xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกตีข่าว"หมัก"อายุสั้น เอกชนไทยผวาประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 310 เสียง ลาก "สมัคร" ขึ้นนั่งนายกรัฐมนตรี สำเร็จ ไม่มีแตกแถว ด้าน ส.ส.พปช.โดดขวางไม่กล้าให้โชว์วิสัยทัศน์ ส่วนภารกิจแรกว่าที่นายกฯ จ่ายกับข้าวที่ตลาด อ.ต.ก. ประกาศช่วยแม่ค้าให้รัฐลดค่าแผง อีก 3 วัน ครม.ลงตัว ทั่นยุทธนำชื่อนายกฯ คนใหม่ทูลเกล้าฯ แล้ว "หมอเลี้ยบ" อ้างรอโปรดเกล้าฯ ก่อนถก ครม. ยัน "สมัคร" ไม่ถูก "แม้ว" จูงจมูก โผล่าสุด "เนวิน" ดันพ่อนั่ง รมต.สำเร็จ "สมชาย" เป็นรองนายกฯ อับดับ 1 จ่อเก้าอี้นายกฯ "เฉลิม" มท.1 "นพดล" ขึ้น รมว.ต่างประเทศ ขณะที่ภาคเอกชนห่วงนโยบายประชานิยม สื่อต่างประเทศประโคมข่าวนายกฯ คนที่ 25 อยู่ได้ไม่นาน

วานนี้ (28 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดที่สองเพื่อพิจารณาวาระการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ส.แต่ละพรรคต่างทยอยเดินทางเข้ารัฐสภาเพื่อร่วมประชุม

สำหรับบรรยากาศบริเวณหน้ารัฐสภา ตั้งแต่เช้ามีประชาชนจากกลุ่มต่างๆ มาชุมนุม เช่น กลุ่มสหภาพแรงงาน องค์การค้าของคุรุสภา ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงพรรคพลังประชาชน เรียกร้องไม่ให้จัดสรรกระทรวงศึกษาธิการให้พรรคชาติไทยดูแล โดยให้พรรคพลังประชาชนดูแลเอง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่อ้างว่าเป็นกลุ่มคนรักทักษิณอีสาน เดินทางมาสนับสนุนให้เลือกนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเหมือนกับได้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมา ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มทำดีรักประชาธิปไตย ได้นำป้ายเรียกร้องให้ ส.ส.มีความปรองดองและสมานฉันท์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อถึงเวลา 09.30 น. จึงเริ่มเปิดการประชุม โดย นายชัย ชิดชอบ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน ในฐานะผู้มีอาวุโสสูงสุด ได้ขึ้นทำหน้าที่ ประธานชั่วคราวเพื่อแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นรองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เป็นรองประธานสภาฯคนที่สอง จากนั้นนายยงยุทธ์และรองประธานสภาอีกสองคนได้ขึ้นนั่งบนบัลลังก์และทำหน้าที่ประธานการประชุมทันที

นายยงยุทธ ได้ขอให้ที่ประชุมยืนไว้อาลัยแด่การเสด็จสู่สวรรณคาลัยของ สมเด็จพระพี่นางเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯและกล่าวขอบคุณสมาชิกที่มอบความไว้วางใจ ให้ตนปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาฯ

จากนั้น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ส.ส.ระบบสัดส่วนพรรคพลังประชาชน ซึ่งนั่งอยู่ติดกับนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชยนอยู่บริเวณที่นั่งด้านหน้าของห้องประชุม ได้ลุกขึ้น เสนอชื่อนายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก่อนที่ จะเริ่มกระบวนการ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อแสดงวิสัยทัศน์ แต่ได้รับการคัดค้านจาก ส.ส.พรรคพลังประชาชน โดยที่ประชุมใช้เวลาถกเถียงกันนานถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ในที่สุดนายยงยุทธ ได้ตัดบทให้ให้ที่ประชุมลงมติว่าผู้ใดจะให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งผลปรากฎว่าที่ประชุมส่วนใหญ่มีมติไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ด้วยคะแนนเสียง 306 ต่อ 105

ปชป.ส่ง "อภิสิทธิ์" สู้ "สมัคร"

