xs
xsm
sm
md
lg

เว็บไฮ-ทักษิณอหังการปิดยาก ใช้เครือข่ายชินคอร์ปจาบจ้วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยปิดเว็บไซต์ไฮ-ทักษิณลำบาก ไอซีทีทำได้แค่ตาปริบๆ เพราะตามการเล่นเล่ห์ทางระบบไอทีทำให้ไล่เอาผิดได้ลำบาก เผยเจ้าของเว็บอาศัยเครือข่ายการสื่อสารในเครือชินคอร์ป เป็นแขนขาจวบจ้วงบุคคล ขณะที่เซิร์ฟเวอร์ฝากไว้ที่อเมริกาทำให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่เพิ่งประกาศใช้สาวไปไม่ถึง ด้านกูรูทางเน็ตย้ำหากผู้เสียหายไม่ฟ้องร้องและเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพึ่งอำนาจศาลก็ยิ่งปิดยาก

แหล่งข่าว บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวถึงกรณีเว็บไซต์ http://www.hi-thaksin.net ที่มีการใช้เนื้อหาสาระหรือคอนเทนต์ พาดพิงและเข้าข่ายหมิ่นประมาณบุคคลในไทยว่า การปิดเว็บไซต์ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย การที่จะดำเนินการได้ก็เป็นเพียงการบล็อกการเข้าไอพี โดเมนเนม ของเว็บเท่านั้นและการดำเนินคดีทางกฎหมายก็จะสามารถดำเนินการได้เฉพาะกับผู้ที่ฝากเว็บไว้ในประเทศ หรือตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยเท่านั้น ขณะที่เว็บไฮ-ทักษิณได้ดำเนินการฝากเซิร์ฟเวอร์ไว้ยังต่างประเทศ  ซึ่งทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเข้าไปดำเนินการทางกฎหมายได้เพราะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ 2550 มีอำนาจควบคุมได้แค่ในประเทศ ไม่สามารถจะไปก้าวล่วงกับประเทศที่เว็บไซต์ไปฝากดำเนินการไว้ได้ ยกเว้นประเทศนั้นมีการควบคุมและทางรัฐบาลได้ร้องขอ ในด้านความมั่นคง หรือความร่วมมือระหว่างรัฐบาล

สำหรับเว็บไซต์ ไฮ-ทักษิณ ได้จดทะเบียน Domain Name: HI-THAKSIN.NET  ซึ่งทำการจดทะเบียนโดย GODADDY.COM, INC. (โกแดดดี้ดอทคอม, อิงค์) ฝากดูแลไว้ที่โกแดดดี้ดอทคอมและมีเซิร์ฟเวอร์รองรับการฝากข้อมูลแยกไว้  2 ชุด ส่วนที่อยู่ของโกแดดดี้นั้น ตั้งอยู่ที่  14455 N Hayden Road,  Suite 226 เมือง Scottsdale มลรัฐอริโซนา รหัสไปรษณีย์ 85260 ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ จากการแกะรอยไอพีแอดเดรสเว็บโฮสติ้ง ไฮ-ทักษิณ  ในส่วนของการใช้งานด้านเซิร์ฟเวอร์อีเมลของเว็บดังกล่าว ทางผู้เช่าได้ใช้เมลเซิร์ฟเวอร์ ที่ตั้งไว้ในประเทศไทยโดยใช้บริการผ่าน บริษัท ซีเอส ล็อกอินโฟซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ป ซึ่งอาจจะแสดงว่าการดำเนินการทางระบบออนไลน์ หรือการบริการด้านเว็บเซอร์วิสจะต้องผ่านจากเครือข่ายในกลุ่มชินคอร์ปเอง เช่น ระบบสื่อสารเกตเวย์ ใช้บริการจาก บริษัท ชินแซทเทลไลท์ ส่วนระบบบริการข้อมูล เว็บเซอร์วิส การอัปเดทข้อมูล จะใช้บริการจากซีเอส เป็นต้น เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปได้ง่าย

“หากปิดเกตเวย์ของ กสท ไม่ให้เว็บไฮ-ทักษิณผ่านนั้นก็ทำได้ แต่การเข้าออกก็ยังมีช่องทางอื่นที่ออกไปได้เพราะขณะนี้มีเกตเวย์เชื่อมต่อไปต่างประเทศหลายจุดไม่ว่าจะเป็น ทีโอที ทรู เอไอเอส โดยเฉพาะชินแซท ที่อยู่ในเครือชินคอร์ปเอง แล้วตรงนั้น ใครจะไปติดตาม ไปปิดกั้น หรือบล็อกได้”

