xs
xsm
sm
md
lg

เมื่ออำมาตยาธิปไตยอ่อนล้า ทุนนิยมสามานย์ก็ฟื้นคืนชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากที่ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ยกคำร้อง ของนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งกรณีการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นโมฆะ และ พรรคพลังประชาชนเป็นนอมินี พรรคไทยรักไทย ขณะเดียวกัน กกต.ก็ได้ประกาศรับรองส.ส.ไปแล้ว 460 คน ครบตามเกณฑ์ที่จะทำให้สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกได้

จึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การเมืองในขณะนี้ กลุ่มอำนาจเก่าของพลพรรค "พลังแม้ว" ได้กลับมายึดกุมสถานการณ์ได้อย่างค่อนข้าง เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด

โดยเฉพาะเมื่อนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และนายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ร่วมกันแถลงข่าวตอบรับคำเชิญของพรรคพลังประชาชน ในการเข้าร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เมื่อคืนวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่วนพรรคเล็กอีก 3 พรรคได้ตอบรับไปล่วงหน้าก่อนแล้ว

ทำให้ภาพของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นรัฐบาลผสม 6 พรรค โดยมีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนหลัก มีพรรคชาติไทย เพื่อแผ่นดิน รวมใจไทยชาติพัฒนา มัชฌิมาธิปไตย และประชาราช เป็นแนวร่วม โดยปล่อยให้ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว

ซึ่งปฏิทินการเมืองในช่วงสัปดาห์ที่จะถึงนี้ จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก ในวันที่ 21 ม.ค. จากนั้นวันที่ 23 ม.ค. จะเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเราอาจจะได้เห็นนายยงยุทธ์ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

จากนั้นวันที่ 25 ม.ค. จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเราก็อาจจะได้เป็น นายสมัคร สุนทรเวช เป็นประมุขฝ่ายบริหาร จากนั้นจึงจะมีการเลือกคณะรัฐมนตรี และแถลงนโยบายรัฐบาล

แม้ในการแถลงข่าวเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคชาติไทยและพรรคเพื่อแผ่นดิน ทั้งนายบรรหาร และ นายสุวิทย์ จะไม่ได้ยืนยันถึงจุดยืนในการสนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่พรรคพลังประชาชนจะพิจารณาตัวบุคคลมาดำรงตำแหน่งนี้ และเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. ที่จะตัดสินใจโหวตเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่พรรคไม่สามารถไปบังคับได้

แต่เชื่อเถอะว่า เหตุการณ์ "งูเห่าภาค 2 " คงไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงต้นนี้ สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถือว่าเป็นผู้บงการเกมตัวจริงนั้น จะเอาใครในพรรคพลังประชาชนมาเป็นก็ได้ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

แต่การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ข้ามทวีปมาในทำนองเปิดไฟเขียวให้ นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เพื่อตัดปัญหาแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงการฟอร์มรัฐบาล อีกทั้งยังได้ภาพของความชอบธรรม ยึดมั่นในกติกา เนื่องเพราะเป็นสัญญาประชาคม ที่ประชาชนได้เลือกพรรคพลังประชาชน ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช มาเป็นเสียงข้างมาก

แต่หลังจากนั้น หากนายสมัคร จะต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยปัญหาคดีความ จากเรื่องทุจริตรถดับเพลิง กทม. ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ หรือกรณีหมิ่นประมาท นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. เรื่องกล่าวหาว่ามีการทุจริตในการก่อสร้างอุโมงค์ และสะพานข้ามทางแยก ซึ่งศาลชั้นต้น ได้พิพากษา จำคุก นายสมัคร โดยไม่รอลงอาญาไปแล้ว แต่คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย

ถ้าถึงที่สุดแล้ว นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็สามารถตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่มีคุณสมบัติตามต้องการ ขึ้นมาแทนได้

ดังนั้นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการตั้งรัฐบาลใหม่ ในความคิดของพ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่อยู่ที่การจัดวางคนของตัวเองไปคุมกระทรวงที่มีความสำคัญ กับความมั่นคง และความอยู่รอดของตัวพ.ต.ท.ทักษิณ และเครือญาติ มากกว่า

กระทรวงที่ว่านี้ ได้แก่ กระทรวงการคลัง คมนาคม ท่องเที่ยวและกีฬา มหาดไทย ยุติธรรม และอาจพ่วงด้วยกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงเหล่านี้ จะให้ของพรรคอื่นมาดูแลไม่ได้ เพราะการจะพลิกฟื้นกระแสความนิยมโดยใช้เศรษฐกิจ และเมกะโปรเจกต์เป็นตัวนำ รวมทั้งการปลดเปลื้องคดีความต่างๆ ล้วนขึ้นอยู่กับกระทรวงเหล่านี้

ส่วนกระทรวงที่ถือว่า เป็นกระทรวง เกรดเอ อย่าง กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม เกษตรฯ ศึกษาธิการ หากถึงที่สุดแล้วจำเป็นต้องสละให้พรรคอื่นๆ เพื่อความราบรื่นในการตั้งรัฐบาล ก็ต้องยอมตัดใจ แม้กระทั่ง กระทรวงกลาโหม ก็ต้องยอม หากเป็นเงื่อนไขที่ทางฝ่ายกองทัพยื่นข้อเสนอมา

เพราะผู้ที่เข้าใจในธุรกิจการเมืองอย่างทะลุปรุโปร่ง ย่อมคิดคำนวนถึงผลได้ผลเสีย อย่างรอบด้านแล้ว แม้จะต้องเสียบางส่วนไปบ้าง แต่เพื่อแลกับสิ่งที่จะได้มาที่คุ้มค่ากว่า ก็ต้องยอมตัดใจ เพราะมันคือธุรกิจ ซึ่งจะสะท้อนออกมาในภาพของเกมการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีที่จะมีขึ้น

ในยามที่อำมาตยาธิปไตยอ่อนล้า เราจะได้เห็นรัฐบาลทุนนิยมสามานย์ ในสัปดาห์หน้านี้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น