จากนั้นจึงเข้าสู่วาระการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยนพ.สุรพงษ์ ได้เสนอชื่อ นายสมัคร เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้นายยงยุทธขอให้ใช้วิธีรับรองญัตติโดยการกดบัตรลงคะแนนเพื่อเป็นบันทึกของที่ประชุม ขณะที่นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เข้าแข่งขัน

โดยที่ประชุมได้ให้สมาชิกขานชื่อผู้ที่สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดย เปิดเผยเป็นรายบุคคล ซึ่งนายสมัครได้ออกจากห้องประชุมเพื่อไปรับประทานอาหาร

โดยนายสมัคร ได้เดินทางออกจากห้องประชุมไปรับประทานอาหารที่โรงอาหารด้านหลับรัฐสภา พร้อมห้ามไม่ให้สื่อมวลชนติดตามทำข่าว พร้อมกล่าวอย่างอารมย์ดีว่า "ต่อไปนี้ชีวิตผมคงไม่มีความสุขแล้ว ทีนี้จะไปจ่ายตลาดจะทำไง"

นายสมัครได้สอบถามเมนูอาหารกับแม่ค้าว่า มีไข่ดาวหรือไม่ แม่ค้าตอบว่า ไข่ดาวไม่มี ไข่ต้มก็หมด มีแต่ผัดเผ็ดปลาไหล ทำให้นายสมัครถึงกับร้องว่า "อุ้ย! ผมไม่กินปลาไหล ทำไม แล้วมันจะขัดข้อบังคับสภาหรือ" พร้อมกับสั่งแกงเหลืองไม่เอาปลา กับผัดหน่อไม้ฝรั่งไม่เอาเนื้อหมู มาทานกับแฟนต้าน้ำส้มอีก 1 ขวด

อย่างไรก็ตาม ระหว่างทานข้าวนั้น นายสมัครได้กล่าวถึงรายการทำอาหาร ด้วยว่า ไม่มีปัญหา สามารถอัดเทปรายการเก็บไว้ได้ และไม่ได้มีรัฐธรรมนูญห้าม นายกรัฐมนตรีพูดเรื่องอาหารการกิน สำหรับรายการพูดจาประสาสมัครนั้น ล่าสุด เห็นว่าจะเปลี่ยนมาออกอากาศเป็นวันอาทิตย์แทน และหลังจากเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จแล้ว ตนจะไปตลาด อ.ต.ก. ไปจ่ายกับข้าวตามปกติ และไม่ได้ฉลองพิเศษ

ผลโหวตสมัครได้รับเลือกเป็นนายกฯ

จากนั้นนายสมัคร ได้เข้าห้องประชุมสภาฯอีกครั้ง ในช่วงท้ายของการขานชื่อ สำหรับส.ส.1 คนที่ไม่ได้มาร่วมประชุม คือ ม.ร.ว.กิติวัฒนา ไชยันต์ ปกมนตรี ส.ส.แบบสัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน โดยอ้างเหตุลาป่วย

หลังจากที่ประชุมใช้เวลาขานชื่อนานกว่าหนึ่งชั่วโมง นายยงยุทธจึงได้ขาน ผลการลงคะแนนว่ามีสมาชิกลงคะแนนเลือกนายสมัคร 310 เสียง เลือก นายอภิสิทธิ์163 เสียง งดออกเสียง 3 เสียงและไม่อยู่ในห้องประชุม 1เสียง ถือว่า นายสมัครได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งหมดจึงถือว่านายสมัครได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นคนที่ 25 จากนั้นจึงได้สั่งปิดการประชุมทันทีเมื่อเวลา 12.45 น. โดยหลังทราบผลสมาชิกของพรรคพลังประชาชนได้เดินเข้าไป แสดงความยินดีและจับมือกับนายสมัครด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่หายไป 3 เสียง ประกอบด้วย นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาฯ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และ ม.ร.ว.กิติวัฒนา ไชยันต์ ปกมนตรี ส.ส.แบบสัดส่วนพรรคเพื่อแผ่นดิน ที่ระบุป่วยไม่ได้เข้าร่วมประชุม

ภารกิจแรกว่าที่นายกฯ ไปจ่ายตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเลิกประชุมสภาฯ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ได้ออกจากรัฐสภาไปตลาด อ.ต.ก.ย่านจตุจักร เพื่อจ่ายตลอดซื้ออาหารประจำสัปดาห์ โดยตลอดการจ่ายตลาด 1 ชม. นายสมัครได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวและประชาชนที่มาแสดงความยินดีเป็นระยะด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ขณะที่พ่อค้า แม้ค้าในตลาดต่างก็นำพวงมาลัยดอกมะลิมาแสดงความยินดีเป็นระยะๆ

