xs
xsm
sm
md
lg

เสถียรภาพทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

เสถียรภาพทางการเมือง (political stability) เป็นสิ่งซึ่งคนในสังคมอยากให้เกิดขึ้นทุกสังคม ทั้งนี้เมื่อมีเสถียรภาพเกิดขึ้นแล้วก็จะเกิดความมั่นใจว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามครรลอง มีความอุ่นใจว่ากระบวนการทางการเมืองจะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ต่างๆ มีการแก้ปัญหาอย่างสัมฤทธิผล สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนและนักธุรกิจ

แต่คนจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจกระจ่างถึงคำว่าเสถียรภาพทางการเมือง จึงมีคำกล่าวที่ว่า ถ้าการเมืองนิ่งซึ่งหมายถึงไม่มีการประท้วงรัฐบาล ไม่มีความปั่นป่วน ทุกอย่างลื่นไหลไปอย่างเรียบร้อยก็จะส่งผลดีต่อการลงทุน และต่อความเจริญรุ่งเรืองของธุรกิจ ต่อการบริหารประเทศ และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงบางคนเข้าใจว่าการเมืองนิ่งหมายถึงมีความสงบเรียบร้อย เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร เคยตอบผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า เมืองไทยไม่มีการประท้วงทางการเมือง ทำนองว่าทุกอย่างเรียบร้อย ซึ่งคำกล่าวที่กล่าวนี้กล่าวขึ้นก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คำว่า นิ่ง หลายคนเข้าใจคำว่านิ่งอย่างผิดๆ เพราะการเมืองนิ่งในความหมายดังกล่าวมาแล้วนั้นคือความแน่นิ่ง (static ) หรือ immobilism จะเกิดขึ้นได้ในเฉพาะระบบเผด็จการเด็ดขาดที่คนไม่มีสิทธิ์มีเสียง อยู่ในอำนาจรัฐอย่างสมบูรณ์แบบ ระบบการเมืองเช่นนี้ไม่เป็นที่พึงประสงค์ ขาดจิตวิญญาณ

เสถียรภาพทางการเมืองนั้นมี 2 ส่วน ส่วนแรกได้แก่ เสถียรภาพของระบบการเมือง ส่วนที่สองได้แก่ เสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งได้แก่คณะบุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐ การกล่าวถึงเสถียรภาพทางการเมืองจึงต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งสองส่วนมีความเกี่ยวพันกัน ในเบื้องต้นเสถียรภาพของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ย่อมขึ้นอยู่กับว่าเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภาของอังกฤษหรือแบบระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ระบบการปกครองแบบรัฐสภาอังกฤษไม่มีหลักประกันใดว่ารัฐบาลหรือผู้ใช้อำนาจรัฐจะอยู่ครบวาระ 4 ปี เพราะรัฐบาลอาจจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจมีการลาออก อาจมีการปรับ ครม.อาจมีการผลัดเปลี่ยนกันมาเป็นรัฐบาล ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจในการยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ ดังนั้น จึงอาจมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลัง 6 เดือน 1 ปี 2 ปี หรืออาจจะมีการยุบสภาหลัง 1 ปี 2 ปี 3 ปี แล้วแต่กรณี แต่ตราบเท่าที่ทุกอย่างยังดำเนินไปตามครรลอง มีการตั้งรัฐบาลใหม่ได้ มีการเลือกตั้งตามปกติหลังการยุบสภา ก็ต้องถือว่าระบบยังอยู่ทั้งโครงสร้างและกระบวนการ อย่างนี้เรียกว่ามีเสถียรภาพทางการเมืองของระบบ ส่วนเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนโดยมีวาระอยู่ในตำแหน่ง 4 ปี ส.ส. และวุฒิสมาชิกก็มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน โดยวุฒิสมาชิกอยู่ในตำแหน่ง 6 ปี ส.ส. 2 ปี ไม่มีการยุบสภา ไม่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดี ประธานาธิบดีจะอยู่ในตำแหน่งครบ 4 ปี ยกเว้นจะถูกถอดถอนเนื่องจากทำผิดกฎหมาย ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีนี้มีเสถียรภาพต่อเนื่องทั้งของระบบและของรัฐบาล แต่ประธานาธิบดีก็อยู่ได้เพียง 2 สมัยคือ 8 ปี บางคนก็อยู่เพียง 1 สมัย คือ 4 ปี

