ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ยันถนน R3a “ไทย-ลาว-จีน” เสร็จ 100%เดือนหน้า “แพร่ธำรงวิทย์” ผู้รับเหมาสายเลือดแพร่ เตรียมส่งมอบงาน คาด 3 ชาติทำพิธีเปิดร่วมมีนาฯ-เมษาฯ 51 แน่นอน พร้อมเดินหน้าชิงเค้กทำถนนหลวงพระบาง – แก่นท้าว ตรงข้ามเมืองเลย มูลค่ากว่า 2 พันล้านต่อ หลังลุยเปิดเส้นทางห้วยโก๋น-ปากแบ่ง เฉียด 800 ล้านได้เกือบ 50% ขณะที่สะพานข้ามโขง 3 เชื่อมเชียงของ-ห้วยทราย คาดต้องรอไทย-จีนไฟเขียวสัญชาติผู้รับเหมาก่อน
นายวรงค์ วงศ์วรกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัทแพร่ธำรงวิทย์ Joy venture Namtha Road and Bridge บริษัทร่วมทุนระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่ธำรงวิทย์ กับบริษัทน้ำทาก่อสร้าง จำกัด ผู้รับเหมาท้องถิ่นของสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว(สปป.ลาว) ผู้รับสัมปทานทำถนน R3a (ไทย-ลาว-จีน) ช่วงเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว – เวียงภูคา มูลค่า 1,086 ล้านบาท เปิดเผยว่า การปรับปรุงถนนในความรับผิดชอบของบริษัทจะสามารถส่งมอบงานทั้งหมดให้ สปป.ลาว ได้สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 51 อย่างแน่นอน
นั่นหมายถึงเส้นทาง R3a ตลอดแนวจะเสร็จสมบูรณ์ 100%ในวันเดียวกันด้วย หลังจากที่กลุ่มนวรัตน์พัฒนาฯ ที่รับงานปรับปรุงจากเวียงภูคา – แขวงหลวงน้ำทา ได้สร้างเสร็จแล้ว ขณะที่ถนนในความรับผิดชอบของ สาธารณรัฐประชาชนจีน จากแขวงหลวงน้ำทา – ชายแดนลาว/จีน เสร็จตั้งแต่ปีกลายที่ผ่านมา
หลังจากที่ส่งมอบงานแล้ว ทั้ง 3 ประเทศคือ ไทย-จีน ที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่สปป.ลาว คงจะหารือกันเพื่อกำหนดวัน-เวลาทำพิธีเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดได้ภายในเดือนมีนาคม – เมษายน 2551 อย่างแน่นอน
นายวรงค์ กล่าวถึงแผนการลงทุนของห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่ธำรงวิทย์ ในฐานะผู้รับเหมาท้องถิ่นจากจังหวัดแพร่ อีกว่า ขณะนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้ ที่จะยื่นซองประมูลโครงการทำถนนจากหลวงพระบาง – แก่นท้าว ชายแดน สปป.ลาว ตรงข้ามจังหวัดเลย ระยะทางร่วม 300 กิโลเมตร(กม.) ที่มีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สนับสนุนด้านการเงินมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ช่วง ๆ แรกมีเกาหลีใต้ ออกแบบและได้ผู้รับเหมาจากเกาหลีใต้ดำเนินการแล้ว หจก.แพร่ธำรงวิทย์ อาจจะเสนอตัวเข้าดำเนินการในช่วงที่ 2 แถบไชยบุรี โดยล่าสุดได้พาร์ตเนอร์ท้องถิ่นในหลวงพระบาง ที่จะร่วมดำเนินการในโครงการนี้แล้วคือ กลุ่มบริษัทภูสีก่อสร้าง จำกัด
ขณะที่โครงการก่อสร้างถนนจากด่านชายแดนห้วยโก๋น จ.น่าน – ปากแบ่ง สปป.ลาว ระยะทางประมาณ 50 กม.มูลค่าก่อสร้างรวม 790 ล้านบาท ที่ หจก.แพร่ธำรงวิทย์ ได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 ภายใต้อายุสัญญา 32 เดือนนั้น มีความคืบหน้าไปกว่า 40%แล้ว