นายสมัคร กล่าวว่า วันนี้เป็นวันจ่ายของตน และจะมาจ่ายตลาดแบบนี้ปกติสัปดาห์ละ1ครั้ง แต่ถ้ามีแขกมาก็ 2-3 หน ซึ่งพ่อค้าแม่ค้านั้นคุ้นเคยกันดี พอไปจ่าย ตลาดครั้งละ 3-4 พันบาทก็จะเก็บใส่ตู้เย็นเอาไว้ได้ 6-7 วันจะทำกินก็เอามาออกทำ แต่วันนี้ซื้อของแพงหน่อย เพราะต้องมาซื้อที่ตลาด อ.ต.ก. ซึ่งตลาดเก็บค้าเช่าแพง ถ้าปกติก็จะไปซื้อที่ตลาดบางกะปิ เพราะราคาจะถูกกว่า แต่วันนี้เห็นว่า มีผู้สื่อข่าวตามมาด้วย ถ้าจะไปซื้อที่ตลาดบางกะปิ ผู้สื่อข่าวก็จะเดินเฉอะแฉะ ก็เลยพากันมาที่นี่

"พ่อค้า แม้ค้าในตลาดที่นี้ต้องสู้กับรัฐ เพราะปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรม พยายามเก็บค่าเช่าแผงสูงขึ้น ทำให้ต้องซื้อของแพง ทั้งๆ ที่พ่อค้า แม่ค้าเหล่านี้สร้างชื่อเสียงให้กับตลาด อ.ต.ก. แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าถ้าขายไม่ได้ก็ออกไปขายที่อื่น ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ผมจะเข้ามาดูแล ถ้าใครเป็น รมว.เกษตรฯ ผมก็จะบอกให้มาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้"

ครม.เสร็จก่อนวันจ่ายตรุษจีน

นายสมัครกล่าวว่าหลังได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตีรแล้ว จะมีพระบรมราช โองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเมื่อใดนั้นพูดไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องภายใน แต่ในช่วงเที่ยง ของวันที่ 29 มกราคม ขอให้ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์ไปถามที่พรรคพลังประชาชน เพราะที่พรรคจะเป็นผู้บอกเวลาได้ใกล้เคียงที่สุดว่าจะมีการโปรดเกล้าฯมาเมื่อไร แล้วค่อยเดินทางมาที่บ้านพักของตน และหลังจากรับพระรวมราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้วก็มีคนขอให้ตนพูดคุยกับสื่อมวลชนนิดหน่อย

ส่วน ครม.ชุดใหม่นั้น นายสมัครกล่าวว่า ขณะนี้คืบหน้าไปประมาณ 80 % และน่าจะเสร็จก่อนที่ตนจะเข้าทำงานในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยระบุว่าน่าจะเสร็จหลังตรุษจีนคือจะเสร็จหลังวันที่ 10 ก.พ. แต่ตนคิดว่าน่าจะเสร็จก่อนวันจ่ายคือวันที่ 5 ก.พ. เพราะน่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วันก็คงเสร็จ

ทั่นยุทธทูลเกล้าฯ ชื่อนายกฯ ทันที

นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวหลังประชุมสภาฯเสร็จสิ้นว่า ได้นำรายชื่อนายสมัคร ที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ ผ่านสำนักราชเลขาธิการแล้วตอนจากนี้ไปขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยว่าจะทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อไหร่

สำหรับการประชุมสภาในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ขอบคุณทุกฝ่าย บางคนอาจไม่สะใจ ไม่ได้พูด ไม่พอใจ ต้องขออภัย ตนมีนโยบายให้บทบาท ให้โอกาส ให้เกียรติกัน เพราะส.ส.แต่ละคนมีความรู้ มีประสบการณ์ มีความคิด ส่วนตนมีข้อบังคับการประชุมควบคุมการทำงานอยู่แล้ว หากไม่เกิดความวุ่นวาย หรือไม่จำเป็นจะไม่ใช้