**จวบจ้วงบุคคลปิดเว็บยาก

ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์เนต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ (ไอเอสเอสพี) และอดีตผู้ก่อนตั้งเคเอสซี อินเตอร์เนต กล่าวว่า การปิดเว็บไซต์ต้องมีผู้เสียหายฟ้องร้องว่าเสียหายอย่างไร มีการลงข้อมูลที่ทำให้เสื่อมเสีย หรือหมิ่นประมาท

ส่วนกรณีที่มีการฝากเซิร์ฟเวอร์ไว้ ก็จะทำได้แค่การขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และเจ้าของเว็บไซต์ก็ต้องดูแลข้อมูล ส่วนเข้าของเว็บโฮสติ้งก็ต้องมีฐานที่โพสต์เข้ามาเหมือนการก่อนคดีอาชญากรรมทั่วไป เพราะกรณีอย่างนี้คนที่คิดทำก็เป็นการปลอมมาแต่แรกแล้ว ซึ่งระบบไอทีอาจเป็นเรื่องจริง แต่คนส่งข้อความอาจถูกจ้างมา เพื่ออำพรางการกระทำผิด และการฝากเซิร์ฟเวอร์ไว้ในต่างประเทศการดำเนินการเอาผิดค่อนข้างยากลำบาก

“ขณะนี้เรื่องเกตเวย์อินเทอร์เน็ตมีการเปิดเสรี การที่จะไม่ให้คอนเทนต์ลักษณะนี้ออกสู่สาธารณะก็ทำได้แค่ขอความร่วมมือกับไอเอสพีเพื่อทำการบล็อก แต่ถ้าลิงค์กับเกตเวย์โดยตรง ก็ต้องไปบล็อกที่เกตเวย์ แต่เรื่องพวกนี้ก็ป้องกันไม่ได้หมด เพราะสามารถผ่านเกตเวย์ของใครก็ได้ แต่ถ้าเป็นอำนาจศาลจึงจะสามารถปิดได้ แต่ต้องกระทบกับความมั่นคง หรือกระทบความรู้สึกของคนทั้งประเทศ การขอความร่วมมือระหว่งรัฐกับรัฐอาจจะง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นบุคคลค่อนข้างยาก”

**ไอซีทีแค่ทำตาปริบๆ

นายวรพัฒน์ ทิวถนอม รองปลัดกระทรวงไอซีที และนายนายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ผู้ตรวจราชการและโฆษกกระทรวงไอซีที ได้ออกมาชี้แจงถึงการปิดเว็บไซต์ไฮ-ทักษิณ ในฐานะที่กระทรวงไอซีทีเป็นเจ้าพนักงานที่รับผิดชอบดูแลตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากกรณีที่นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีบทความในเว็บไซต์ ไฮ-ทักษิณ โดยผู้เขียนชื่อ “ประดาบ” เผยแพร่เนื้อหาผ่านเว็บไซต์ที่ พาดพิงต่อนางสดศรีและพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกฯ ขอตัว น.ส.กอนณา สัตยธรรม บุตรสาวไปช่วยราชการ

อีกทั้งนางสดศรี ระบุว่า กระทรวงไอซีที ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ไม่ยอมดำเนินการปิดเว็บไซต์และที่ผ่านมาได้ประสานงานกระทรวงไอซีที เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบเว็บไซต์ดังกล่าว เพราะได้โจมตีตนมาตลอดก่อนหน้านี้ และที่ผ่านมาเห็นว่ากระทรวงไอซีทีได้ปิดเว็บไซต์ดังกล่าวไปแล้ว แต่ทำไมยังเปิดขึ้นมาได้ และออกมาโจมตีครอบครัวมาตลอด

