xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นดิ่งทั่วโลกพิษซับไพรม์ลามหนักมูลค่า ตลท.วูบล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน/เอเอฟพี/รอยเตอร์ - พิษซับไพรม์ป่วนตลาดหุ้นทั่วโลก หลัง "ซิตี้กรุ๊ป" ประกาศตัวเลขขาดทุนสุดโต่ง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยผันผวนหนัก ดัชนีลดวูบหลุด 760 จุด ติดลบกว่า 22 จุด ก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาในชั่วโมงสุดท้ายดันดัชนีฟื้นปิดติดลบแค่ 6 จุด ทำให้มาร์เกตแคป 3 เดือนหายวับ 1 ล้านล้าน โบรกเกอร์คาดรอบนี้ฝรั่งอาจขาย 4-5 หมื่นล้าน จากต้นปีทิ้งไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ย้ำรอผลยุบ "พปช." 18 ม.ค.นี้ก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน ด้าน "ภัทรียา" ชี้ 3 ปัญหาใหญ่กระทบหุ้น ส่วน "มนตรี" แนะถือเงินสด 50% ของพอร์ตลงทุน ส่วนตลาดหุ้นในแถบเอเชีย โตเกียวพังพาบลงมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ขณะที่ฮ่องกงดำดิ่งถึง 5.4% ภายหลังวอลล์สตรีทในคืนวันอังคาร(15) นำร่องลดฮวบฮาบ

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (16 ม.ค.) ได้รับผลกระทบจากการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 4 /50 ของซิตี้กรุ๊ป ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ที่ขาดทุนกว่า 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นผลจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง

โดยระหว่างวันดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงหลุดระดับ 760 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ก่อนมีแรงซื้อกลับเข้ามาในช่วงท้ายตลาด ทำให้ดัชนีดีดกลับมาปิดที่ 773.80 จุด ลดลง 5.99 จุด หรือ 0.77% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของวัน และต่ำสุดที่ 757.65 จุด ซึ่งลดลงถึง 22.14 จุด มูลค่าการซื้อขาย 21,093.32 ล้านบาท

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,684.49 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 445.62 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 2,238.87 ล้านบาท

หากพิจารณามูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป) ในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน พบว่ามาร์เกตแคปปรับตัวลดลงมาแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท จากเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 50 มาร์เกตแคปสูงสุดที่ 7.05 ล้านล้านบาท และลดลงเหลือ 6.02 ล้านล้านบาท (16 ม.ค.51) หรือลดลง 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 14.61%

ขณะเดียวกันการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทย ยังส่งผลให้กองทุนเปิดไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 อีทีเอฟ หรือ TDEX ซึ่งเป็นกองทุนที่อ้างอิงการเคลื่อนไหวของดัชนี SET 50 ปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.50 หน่วยละ 5.68 บาท ล่าสุด (16 ม.ค. 51) ราคาปิดที่ 5.64 บาท ลดลง 0.07 บาท หรือ 1.23% มูลค่าการซื้อขาย 177.08 ล้านบาท

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยผันผวน เพราะได้รับแรงกดดันทั้งปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ อาทิ ปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน การคำนวณค่าเช่าส่งท่อก๊าซของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปัญหาความเสียหายจากปัญหาซับไพรม์ที่อาจจะนำไปสู่ภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ดัชนีปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงถือเป็นจังหวะดีที่นักลงทุนจะเข้ามาซื้อ รวมถึงผู้ที่ต้องการสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากการลงทุนในกองทุนหุ้น เนื่องจากหากคอยซื้อในช่วงปลายปีอย่างเดียวดัชนีอาจจะฟื้นตัวจนทำให้ต้นทุนการลงทุนสูงขึ้น รวมทั้งพี/อี เรโช ตลาดหุ้นไทยลดลงมาอยู่ในระดับต่ำแล้วเพียง 11.29 เท่า จากก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 13-14 เท่า

"หลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เข้ามากระทบต่อการลงทุน และในวันที่ 18 ม.ค.นี้จะต้องจับตาเรื่องการตั้งรัฐบาล รวมถึงความชัดเจนกรณีค่าเช่าท่อของปตท. หากทั้ง 2 เรื่องชัดเจนน่าจะช่วยคลายกังวลต่อตลาดหุ้นไทยได้"นางภัทรียา กล่าว

แนะถือเงินสด 50 %

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นในช่วงนี้ยังถูกกดดันด้วยปัจจัยลบหลายเรื่องส่งผลทำให้การเคลื่อนไหวของดัชนีในแต่ละวันจะเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยส่วนตัวมองแนวรับที่ 700 จุด และแนวต้านในปีนี้อยู่ที่ 1,000 จุด

สำหรับการลงทุนในช่วงนี้แนะนำนักลงทุนถือเงินสดในสัดส่วน 50% ของพอร์ตการลงทุน และรอจังหวะเข้ามาทยอยเก็บหุ้นที่มีพื้นฐานดีที่ราคาหุ้นต่างจากราคาพื้นฐานค่อนข้างมาก โดยหุ้นที่ยังถือว่าน่าสนใจคือกลุ่มพลังงาน เพราะราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