"หมอเลี้ยบ"บอกถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ 6 พรรคร่วมรัฐบาลลงมติเห็นชอบนายสมัคร อย่างพร้อมเพียง มีผู้ไม่ออกเสียงเพียง 3 คน คือนายยงยุทธ นายสมัคร และนายอภิสิทธิ์ เท่านั้น ซึ่งทิศทางการเมืองนับจากนี้เชื่อว่า จะดีขึ้น เพราะมีสภาแล้ว และพรรคพลังประชาชนจะเดินหน้าแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ตามที่ได้สัญญากับประชาชนไว้

ส่วนความคืบหน้าในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของบุคคลที่คาดว่าจะมาดำรงตำแหน่งในกระทรวงต่างๆ นั้นยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องรอให้มีการโปรดเกล้าฯนายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งจะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็น ทางการ เพราะต้องรอให้โปรดเกล้าฯรายชื่อ ครม.ลงมา ซึ่งผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ก็ต้องแสดงฝีมือในการบริหารประเทศทันที

ส่วนสัดส่วนรัฐมนตรีคนนอกนั้นก็ยังไม่มีการสรุป เพราะต้องมีการปรึกษาหารือ กับพรรคร่วมรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ ตนในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบประสานงานก็ไม่ควรพูด ออกไปก่อน ส่วนที่มีรายชื่อบุคคลนั่งในตำแหน่งต่างๆ ปรากฎเป็นข่าวนั้น เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้ให้ข่าวไม่ได้มาจากผู้รับผิดชอบโดยตรง เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น เมื่อถามว่ารายชื่อที่ปรากฎตามสื่อนั้นมีความแม่นยำหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ ถึงกับหัวเราะก่อนจะกล่าวว่า เป็นการยิงกระสุนลูกปราย ก็ต้องเข้าเป้าบ้าง

ยัน"สมัคร"ไม่ถูก "แม้ว" จูงจมูก

ผู้สื่อข่าวถามว่าถูกวิจารณ์ว่ามีการจัดโผ ครม.กันที่ฮ่องกง นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า บุคคลที่เดินทางไปฮ่องกงไปเพื่อไปเยี่ยมเยียน เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในอดีต คงไม่ได้เป็นการไปจัด ครม. เพราะถ้านับคนที่ไปเยี่ยมคงจะมีครม.เป็นร้อยคน เพราะฉะนั้นข่าวนี้เป็นไปไม่ได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การจัด ครม.เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่จะนำทูลเกล้าฯ เราคงจะได้เห็นโฉมหน้าครม.ภายในหนึ่งสัปดาห์

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยืนยันกับประชาชนได้อย่างไรว่า การบริหารประเทศจะมีความเป็นตัวของตัวเอง โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะไม่อยู่เบื้องหลัง นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ในแง่ของความเห็น เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงจะฟังความเห็นทุกฝ่าย อีกทั้งนายสมัครก็เป็นตัวของตัวเองมาตลอด เพราะฉะนั้นการบริหารบ้านเมืองให้นายสมัครเป็นผู้ตัดสินใจ

"เนวิน" ดันพ่อนั่ง รมต.สำเร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว พรรคพลังประชาชน ได้จัดประชุมโดยมีการแบ่งให้ ส.ส.แต่ภาคทำการประชุมก่อนสรุปรายชื่อบุคคล ที่เสนอให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยในส่วนของ กทม.ได้ส่ง 2 คน ได้แก่ นายสุธา ชันแสง นั่งรมช.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายวิชาญ มีนชัยนันท์ เป็น รมช.สาธารณสุข

ขณะเดียวกันมีข่าวว่า นายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ได้ผลักดันนายชัย ชิดชอบ บิดาขึ้นเป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ล่าสุดหลังการหารือกันของแกนนำพรรคพลังประชาชน ได้ยินยอมตามที่นายเนวิน เสนอให้นายชัย นั่งตำแหน่งดังกล่าว

"นพดล"รมว.ต่างประเทศ-"เฉลิม" มท.1

ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ล่าสุดมีชื่อ นายนพดล ปัทมะ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน เป็น รมว.ต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะไปเป็น รมว.ศึกษาธิการ แต่ปรากฎว่ามีชื่อนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ไปเป็น รมว.ศึกษาธิการแทน