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของอังกฤษนั้น ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนบ่อยครั้งก็อาจจะส่งผลกระทบในทางลบดังต่อไปนี้ คือ

1. นโยบายที่รัฐบาลนำไปปฏิบัตินั้นอาจจะไม่สำเร็จเพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล

2. ข้าราชการประจำอาจจะหวั่นไหว ไม่มั่นใจว่าควรจะทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ

3. นักลงทุนภายในและต่างประเทศไม่กล้าที่จะลงทุน เพราะไม่มั่นใจในความมั่นคงในนโยบายของรัฐบาล

4. นักการเมืองไม่มีความมั่นใจว่าจะอยู่ในตำแหน่งครบวาระ

5. ประชาชนทั่วไปอาจจะหวั่นไหวไม่มั่นใจนโยบายต่างๆ จึงอาจระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ

ซึ่งในส่วนนี้ย่อมจะส่งผลในทางลบทางการเมืองโดยเฉพาะรัฐบาล หรือมีการเลือกตั้งบ่อยครั้งประชาชนเองก็อาจเกิดความเบื่อหน่าย แต่ตราบเท่าที่ระบบยังอยู่ กล่าวคือ โครงสร้างและกระบวนการยังเหมือนเดิม รัฐบาลลาออกก็ตั้งใหม่ เมื่อยุบสภาก็เลือกตั้งใหม่ จากนั้นก็ตั้งรัฐบาลใหม่ ก็ถือได้ว่าเสถียรภาพทางการเมืองของระบบยังคงอยู่ แต่ก็เป็นเรื่องปกติของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ในความเป็นจริงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่กล่าวมานั้นก็คือส่วนหนึ่งของการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล ถ้ากระบวนการเป็นที่ยอมรับและเกิดความเคยชินก็จะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องที่ขาดเสถียรภาพทางการเมืองแต่อย่างใด

การที่รัฐบาลต้องออกจากตำแหน่งเนื่องจากถูกกดดันโดยการถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือเนื่องจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชน และการต่อต้านของประชาชน กลับเป็นการชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาของระบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้ใช้อำนาจรัฐได้โดยสันติวิธี ภายใต้กลไกของสถาบันการเมือง การกุมอำนาจโดยเด็ดขาดโดยไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เช่น ระบบการปกครองภายใต้ซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย หรือรัฐบาลทหารพม่าในปัจจุบัน กลับกลายเป็นเรื่องอันตราย เพราะดูภายนอกเหมือนจะมีเสถียรภาพแต่เป็นการผูกขาดโดยคนกลุ่มเดียว นั่นคือสภาวะความแน่นิ่งทางการเมืองอย่างแท้จริง การเมืองที่พัฒนาต้องมีความพลวัต มีการเปลี่ยนแปลง มีการขยับตัวเป็นระยะๆ แต่หลักการและกระบวนการใหญ่ๆ อันได้แก่ การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การปรับ ครม. การผลัดกันเป็นรัฐบาล การยุบสภา การเลือกตั้ง ยังเป็นไปตามปกติ ก็ต้องถือว่าเสถียรภาพทางการเมืองยังคงอยู่

ความวิตกวิจารณ์ในขณะนี้คือ ระบบการเมืองยังไม่เข้ารูปเข้ารอย เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังจัดระเบียบการเมืองขึ้นใหม่ การจัดระเบียบการเมืองขึ้นใหม่จะต้องผ่าน 5 ขั้นตอน คือ 1. มีกฎกติกาคือรัฐธรรมนูญ 2. มีการเลือกตั้งอย่างเรียบร้อย 3. มีรัฐสภาครบถ้วน 4. มีรัฐบาล 5. รัฐบาลบริหารประเทศและเข้าสู่สภาวะปกติ

ถ้าทุกอย่างเดินไปตามนี้ก็แปลว่าระบบการเมืองกำลังเข้ารูปเข้ารอย และถ้าดำเนินไปเป็นระยะเวลาหนึ่งก็ถือว่าเสถียรภาพทางการเมืองของระบบเกิดขึ้นแล้ว ส่วนรัฐบาลอาจจะเปลี่ยนแปลงหลังจาก 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วแต่กรณี แต่ตราบเท่าที่ยังอยู่ในกรอบของกฎกติกา ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ การพูดถึงเสถียรภาพทางการเมืองจึงต้องแยกแยะให้เห็นชัดและเข้าใจกระจ่างดังที่กล่าวมานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น