นายวีระชัย ครองสามสี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า แม้ตลาดหุ้นจะยังปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นเพื่อนบ้าน แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่าวันที่ 18 ม.ค.นี้น่าจะมีการแถลงจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการได้

"ตลาดหุ้นวันนี้มีโอกาสที่ดัชนีจะรีบาวน์ได้ โดยประเมินแนวรับอยู่ที่ 760 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 780 จุด ขณะที่ประเด็นการเมืองในประเทศยังเป็นประเด็นหลักที่ต้องติดตาม โดยกลยุทธ์ช่วงนี้ให้ถือเงินสดสัดส่วน 70% ขณะที่อีก 30% ให้รอจังหวะเข้าลงทุน"

มึน!พิษซับไพรม์ลามไม่จบ

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากตัวเลขขาดทุนอย่างหนักของซิตี้กรุ๊ป จนทำให้สถาบันจัดอันดับสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือจากระดับ AA มาสู่ AA- แล้ว ยังต้องติดตามปัญหาซับไพรม์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจบในเร็ววันจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสถานการเงินอื่นๆ อีกหรือไม่ รวมทั้งคงต้องรอตัวเลขอย่างเป็นทางการของสถานบันการเงินต่างๆ ที่จะประกาศออกมาด้วย

"ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลก จนถึงปัจจุบันยังประเมินได้ยากว่าปัญหาจะสิ้นสุดเมื่อใด และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากปัญหาในครั้งนี้จะต้องใช้ระยะเวลามากน้อยเพียงใด หลังจากตัวเลขที่ประกาศออกมาในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมารวมแล้วสูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ค่อนข้างมาก"

ส่วนประเด็นที่นักลงทุนต่างประเทศแห่ขายหุ้นออกมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมารวมแล้วกว่า 2.4 หมื่นล้านบาทนั้น จากข้อมูลในอดีตในรอบนี้อาจจะมีการขายสุทธิต่อเนื่องถึง 4-5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีความจำเป็นต้องขายเพิ่มนำเงินไปชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในซับไพรม์ โดยยอดซื้อสุทธิของต่างชาติในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 5.4 หมื่นล้านบาท

โตเกียวต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี

ด้าน บรรดาดีลเลอร์ทั่วโลกต่างให้ความเห็นทำนองเดียวกันว่า นักลงทุนพากันเทขายแรง เนื่องจากความวิตกที่ว่า ฤทธิ์เดชของวิกฤตสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ปล่อยให้ผู้กู้ด้อยคุณภาพ(ซับไพรม์)ในสหรัฐฯ กำลังทำให้เศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมอยู่ในขั้นย่ำแย่ โดยที่ตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดยังแสดงว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯประมาณสองในสาม ก็อยู่ในอาการหดตัวลงอย่างชัดเจนแล้ว

"ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาของสิ่งทั้งหมดนี้ ซึ่งปะทุขึ้นมาค่อนข้างกะทันหันทีเดียว ก็คือการเกิดความตระหนักกันขึ้นมาว่า ผลพวงต่อเนื่องของวิกฤตซับไพรม์นั้น กำลังส่งผลกระทบอย่างจริงจังต่อผลประกอบการของภาคบรรษัทเมื่อมองในทางการเงิน และก็ส่งผลกระทบต่อตัวเศรษฐกิจโดยรวมด้วย" ไมก์ เลนฮอฟฟ์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์แห่ง บริววิน ดอลฟิน ซีเคียวริตีส์ ในกรุงลอนดอน ให้ความเห็น

การทรุดตัวของตลาดหุ้นทั่วโลกระลอกนี้ เริ่มต้นจากวอลล์สตรีทวันอังคาร ซึ่งมีปัจจัยด้านลบหลายๆ ประการทับซ้อนกันเข้ามา จนกระทั่ง ไมเคิล เจมส์ เทรดเดอร์อาวุโสแห่ง เวดบุช มอร์แกน ในลอสแองเจลิส บอกว่า "มันเป็นเพอร์เฟ็กซ์สตอร์มแห่งปัจจัยด้านลบเลยในวันนี้"

เริ่มตั้งแต่ ซิตี้กรุ๊ป กลุ่มกิจการธนาคารใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯเมื่อวัดจากตัวเลขสินทรัพย์ แถลงถึงการหั่นลดการจ่ายเงินปันผลลงมาราว 40% เนื่องจากประสบการขาดทุนในไตรมาส 4/2007 ถึง 9,830 ล้านดอลลาร์ โดยที่สำคัญแล้วมาจากการต้องตัดลดมูลค่าสินทรัพย์ประเภทพัวพันกับสินเชื่อซับไพรม์ลงมาถึง 18,100 ล้านดอลลาร์ แต่ทั้งนี้ตัดลดลงมาเช่นนี้ ซิตี้ก็ยังมีสินทรัพย์ประเภทนี้อยู่อีก 37,000 ล้านดอลลาร์