นอกจากนี้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ จะเป็นรองนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 จ่อคิวนายกรัฐมนตรี หากนายสมัครมีปัญหา นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็น รมว.มหาดไทย ส่วน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ยังมีชื่อเป็น รมว.คลัง

ด้าน นายอุไรวรรณ เทียนทอง ภริยา นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ยังมีโควตาเป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ส่วนพรรคมัชฌิมาธิปไตย ยังคงอยู่ที่โควตา รมว.แรงงาน โดยมี นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน นั่งตำแหน่งดังกล่าว และ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ เป็น รมช.มหาดไทย

เผยนโยบายรัฐบาลสมัคร 1

สำหรับร่างนโยบายรัฐบาล "สมัคร 1 นั้น ล่าสุดสรุปแล้วว่าจะใช้นโยบาย พรรคพลังประชาชนเป็นหลัก โดยยุทธศาสตร์และนโยบายจะเน้นสร้างเสถียรภาพ สร้างความปรองดองและความมั่นคงของประเทศ และทางในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประเทศเพิ่มความเข้มแข็งในทุกภาคส่วน รวมถึงการพัฒนาภาคสังคม และการเมืองของประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน

โดยกำหนดเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนา ให้สอดคล้อง เป็นไปในทิศ ทางเดียวกัน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการพัฒนาและการบริหารประเทศ รัฐบาล ดังนี้

1.สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ให้เป็นวาระแห่งชาติ 2.กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มทุนหมุนเวียน เตรียมความพร้อม รองรับการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจเพื่อประชาชน โดยใช้มาตรการเพิ่มรายได้ลดรายจ่ายขยายโอกาส ให้แก่ประชาชนโดย การเร่งรัดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีผลต่อรายได้ของประชาชน ส่งเสริมการจัดตั้งฟาร์มโคที่มีคุณภาพ พร้อมสนับสนุนการถ่ายทอด เทคโนโลยีการผลิตโคคุณภาพ โคล้านตัว วัวแสนฟาร์ม ยกเลิกมาตรการกันเงินทุนสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างความมั่นใจและส่งเสริม ให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเร่งกระตุ้นภาวการณ์ลงทุนในระบบเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง

พักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้สร้างรายได้ใหม่

จัดสรรงบฯ SML หมู่บ้านขนาดเล็ก 3 แสนบาท หมู่บ้านขนาดกลาง 5 แสน บาท และหมู่บ้านขนาดใหญ่ 7 แสนบาท

ประกาศปีท่องเที่ยวไทย ประทับใจไทยแลนด์ ประกาศให้ปี 2551-2552 เป็นปีการท่องเที่ยวไทย มีเป้าหมายที่จะเพิ่มนักท่องเที่ยวจาก 14 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน เป็นต้น

เอกชนกังวลประชานิยม

นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ AKR กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร ได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีว่า เป็นไปตามคาดหมายของระบอบประชาธิปไตยก็คงจะต้องให้เวลา ในการบริหารประเทศซึ่งคาดว่าในระยะเวลา 6 เดือนคงจะเห็นทิศทางการบริหารประเทศว่าจะไปทางใดและ 1 ปีก็คงจะได้คำตอบที่ชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้จะเป็นที่ไว้วางใจของนักลงทุนและประชาชนหรือไม่

นายเกียรติพงษ์ กล่าวว่านโยบายรัฐบาลชุดนี้คงจะหนีไม่พ้นประชานิยม ซึ่งมีความเป็นห่วงกรณีที่ใช้ประชานิยมอย่างไร้เหตุผลโดยเฉพาะการส่งเสริมให้ คนไทยบริโภคด้วยการเสนอเงินกู้ให้ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางใหม่ด้วยการเพิ่มรายได้เช่น การสร้างงานหรือการลงทุนเพื่อการสร้างงานแทน การดูแลราคาสินค้าเกษตร เช่น การประกันราคาข้าวไม่ควรที่จะดำเนินการเพราะทำให้เกิดการทุจริตและไม่ถึงชาวนาอย่างแท้จริง เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลภาพรวมการสร้างรายได้ ของประเทศได้แก่ การส่งออกที่จะต้องปรับตัวให้สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อผลักดันราคาขายที่สูงขึ้นไม่ใช่คำนึงแต่ค่าเงินบาทที่ต้องอ่อนค่าเพียงอย่างเดียว ดูและการจัดการบริหารด้านการตลาดโปรโมทธุรกิจท่องเที่ยวใช้สนามบินสุวรรณภูมิที่เป็นฮับของภูมิภาคให้เกิดประสิทธิภาพเหล่านี้ล้วนจะดึงรายได้เข้าประเทศ และท้ายสุดที่ควรคำนึงคือการสร้างการศึกษาที่ดีให้กับเยาวชนไทยเพื่อเป็นกำลังสำคัญของกรพัฒนาประเทศในอนาคต

