ศูนย์ข่าวศรีราชา – เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ลั่นปัญหามลพิษมาบตาพุดยังไม่มีการแก้ไข แต่รัฐกลับอนุมัติให้มีการก่อสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นอีก 12 โรง เผยปลายเดือนมีนาคมนี้ เตรียมชุมนุมรวมพลังครั้งใหญ่ อย่างสงบ สันติ ยืดเยื้อ เพื่อกดดันรัฐบาลอีกรอบ ก่อนมลพิษลุกลามทั่วเมือง
นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวถึงสถานการณ์มลพิษอุตสาหกรรม ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ว่า ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เครือข่ายฯและชาวบ้านรอบนิคมมาบตาพุด มีการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด เพื่อให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ และเร่งประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งจะนำมาสู่การจัดทำแผนขจัดมลพิษและกำหนดค่ามาตรฐานการระบายมลพิษเฉพาะพื้นที่รวม โดยเปิดโอกาสให้ท้องถิ่น จังหวัด และประชาชนมีส่วนร่วม ในการควบคุมตรวจสอบโรงงานอย่างจริงจังและมีกฎหมายรับรอง
จนถึงปัจจุบัน พบว่า รัฐบาลไม่ได้ประกาศพื้นที่เป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อจัดทำแผนลดมลพิษ และศึกษาความสัมพันธ์ด้านสุขภาพ และนายโฆสิต ปั้นปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมระบุชัดเจนว่า ภายใน 1 ปี ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้จะประกาศเขตควบคุมมลพิษทันที แผนลดมลพิษ 2551 - 2554 ซึ่งได้ตั้งเป้าลดมลพิษให้เหลือศูนย์ในระยะเวลา 5 ปี ในทางปฏิบัติแผนงานดังกล่าวก็เป็นไปได้แค่แผนงานเท่านั้น โดยไม่ได้ลงสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง ปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่
สำหรับปัญหาต่าง ๆที่ยังพบในพื้นที่มาบตาพุด คือ มีการตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยในปัสสาวะของประชาชน รอบมาบตาพุดจำนวนมาก โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง นอกจากนั้นยังมีการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมของโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมมาบตาพุดจำนวนมาก และไม่มีการดำเนินการหาโรงงานที่กระทำผิดมาลงโทษ เช่น ทิ้งขี้เถ้าถ่านหินลงทะเล / นำน้ำกรดไปทิ้งลงคลองตากวน ทำหลุมทิ้งขยะจากโรงงานเอง เป็นต้น
นอกจากนั้น มีการระบายมลพิษอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเวลาช่วงกลางคืน ถึงแม้กรมโรงงานและกรมควบคุมมลพิษจะปรับลดการระบายมลพิษ โดยขอความร่วมมือจากโรงงานให้มีการปรับแก้จุดรั่วซึมที่มีนัยสำคัญไปแล้วประมาณร้อยละ 60 ตามที่มีการชี้แจงแล้วก็ตามของคณะอนุกรรมการเทคนิค แต่ชาวมาบตาพุดก็ยังไม่เห็นมีการลดลงได้จริง ยังคงมีกลิ่นเหม็น และชาวบ้านยังเจ็บป่วยอยู่ เพราะไม่มีใครได้เห็นกระบวนการ กรรมวิธีในการปรับลดมลพิษ เนื่องจากเขตโรงงานห้ามเข้า
ที่สำคัญก็ยังไม่มีการนำเข้าเทคโนโลยีชั้นดีมาติดตั้งให้ประชาชนเห็น และสัมผัสได้ ทั้งเทคโนโลยีในการปรับลดสารอินทรีย์ระเหย และเทคโนโลยีในการปรับลด Nox,Sox แม้กระทั่งเครื่องตรวจวัดอากาศประสิทธิภาพสูงของกรมควบคุมมลพิษเองและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( กนอ.)ก็ยังไม่มีกำลังสั่งซื้ออยู่ รวมถึงที่มีอยู่ก็ตั้งไม่ถูกทิศทางลม และไม่ครอบคลุมพื้นที่ มีบางเครื่องเสียใช้ไม่ได้บางเครื่องก็มี เทคโนโลยีในการบำบัดน้ำทิ้งของโรงงานก็เป็นเทคโนโลยีรุ่นเดิมไม่มีอะไรใหม่ / บ่อน้ำตื้นของชาวบ้านก็ยังคงใช้ไม่ได้เหมือนเดิม แม้จะมีการล้างบ่อเพื่อพิสูจน์ไปแล้วบางบ่อก็ตาม