นายวรพัฒน์กล่าวว่า การที่กระทรวงไอซีทีจะดำเนินการปิดเว็บไซต์ได้จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่ผู้เสียหายต้องไปร้องทุกข์หรือแจ้งความที่สถานีตำรวจ เมื่อพบว่ามีการกระทำความผิดโดยเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ซึ่งสามารถตรวจสอบหลักฐานได้ หลังจากนั้นผู้เสียหายต้องนำหลักฐานการกระทำความผิดมาร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเจ้าหน้าที่จะขอความเห็นชอบต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมแสดงหลักฐาน เมื่อศาลไต่สวนและพบว่ามีการกระทำความผิดจริง ศาลจะมีคำสั่งให้ระงับเว็บไซต์ที่กระทำผิด ซึ่งการระงับเว็บไซต์สามารถทำได้โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหรือสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น

กรณีของนางสดศรีที่ได้ถูกเว็บไซต์ ไฮ-ทักษิณ เผยแพร่ข้อมูลในลักษณะที่หมิ่นประมาทถือเป็นความผิดส่วนตัวและคดีหมิ่นประมาท เป็นคดีอาญา ซึ่งตามกฎหมายผู้เสียหายต้องดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจ ซึ่งตามข้อตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะรวบรวมหลักฐานเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลให้เป็นผู้พิจารณาความผิด โดยหากตำรวจต้องการให้ไอซีทีช่วยในการเก็บรวบรวมหลักฐานกระทรวงไอซีทีก็พร้อมให้การช่วยเหลือ ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนและสามารถดำเนินการทางกฎหมาย นางสดศรี ซึ่งเป็นเจ้าทุกข์ต้องร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจเพื่อดำเนินตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว หากเป็นการหมิ่นประมาททางข้อความจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งจะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี

นายธานีรัตน์กล่าวว่า การปิดเว็บไซต์ไม่ใช่ภารกิจที่กระทรวงไอซีทีทำได้ตามอำเภอใจ โดยการเข้าไปปิดกระทรวงไอซีทีจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ เพื่อให้ขั้นตอนการปฏิบัติและการเอาผิดหรือปิดเว็บไซต์มีความโปร่งใส ซึ่งการปิดเว็บไซต์ได้จะต้องดำเนินการที่เข้าข่ายไม่เหมาะสมอย่างรุนแรง เช่น การหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ การเผยแพร่เนื้ออันมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ หากอยู่ในข่ายลักษณะบุคคลมีเนื้อหาข้อความในลักษณะหมิ่นประมาทผู้เสียหายจะต้องร้องทุกข์ หรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อสอบสวนพร้อมส่งข้อมูลให้ศาลพิจารณา และมอบหมายให้กระทรวงไอซีทีปิดเว็บไซต์ ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ

“การปิดเว็บไซต์ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จะใช้เวลาในการดำเนินงานประมาณ 3 วันนับจากวันที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนการสืบค้นหาตัวผู้กระทำผิดจากการโพสต์ข้อความเพื่อค้นหาไอพี (IP) หรือหมายเลขเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้กระทำผิดจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน”

ที่ผ่านมาหลังประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กระทรวงไอซีทีได้ปิดเว็บไซต์ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ แล้ว 2 เว็บไซต์ ได้แก่ เว็บไซต์พัฒพงศ์ดอมคอม ซึ่งเผยแพร่ภาพเจดีย์ของศาสนาพุทธและรูปอนาจาร และเว็บไซต์บุดดาดอทคอมซึ่งใช้โดเมนเนมชื่อศาสนาพุทธ แต่ภายในเว็บไซต์นำเสนอเนื้อหาลามกอนาจารโดยกระทรวงไอซีทีได้ประสานการทำงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างใกล้ชิดในการสอบสวนและความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจ กับการเข้าปิดเว็บไซต์และนำผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมาย

นายวินัย อยู่สบาย หัวหน้ากลุ่มงานตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที กล่าวว่าก่อนหน้านี้ การเข้าปิดเว็บไซต์ กระทรวงไอซีที ได้ใช้อำนาจของคณะปฏิวัติ  จึงทำให้กระบวนการเปิดกั้นเว็บไซต์ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการภายใต้กฎหมายพ.ร.บ.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ทุกอย่างจะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสและอำนาจในการปิดเว็บไซต์ต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยเจ้าพนักงานจะต้องเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาก่อน หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเห็นชอบ ก็ต้องร้องขอไปยังศาลเพื่อดำเนินการพิจารณาสั่งปิด ซึ่งตามกระบวนการที่ผ่านมาใช้เวลาประมาณ 3 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น