ข่าวผลประกอบการของซิตี้นี้ ลงท้ายก็ทำให้หุ้นซิตี้ปิดตลาดวันอังคารโดยติดลบ 7.3% หรือ 2.12 ดอลลาร์ต่อหุ้น อีกทั้งยังเพิ่มความกังวลให้แก่นักลงทุนว่า วิกฤตสินเชื่อทั่วโลกยังห่างไกลจากการยุติปิดฉาก

ภาพรวมของวอลล์สตรีทยิ่งมืดมัวลงอีก หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯแถลงว่า ยอดขายปลีกประจำเดือนธันวาคมทรุดตัวลงถึง 0.4% ต่ำยิ่งกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์เคยคาดเอาไว้ที่ลบ 0.1% และก็เป็นอัตราประจำเดือนธันวาคมที่ย่ำแย่ที่สุดนับแต่ปี 2002 เป็นต้นมา

ตัวเลขเช่นนี้บ่งบอกว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นมาก ตลอดจนราคาบ้านซึ่งยังคงทรุดลงเรื่อยๆ ได้ทำให้ผู้บริโภคไม่อยากใช้จ่ายกันในระหว่างช่วงช็อปปิ้งต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส
 
นอกจากนี้แล้ว ยังมีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลที่ว่า บริษัทโบอิ้ง อาจจะต้องเลื่อนการส่งมอบเครื่องบินโดยสารใหม่เอี่ยมรุ่น 787 ดรีมไลเนอร์ ออกไปอีกครั้งหนึ่ง โดยข่าวนี้ทำเอาหุ้นโบอิ้งดิ่งลง 4.7%

รวมทั้งข่าวที่นักลงทุนไม่ประทับใจกับข้อเสนอใหม่ๆ ของบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ ในงานประชุมประจำปี แมคเวิร์ลด์ ที่ซานฟรานซิสโก ก็ทำให้หุ้นแอปเปิลลบหายไป 5.4% เช่นกัน
 
ในตอนปิดตลาดวันอังคาร ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ได้ตกลงมา 277.04 จุด หรือ 2.17% ส่วนดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ก็ติดลบ 2.49% และดัชนีหุ้นคอมโพสิต ของตลาดแนสแดค ถอยลงมา 2.45%

เมื่อถึงช่วงการซื้อขายของแถบเอเชีย ตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้ก็พากันร่วงตามวอลล์สตรีท ดัชนีหุ้นนิกเกอิ 225 ของตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ถลาลงมา 3.35% ยืนอยู่ในระดับซึ่งต่ำที่สุดนับแต่เดือนตุลาคม 2005

ยิ่งหุ้นฮ่องกงด้วยแล้ว ทรุดหนักถึง 5.4% ขณะที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมักถูกมองว่าค่อนข้างมีภูมิคุ้มกันจากความลำบากของเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้น ก็ยังติดลบ 2.81%

สำหรับสิงคโปร์ติดลบ 3.05%, โซลลบ 2.4%, ซิดนีย์ ลบ 2.5%, ไทเป 2.96%
ที่ญี่ปุ่นนั้น นายกรัฐมนตรียาสุโอะ ฟุคุดะ กล่าวเตือนว่า การขาดทุนมหึมาของซิตี้กรุ๊ป "อาจกระทบกระเทือนไม่เพียงเศรษฐกิจสหรัฐฯเท่านั้น แต่เศรษฐกิจของทั่วโลกด้วย"
 
แต่ทางด้านรัฐมนตรีคลัง ฟุคุชิโระ นาคางะ ได้เรียกร้องตลาดอย่าเน้นความสำคัญจากผลกระทบของความลำบากในสหรัฐฯให้มากจนเกินไป

"ผมคิดว่ากระแสเสียงที่แฝงฝังอยู่อย่างสม่ำเสมอของเศรษฐกิจโลก ยังคงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง" เขากล่าวกับผู้สื่อข่าว

ความวิตกเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯทำท่าถดถอย ยังส่งผลต่อให้ราคาหุ้นในตลาดแถบยุโรปช่วงเช้าวานนี้ พากันทรุดตัวเช่นกัน โดยในราวเที่ยงวัน ลอนดอนติดลบ 1.17%, แฟรงเฟิร์ต ลบ 1.15%, และปารีส ลบ 0.91%

ในส่วนของตลาดเงินตรา ปรากฏว่าข่าวเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ยิ่งเกิดความมั่นใจกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับลดดอกเบี้ยแน่ๆ ในการประชุมตอนสิ้นเดือนนี้ โดยน่าจะลดกันแรงๆ ถึง 0.5% นักวิเคราะห์บางคนกระทั่งเก็งว่าอาจถึง 0.75% ด้วยซ้ำไป เหล่านี้ก็ได้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง

ช่วงบ่ายวานนี้ที่ลอนดอน 1 ดอลลาร์แลกได้เพียง 105.93 เยน ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ขณะที่แลกเงินสวิสได้เพียง 1.0839 ฟรังก์สวิส ต่ำที่สุดเป็นสถิติใหม่ แต่เมื่อเทียบกับเงินยูโรแล้ว 1 ยูโรยังคงอยู่แถวๆ 1.48 ดอลลาร์ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เนื่องจากยูโรได้แข็งค่าขึ้นมากแล้วในช่วงหลังๆ มานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น