นายวรงค์ ยังกล่าวถึงโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคใน สปป.ลาว ภายใต้กรอบสี่เหลี่ยม – หกเหลี่ยมเศรษฐกิจ ที่เขาสนใจ-มีแผนงานที่จะเข้าไปยื่นซองประมูลรับเหมาอีกว่า อีกโครงการหนึ่งที่กำลังดูอยู่ก็คือ โครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย – เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ที่จะเชื่อมโยงเข้ากับถนน R3a ที่ หจก.แพร่ธำรงวิทย์ เข้าไปรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง
เพียงแต่โครงการนี้ อาจจะต้องรอดูนโยบายรัฐบาล จีน – ไทย ที่เป็นเจ้าของเงินก่อสร้างฝ่ายละ 50%ก่อนว่าจะออกมาในลักษณะไหน โดยเฉพาะในประเด็นสัญชาติของผู้รับเหมา เบื้องต้นคาดว่ารัฐบาลทั้ง 2 ประเทศอาจจะมีเงื่อนไขให้ใช้บริษัทร่วมทุนไทย-จีนเข้ามาดำเนินการก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเขาก็ต้องหาพาร์ตเนอร์ จีนเข้ามา แต่ก็ต้องดูด้วยว่า พาร์ตเนอร์นั้นไปด้วยกันได้หรือไม่
“การมีพาร์ตเนอร์สำหรับการลงทุนในแถบอินโดจีน ถือเป็นประเด็นสำคัญ และมีผลต่อความสำเร็จในเนื้องาน ถ้าได้เจ้าถิ่นดี ย่อมจะช่วยทำให้งานราบรื่นตามแผน แต่ถ้าพาร์ตเนอร์ไม่ได้ แน่นอนว่าปัญหาจะตามมาอีกมาก ดังนั้น ถ้าเราหาพาร์ตเนอร์ที่เชื่อมือกันไม่ได้ เราก็จะเลือกที่จะไม่ทำดีกว่า เพราะยังมีโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคใน สปป.ลาว ให้ดำเนินการอีกมากใน 5 ปีจากนี้ทำไม่หมดแน่นอน ทั้งเขื่อนที่อนุมัติไปแล้ว 11 เขื่อน ถนนอีกหลายเส้นทางแต่ต้องไม่ใช่การตีหัวเข้าบ้านเหมือนยุคก่อน”
กว่าทศวรรศยุทธศาสตร์คุน-มั่ง กง ลู่
ถนนไทย–ลาว–จีน(R3a) ระยะทาง 250 กม. ส่วนหนึ่งของเส้นทางสายคุนหมิง–กรุงเทพฯ หรือ คุน-มั่ง กง ลู่ (เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว–ด่านบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ติดชายแดนจีนที่เมือง Mohan อ.เหมิ่งล่า เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน) เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 2538 ภายใต้โครงการ“สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ” ผ่านมือกลุ่มทุนผู้รับสัมปทานก่อสร้างถนนจากไทยมาแล้วถึง 2 กลุ่มด้วยกัน คือ
-กลุ่ม“ครอบครัวอุษา” ของตระกูล “แซ่เตี๋ยว” แห่งเชียงใหม่ ที่ 1 ในทายาทได้เป็น“เขยลาว” โดยผู้เป็นพ่อตาถือเป็นผู้ที่มีคอนเนกชันกับชนชั้นนำของรัฐบาลลาว อย่างแนบแน่น แต่ก็มีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุน
-บริษัทร่วมพัฒนาสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ จำกัด ที่เข้ารับสัมปทานแทน“ครอบครัวอุษา” แต่ก็มีปัญหาเรื่องแหล่งเงินทุนอีก เนื่องจาก ADB ไม่ยอมปล่อยเงินกู้ให้ เนื่องจากเป็นบริษัทเอกชน ขณะที่รัฐบาลลาว ก็ไม่ยอมที่จะค้ำประกันเงินกู้ให้ เพราะบริษัทไม่ใช่รัฐวิสาหกิจของลาว จนกระทั่งวันที่ 25 กันยายน 2541 รัฐบาลลาวได้ยกเลิกสัมปทานทำถนนเส้นนี้ เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง
กระทั่งเดือนมกราคม 2545 ADB ได้เข้ามาเป็นตัวกลางจัดประชุม 3 ฝ่าย(ไทย ลาว จีน) เพื่อแก้ปัญหาการพัฒนาเส้นทางสายนี้ตามที่รัฐบาลลาว ได้ร้องขอไปเมื่อปี 2541 ซึ่งในการประชุมคราวนี้ ที่ประชุมมีมติที่จะสร้างถนนสายนี้เป็น 2 เลน ระยะทาง 228 กม. แบ่งออกเป็น 3 ช่วงตามแหล่งเงินทุนและความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน ไทย และADB โดยเริ่มปรับปรุงตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
ช่วงที่ 1 จากด่านบ่อเต็น-น้ำลัง แขวงหลวงน้ำทา(กิโลเมตรที่ 160.8–228.3) ระยะทาง 66.43 กม. จีนเป็นผู้รับผิดชอบ ก่อสร้างโดยเงินให้เปล่า 249 ล้านหยวน และเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยอีก 449 ล้านหยวน ซึ่งการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว เดิมมีกำหนดส่งมอบในเดือนพฤษภาคม 2550 แต่รัฐบาลลาว ได้ขอให้รัฐบาลจีน ขยายเวลารับประกันออกไปอีก 1 ปีเป็นเดือนพฤษภาคม 2551
ช่วงที่ 2 จากน้ำลัง–บ้านสอด(กิโลเมตรที่ 84-160.8 เวียงภูคา–บ้านน้ำลัง) ระยะทาง 76.80 กิโลเมตรที่ ADB ให้รัฐบาลลาว กู้จำนวน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการก่อสร้างถนนช่วงนี้ บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการของไทยเข้ามารับดำเนินการ จนถึงขณะนี้การก่อสร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์เช่นกัน เหลือเพียงระยะสุดท้ายที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการตัดเส้นทาง บดอัด ราดยาง อีกประมาณ 20 กิโลเมตรโดยถนนช่วงนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 สิ้นสุดมีนาคม 2550 แต่ก็ได้รับการขยายเวลาออกไปอีก 10 เดือนเพื่อปรับระดับความลาดชันไม่ให้เกิน 10%
ช่วงที่ 3 จากบ้านสอด–เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว(กิโลเมตรที่ 0-กิโลเมตรที่ 84) ระยะทาง 84.77 กิโลเมตร ที่รัฐบาลไทยให้ลาว กู้จำนวน 1,210 ล้านบาท เปิดประมูลเมื่อปลายปี 2546 โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่ธำรงวิทย์ กลุ่มทุนรับเหมาก่อสร้างท้องถิ่นของภาคเหนือที่มีฐานที่มั่นอยู่ในจังหวัดแพร่–น่าน กระโดดเข้ามารับงาน ระยะเวลาก่อสร้าง 33 เดือน เริ่มจากสิงหาคม 2546–มิถุนายน 2550 แต่ได้รับการขยายเวลาเพื่อปรับความลาดชันของถนนไม่ให้เกิน 10% อีก 10 เดือนสิ้นสุดเมษายน 2551 แต่คาดว่าภายในสิ้นปีถนนช่วงนี้จะเสร็จสมบูรณ์ 100%
หลังจากถนน R3a เสร็จสมบูรณ์ในปีนี้ ก็จะเชื่อมต่อกับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ภายใต้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท ที่ไทย-จีน ตกลงที่จะสนับสนุนฝ่ายละ 50% ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดจุดก่อสร้างแล้วโดยฝั่งลาว จะอยู่ที่บริเวณบ้านดอนขี้น(กิโลเมตรที่ 9) เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ฝั่งไทยจะอยู่ติดบ้านดอนมหาวัน ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ห่างจากตัวเมืองเชียงของประมาณ 10 กม.เศษ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2553 โดยประมาณ