ตรัง – ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง เผยกระทรวงคมนาคมมีหนังสือตอบรับ พร้อมให้การสนับสนุนขยายเส้นทางคมนาคมของจังหวัด เพื่อความสะดวกในการขนส่งสินค้า และเดินทางท่องเที่ยว โดยจะมีการพัฒนาทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศรองรับ
นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ตามที่หอการค้าจังหวัดตรัง ได้ยื่นหนังสือต่อ นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะเดินทางมาปฏิบัติราชการที่จังหวัดตรัง เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 เพื่อขอสนับสนุนเส้นทางด้านการคมนาคมในจังหวัดตรัง เพื่อเป็นการส่งเสริมด้านการค้า และการท่องเที่ยวในจังหวัดตรัง
ล่าสุดหอการค้าจังหวัดตรัง ได้รับหนังสือแจ้งตอบจาก นางสาวสุพิน โอเจริญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มาว่า เรื่องการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร จากอำเภอห้วยยอด ไปจังหวัดกระบี่ จากอำเภอย่านตาขาวไปจังหวัดสตูล และการขยายถนนช่วงเขาพับผ้าเป็น 4 ช่องจราจร ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมทางหลวง และจะแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบในโอกาสต่อไป
ส่วนการคมนาคมทางรถไฟ ที่ขอสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนตู้รถไฟใหม่ หรือปรับปรุงให้มีสภาพที่สวยงาม สะอาด เหมาะสม สำหรับส่งเสริมการท่องเที่ยว และขอเพิ่มขบวนรถไฟ สปรินเตอร์ กรุงเทพฯ-ตรัง อีก 1 ขบวน พร้อมทั้งขอให้พิจารณาหาแนวทาง เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางให้สั้นลงกว่าเดิมนั้น
กระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่สามารถจัดหารถโดยสารชนิดใหม่ มาทดแทนรถรุ่นเก่าที่มีอายุการใช้งานมานานได้ เนื่องจากประสบปัญหาเงินสดหมุนเวียนขาดสภาพคล่อง สำหรับเรื่องการทำความสะอาด ได้มีการดำเนินการตั้งแต่ขบวนรถออกจากสถานีต้นทาง และระหว่างทาง โดยว่าจ้างเอกชนทำความสะอาดขบวนรถทุกขบวน เพื่อให้การบริการประชาชนดียิ่งขึ้น
ในเรื่องการขอเพิ่มขบวนรถไฟสปรินเตอร์คงยังทำไม่ได้ เพราะมีรถชำรุดหลายขบวน จึงไม่เพียงพอต่อการหมุนเวียนใช้งาน ขณะที่เรื่องการลดระยะเวลาเดินทางไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการเดินรถทางเดียว อย่างไรก็ดี เมื่อมีการก่อสร้างทางคู่ช่วงสถานีนครปฐม-สุราษฎร์ธานี และช่วงอื่นๆ ที่มีการเดินรถหนาแน่น ก็จะช่วยลดเวลารถแต่ละขบวนได้ประมาณ 1 ชั่วโมง
ด้านการคมนาคมทางเครื่องบิน ที่ขอเพิ่มเที่ยวบินสายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน กรุงเทพฯ-ตรัง จากวันละ 1 เที่ยว เป็นวันละ 2 เที่ยวบิน และเพิ่มเที่ยวบินเย็นทุกวันนั้น กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ปัจจุบันสายการบินนกแอร์ ได้เพิ่มเที่ยวบินเส้นทางดังกล่าวแล้ว สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน คือ วันศุกร์ และวันอาทิตย์
ส่วนการคมนาคมทางน้ำ ได้ขอให้มีการปรับปรุงท่าเรือหาดปากเมง ให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งขุดลอกร่องน้ำบริเวณท่าเรือหาดปากเมง และบริเวณท่าเรือทุ่งคลองสน รวมทั้งขุดลอกร่องน้ำ จากท่าเทียบเรือกันตัง ไปยังปากแม่น้ำตรังด้วย ซึ่งนายประสงค์ ตันมณีวัฒนา อธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้มีหนังสือแจ้งมาว่า กรมการขนส่งทางน้ำ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจสภาพพื้นที่ ตลอดจนสภาพภูมิประเทศ และรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว
ทั้งนี้ มีรายงานสรุปว่า ท่าเทียบเรือปากเมง ซึ่งเป็นท่าเรือสำหรับนักท่องเที่ยว และเรือโดยสารขนาดประมาณ 60 คน ก้นน้ำลึกประมาณ 2 เมตร ซึ่งนายจรัญ ขันณรงค์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม แจ้งว่า ได้ดำเนินการของบประมาณจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการปรับปรุงซ่อมแซมท่าเทียบเรือหาดปากเมงไว้แล้ว และก่อนหน้านี้เมื่อปี 2549 ศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 ตรัง ก็ได้ทำการขุดลอกร่องน้ำให้มีความลึกประมาณ 2 เมตร ทำให้เรือสามารถใช้ในการสัญจรได้ตามปกติ
ส่วนที่ท่าเทียบเรือทุ่งคลองสน ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ อบจ.ตรัง เป็นท่าเรือสำหรับนักท่องเที่ยว และเรือโดยสาร ขนาดประมาณ 60 คน ก้นน้ำลึกประมาณ 2 เมตร
กรมการขนส่งทางน้ำฯพิจารณาแล้ว เห็นควรขุดลอกร่องก้นให้กว้าง 20 เมตร ลึก 2 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด ระยะทางขุดลอกประมาณ 1.2 กิโลเมตร เนื้อดินขุดลอกประมาณ 14,528 ลูกบาศก์เมตร สำหรับร่องน้ำกันตัง ได้จัดสรรงบประมาณขุดลอกร่องน้ำกันตังไว้แล้ว ในปี 2551 จำนวน 60 ล้านบาท