ให้คะแนน"สมัคร"นายกฯ 50 %

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า รู้สึกเฉยๆ ที่นายสมัครได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นสิ่งที่มีการคาดการณ์มาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งในด้านความเชื่อมั่นโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจคาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากผู้ที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ จะต้องมีประสบการณ์ ทางการบริหารที่พิสูจน์ได้ แต่นายสมัครไม่มี มีแต่เพียงประสบการณ์การเป็นนักการเมืองอาชีพมาโดยตลอด แต่ต้องพิจารณาจากทีมงานหรือคณะรัฐมนตรี และต้องพิสูจน์จากการทำงาน หากช่วง 4 เดือนไปแล้วยังไม่มีผลงานที่ดีก็ถือว่าน่าเป็นห่วง

"ถ้าให้คะแนนเต็ม 100 ตัวนายกรัฐมนตรี ฟื้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจได้แค่ 50% แต่ถ้าหน้าตาทีมงานไม่ดีอีกก็อาจลงลงไปเหลือแค่ 30% ซึ่งปัญหาขณะนี้ยังไม่ทราบเลยว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญๆ บ้าง มีแต่การคาดการณ์กันไป” นายพรศิลป์กล่าวและว่า สิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไข จะต้องสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง คือ การแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ขณะที่รายได้ประชาชนเท่าเดิม ซึ่งแนวทางแก้ไขเบื้องต้นคือ การเพิ่มเงินเดือนในส่วนของข้าราชการและสร้างความมั่นใจให้ประชาชนกล้าใช้จ่าย"

นายบดี จุณณานนท์ กรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการฝากรัฐบาลชุดใหม่ ได้แก่เรื่องของเศรษฐกิจ เพราะจะมีผลกระทบต่อประเทศโดยตรง เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ คือการปรับลดดอกเบี้ย เพราะจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75 % และมีแนวโน้มจะปรับลดลงอีก ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องพิจารณาว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงตามหรือไม่ เพราะถ้าไม่ปรับลดก็จะมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูง และหากปรับลดมากเกินไป ก็จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ ทำให้ทางการจะต้องออกมาตรการมาดูแลปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น

สำหรับเรื่องของงบประมาณ รัฐบาลต้องดูแลเพราะมีผลต่อเศรษฐกิจ และเห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะทำงบประมาณแบบขาดดุลเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโต 4-5 % นั้น โดยส่วนตัวแล้วอยากเห็นเศรษฐกิจเติบโต 5-6 % ทั้งนี้ การที่หน่วยงานของรัฐมีกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดอยู่ ทำให้การลงทุนขยายตัวไม่ได้เต็มที่ ดังนั้นรัฐบาลควรใช้รัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพ เข้ามาช่วยในเรื่องของการลงทุน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เร็วขึ้น

สื่อนอกชี้สมัครอยู่ได้ไม่นาน-การเมืองไทยยังจะวุ่นวาย

ทั้งหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์, สำนักข่าวรอยเตอร์, สำนักข่าวเอเอฟพี, ข่าวบีบีซี ต่างเสนอข่าวสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ด้วยมุมมองที่ว่า ประเทศไทยได้กลับคืนสู่การมีรัฐบาลพลเรือน ภายหลังฝ่ายทหารยึดอำนาจไป 16 เดือน

แต่ แอนดริว ฮาร์ดิ้ง ผู้สื่อข่าวของบีบีซีในกรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า การเดินทางอย่างช้าๆ ของประเทศไทย เพื่อกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยซึ่งปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่นั้น "น่าที่จะเป็นการเดินทางที่ขรุขระ"

