น จึงให้ยกร้องเรื่องอำนาจศาล

ส่วนที่จำเลย ยื่นคำร้องลงวันที่ 27 ธ.ค.50 ขอสืบพยานบุคคลโดยทำบันทึกถ้อยคำพยานเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ศาลเห็นว่า ไม่มีข้อกำหนดให้ดำเนินการตามวิธีการดังกล่าวได้ ซึ่งตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ให้องค์คณะผู้พิพากษาต้องไต่สวนพยานเอง จึงมีคำสั่งให้ยกร้อง ส่วนที่จำเลยประสงค์จะไม่มาฟังการไต่สวนนั้น ให้จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาอนุญาตหรือไม่ต่อไป และตามที่จำเลยยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมตามคำร้องลงวันที่ 8 ม.ค.51 โจทก์ แถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตเพราะเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

สำหรับการไต่สวนพยานหลักฐาน ศาลกำหนดวันนัดไต่สวนพยานโจทก์ 10 นัด ในวันที่ 12 , 13 , 15 และ 19 , 20 , 22 , 26 , 27 , 29 ก.พ. และวันที่ 11 มี.ค.โดยนัดไต่สวนพยานจำเลย 5 นัด ในวันที่ 18 มี.ค. และวันที่ 2,8,11และ 17 เม.ย. ทั้งนี้ศาลได้กำชับโจทก์ –จำเลย ให้เตรียมพยานมาให้พร้อม หากพยานปากใดไม่อาจมาศาลได้ให้นำพยานปากอื่นไต่สวนแทน

ด้านนายวัฒนา จำเลย ได้แถลงต่อศาล ขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ เป็นเวลา 7 วัน โดยระบุว่าจำเลยต้องเดินทางไปประเทศจีน เพื่อติดต่อเจรจาธุรกิจ ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกประเทศได้ โดยให้จำเลยต้องเดินทางมารายงานตัวศาลเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ซึ่งนายวัฒนา แจ้งว่าจะเดินทางกลับในวันที่ 6 ก.พ. และจะเข้ารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 8 ก.พ.

นายวัฒนา กล่าวถึงการต่อสู้คดีนี้ว่า เตรียมพยานหลักฐานไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีพยานเอกสารจำนวนมากที่จะต้องนำสืบ โดยวันนี้ตนรู้สึกสบายใจที่คดีเข้าสู่ศาล เพราะอดีตที่ตนถูกกล่าวหานั้นไม่สามารถดำเนินการแก้ต่างใดๆได้เลย ต้องถูกกล่าวหาเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นเมื่อมีนำคดีเข้าสู่ศาล และกระบวนการยุติธรรมแล้วตนมั่นใจว่าศาลจะให้ความยุติธรรม

“ตามข้อเท็จจริงผมขอยืนยันว่าไม่เคยทำความผิด แต่เรื่องที่เกิดขึ้นพอจะรู้กันอยู่แล้วว่าเป็นผลมาจากอะไร ซึ่งเรารู้กันทั่วไปอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของการเมือง ตลอดเวลาที่ผมเคยเป็นรัฐมนตรีไม่เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งผมไม่เคยต้องการจะเอาทรัพย์สินของแผ่นดินมาเป็นของตนเอง และไม่เคยฉ้อราษฎรบังหลวง ดังนั้นผมจึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา และจะต่อสู้คดีด้วยพยานหลักฐานที่มีอยู่จริง” นายวัฒนา กล่าว

ทั้งนี้นายวัฒนา ประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน ยังกล่าวปฏิเสธด้วยว่า การถูกดำเนินคดีเรื่องนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรค ซึ่งนายวัฒนา ระบุว่า วันนี้ที่ลงมาเล่นการเมือง ก็ไม่ได้หวังตำแหน่งใดๆ แต่ต้องการว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข

ด้าน นายไพบูลย์ โพธิ์น้อย ทนายความนายวัฒนา กล่าวว่า สำหรับพยานบุคคลที่จะนำเข้าไต่สวน จำนวนกว่า 10 ปาก ส่วนพยานเอกสารที่จะนำสืบประกอบมีจำนวนมากกว่า 1,000 แผ่น ซึ่งขณะนี้กำลังเรียกเอกสารจากกรมที่ดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น