นายสุทธิ กล่าวว่าต่อ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่มีความน่าเชื่อถือและเชื่อมั่น รวมถึงพิสูจน์ได้ว่าลดมลพิษได้จริง ตามที่มีการแถลงข่าวหรือชี้แจงออกมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหมือนกับการแก้ปัญหาด้วยปากพูดแต่ไม่ได้ลงมือกระทำแต่อย่างใด นอกจากมีการย้ายโรงพยาบาล และไปสร้างโรงพยาบาลมาบตาพุดแห่งใหม่เท่านั้น ทั้งๆที่ชาวบ้านต้องการความรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในการเฝ้าระวังสุขภาพให้ปลอดภัยในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยมลพิษ จากหลายแหล่งกำเนิด อย่างเช่น ในพื้นที่มาบตาพุด เงินกองทุนทั้ง 2 กองทุน กองทุนระยองเข้มแข็ง และกองทุนคุณภาพชีวิตคนมาบตาพุด ก็ยังไม่ได้ใช้ แถมที่ใช้ไปแล้วก็ใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ เช่น นำไปซื้อผลไม้เป็นต้น รวมถึงขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน ทั้งหมดกระจุกอยู่แค่คนไม่กี่คนที่ กนอ.แต่งตั้งมาเท่านั้น
จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น สรุป คือ ปัญหามลพิษที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ที่ติดนิคมมาบตาพุดยังไม่สามารถแก้ไขได้ ขาดความจริงจัง ไม่เอาจริง การแถลงข่าวของหน่วยงานต่างๆ แค่แถลงโดยคำพูดและยกตัวเลขในผลการแก้ไขที่ไม่มีการปฏิบัติจริง และพิสูจน์ไม่ได้ , ไม่มีตัวชี้วัดใดๆ ขาดการมีส่วนร่วม บิดเบือนความจริงให้คนในประเทศเข้าใจว่าแก้ไขได้แล้ว
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ชาวมาบตาพุด จะเดินหน้าต่อไปเพื่อให้ปัญหาลดลงหรือหมดไป โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมาย ในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ประกาศพื้นที่นี้เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ ซึ่งขณะนี้ศาลกำลังไต่สวนคดีอยู่ ดังนั้น เครือข่ายฯต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ชอบแถลงข่าวว่าแก้ไขปัญหาได้แล้ว ถ้าการแก้ไขปัญหาไม่ได้จริง จะขอลาออกจากตำแหน่ง หรือ จะรับผิดชอบต่อถ้อยคำที่แถลงไว้ ซึ่งก็ไม่มีปรากฏให้เห็นแต่อย่างใด
ที่สำคัญ ปัญหาต่างๆยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง รัฐบาล(ขิงแก่) ก็ไม่น่าอนุญาตให้มีการสร้างโรงงานเพิ่มเติมในพื้นที่นี้อีกจำนวน 12 โรงงาน รวมทั้งโรงไฟฟ้าจึงนัดชุมนุมใหญ่เปิดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ในนิคมฯมาบตาพุด สันติ ยืดเยื้อ สงบ เพื่อเป้าหมาย คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และหยุดขยายโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง รวมถึงกลุ่มปิโตรเคมีระยะที่ 3 ด้วย ปลายเดือนมีนาคม 2551
“ ชาวระยองอดทนมาถึงที่สุดแล้ว ใช้หลากหลายรูปแบบในการต่อสู้ และบอกกล่าว รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่รัฐบาลก็ยังเชื่อนายทุนและเอื้อนายทุนอยู่ตลอด อ้างแค่ต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลข GDP เพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้น ไม่เคยมองปัญหาด้านอื่นๆที่จะตามมา ไม่สนใจการทำลายสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนชาวระยองเลย มองคนระยองเหมือนลูกไก่ในกำมือ และหาเศษเงินมาปิดปากไม่ให้พูดถึงปัญหา ไม่ให้โวยวาย ไม่ให้แก้ปัญหา ไม่สร้างการมีส่วนร่วมอยู่ตลอดเวลา และทำอย่างนี้มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยมีปัญหาย้ายโรงเรียนมาบตาพุดเมื่อปี 2540 แล้ว ปัจจุบันก็ยังใช้รูปแบบอย่างนี้อยู่ ”
ทั้งนี้ ขอให้นายทุนและรัฐบาลหยุดดูถูกชาวระยอง หยุดปิดปากคนระยองด้วยการใช้เงินฟาดหัว แต่ขอให้เคารพคนระยองด้วยการสร้างความรู้ด้านมลพิษ สร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และทั่วถึง ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและที่สำคัญ พอกันทีสำหรับการพัฒนาที่เบียดบัง และหันมาสร้างเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระพี่นางฯต่อไป