เช่นเดียวกับ ธอมัส ฟูลเลอร์ ของนิวยอร์กไทมส์ ที่บอกว่า พวกนักวิเคราะห์ต่างทำนายว่า การเมืองไทยยังจะไม่สิ้นสุดการเดินทางไปด้วยความขรุขระ และช่วงการดำรงตำแหน่งของนายสมัครก็ปั่นป่วนวุ่นวาย ขณะที่รัฐบาลของเขาก็เปราะบางอ่อนแอ

"โดยที่เป็นบุคคลผู้โชกโชนการเมืองซึ่งสร้างความแตกแยกได้สูงและพูดจาโผงผาง อีกทั้งยังเอนเอียงไปในทางหยาบคาย นายสมัครจึงไม่เป็นที่ชื่นชอบของหนังสือพิมพ์และปัญญาชนไทย นอกจากนั้นยังเป็นที่โกรธกริ้วอย่างลึกซึ้งของบรรดากลุ่มสิทธิพลเมือง จากการที่เขาสนับสนุนการปราบปรามอย่างนองเลือด ต่อการประท้วงด้วยความสันติหลายๆ ครั้งในทศวรรษ 1970 และ 1990" รายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์ ระบุ

ทางด้าน รอยเตอร์ก็อ้างคำพูดของนายใจ อึ้งภากรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พูดถึงนายสมัครว่า "เขาเป็นคนที่พูดจาโผงผางมาก เป็นนักการเมืองฝ่ายขวาที่โจมตีขบวนการนักศึกษา และสร้างความชอบธรรมให้แก่การปราบปรามและเข่นฆ่าซึ่งเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" และ "เขาเคยพูดว่าประชาชนที่ตายไปในธรรมศาสตร์)เป็นสายลับเวียดนาม โดยที่ไม่มีหลักฐานยืนยันอะไรในเรื่องที่เขาพูดนี้เลย"

สื่อนอกเหล่านี้ต่างพูดถึงประเด็นที่นายสมัครบอกว่าตัวเองเป็น "นอมินี" ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

เอเอฟพี กล่าวว่า พวกนักวิเคราะห์มองกันว่า ในหลายๆ ด้านที่สำคัญแล้ว นายสมัครยังต้องขึ้นอยู่กับความกรุณาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ซึ่งบารมีทางการเมืองและกระเป๋าเงินยังคงมีอิทธิพลทรงอำนาจยิ่ง

สำนักข่าวแห่งนี้อ้างคำพูดของนายฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กล่าวว่า "ในเรื่องที่เป็นงานวันต่อวันแล้ว นายสมัครจะมีความเป็นอิสระของตนเองในระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเขา ความสำเร็จของเขาเอง แต่ในเรื่องของทิศทางโดยรวมแล้ว เห็นชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นผู้กำหนดทิศทางใหญ่ของรัฐบาลที่นำโดยนายสมัคร"

ขณะที่ โทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น อ้างคำพูดของนายคริส เบเกอร์ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทยมาหลายเล่ม ที่มองต่างมุมออกไปหน่อย ว่า "เขา (พ.ต.ท.ทักษิณ) มีอิทธิพลอย่างมากในตอนนี้ เพราะเขาเป็นคนอยู่หลังฉาก เขาอาจจะเป็นผู้จัดหากระแสเงินสด แต่ทันทีที่พวกเขา (รัฐบาลนายสมัคร) มีอำนาจอยู่ในมือพวกเขาแล้ว พวกเขาก็จะเป็นอิสระจากเขา(พ.ต.ท.ทักษิณ)มากขึ้น"

สำหรับคำถามที่ว่ารัฐบาลนายสมัครจะอยู่ได้นานแค่ไหน รอยเตอร์อ้างคำพูดของอาจารย์ฐิตินันท์ที่บอกว่า "เขาจะอยู่ไม่ครบเทอมหรอก เรากำลังมองกันว่านายสมัครจะอยู่ได้นานกี่เดือน มากกว่าจะอยู่ได้นานกี่ปี"

ส่วนนิวยอร์กไทมส์ กล่าวว่า ทั้งที่เพิ่งได้รับชัยชนะ แต่ก็มีเสียงพูดจากันแล้วว่านายสมัครอาจถูกเปลี่ยนตัวในเร็ววันนี้ โดยใครบางคนที่มีท่าทีปรองดองมากกว่า สื่อไทยเองก็กำลังกะเก็งกันเป็นรายวันในเรื่องที่ใครอาจผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความประนีประนอมมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น