xs
xsm
sm
md
lg

สดศรีลั่นฟ้องแน่เว็บไซต์ปูดมั่วลูกช่วยงานบิ๊กบัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สดศรี” ลั่นฟ้องแน่เว็บไซต์กล่าวหาลูกสาวซึ่งเป็นผู้พิพากษา ไปช่วยงานหน้าห้อง “บิ๊กบัง” ระบุเป็นพวกต่ำช้า ด้านสำนักงานศาลยุติธรรม รับมีหนังสือขอตัวจากสำนักงานเลขาธิการนายกฯมาจริง แต่ตอนหลังได้มีหนังสือมายกเลิก ระบุศาลไม่เคยให้ผู้พิพากษาไปช่วยงานฝ่ายบริหาร เหตุจะขาดความเป็นอิสระ

นางสดศรี สัตยธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการ พรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์วานนี้ (11 ม.ค.) ถึง กรณีที่เว็บไซด์ไฮทักษิณเผยแพร่หนังสือการขอตัว น.ส.กอนณา สัตยธรรม ลูกสาวจากศาลไปช่วยราชการที่หน้าห้อง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ตนยืนยันว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าของเว็บไซด์ดังกล่าว แต่ขอให้เปิดเผยตัวออกมา

“ส่วนตัวก็ไม่อยากจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนที่ประเภทนี้ เพราะคิดว่า คนที่มีความคิดต่ำ ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ต่ำช้า”

นางสดศรี กล่าวว่า ไม่คิดว่าการนำข้อมูลเหล่านี้ออกมาจะเป็นเพราะการพิจารณาการแจกใบเหลืองใบแดงของ กกต. เพราะทุกคนพิจารณาเรื่องนี้ อย่างมีเหตุมีผล โดยเฉพาะกรณีการให้ใบแดงต่อนาย ประสพ บุษราคัม ว่าที่ ส.ส.เขต 3 อุดรธานีนั้นจะต้องส่งไปยังคณะกรรมการของกฤษฎีกาอีกครั้ง

“ยืนยันว่า กกต.ทั้ง 5 คนได้พิจารณาเรื่องร้องคัดค้าน โดยคิดว่าเป็นมิตรหรือศัตรูของใคร เราได้พิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน กกต.ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร หรือพรรคใดพรรคหนึ่ง ความจริงส่วนตัวก็รู้จักแกนนำของพรรคพลังประชาชน(พปช.) หลายคน ซึ่งเคยบอกให้แกนนำพรรคเหล่านั้นช่วยดูแลเว็บไซด์นี้ โดยเขาก็รับปากว่าจะจัดการให้ แต่ตอนนี้ก็ยังเห็นเว็บไซด์นี้ด่าดิฉันและครอบครัวอยู่ตลอด ”

วันเดียวกัน นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายประสงค์ มหาลี้ตระกูล โฆษกสำนักศาลยุติธรรม ร่วมกันแถลงข่าว กรณีสื่อมวลชน เผยแพร่ข่าวว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเรื่องขอยืมตัว น.ส.กอนณา สัตยธรรม ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระโขนง บุตรสาวของนางสดศรี ไปช่วยงานที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นายสราวุธ ชี้แจงว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้รับหนังสือจากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงนามโดยรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2550 ซึ่งหนังสือดังกล่าวได้ลงรับที่สำนักงานประธานศาลฎีกาเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2550 โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ขอให้ไปช่วยปฏิบัติราชการให้แก่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2550 เป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ หลังจากนั้นเลขาธิการ ประธานศาลฎีกา ได้ส่งหนังสือมายังสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งตนขณะนั้นรักษาการตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับหนังสือไว้เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2550 แต่ยังไม่ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ต่อมาวันที่ 29 ต.ค.2550 สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือแจ้งขอระงับการยืมตัว น.ส.กอนณา และได้มีหนังสือแจ้งมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2550 ขอถอนเรื่องคืน

“ปกติแล้วการขอตัวผู้พิพากษาไปช่วยงานในหน่วยราชการอื่น ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 59 กำหนดไว้ว่า ผู้พิพากษาต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดๆ ในหน่วยงานที่ขัดหรือแย้งในการปฏิบัติหน้าที่ ของข้าราชกาตุลาการตามที่ ก.ต.กำหนด ดังนั้นการที่มีบุคคลหรือหน่วยงานใด ขอยืมตัวผู้พิพากษาไปทำงานอื่นใดนอกเหนืองานพิพากษาคดี จะต้องนำเรื่องเข้าสู่ การพิจารณาของ ก.ต. แต่สำหรับเรื่องนี้สำนักงานศาลยุติธรรมยังไม่ได้นำเรื่อง เข้าสู่การพิจารณาของ ก.ต. เนื่องจากมีการขอระงับเรื่อง และขอถอนเรื่องคืนไปก่อน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามปกติแล้วการขอยืมตัวผู้พิพากษาไปช่วยราชการ ตัวผู้พิพากษาเองหรือผู้ใกล้ชิดจะได้รับการติดต่อหรือทราบล่วงหน้าหรือไม่นั้น นายสราวุธกล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ ส่วนตัว น.ส.กอนณา หรือนางสดศรี จะทราบมาก่อนหรือไม่ ตนไม่สามารถยืนยันได้

ส่วนที่ผ่านมาเคยมีการขอยืมตัวผู้พิพากษาไปช่วยราชการลักษณะเช่นนี้มาก่อนหรือไม่ นายสราวุธกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รมว.ยุติธรรม จะขอยืมตัวผู้พิพากษาไปช่วยงาน ซึ่ง ก.ต.ก็ไม่อนุญาต เนื่องจากกฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้ เพราะการไปดำรงตำแหน่งอื่นที่จะกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ไม่สามารถทำได้ เพราะผู้พิพากษามีหน้าที่พิจารณา และพิพากษาคดี หากไปช่วยงานฝ่ายบริหารจะทำให้ขาดความเป็นอิสระ ซึ่งตั้งแต่ปี 43 ที่ศาลแยกตัวเป็นอิสระจากกระทรวงยุติธรรม ก็ไม่เคยมีผู้พิพากษาไปช่วยราชการ ฝ่ายบริหารเลย

ส่วนกรณีของนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รมว.ยุติธรรม และนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ขณะนี้ได้ขอโอนย้ายกลับมาเป็นผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม แล้วแต่ในตอนนี้ยังไม่มีการนำเรื่องบรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาในที่ประชุม ก.ต. เพราะต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ ส่วนการจะรับโอนทั้งสองให้กลับมาหรือไม่นั้นขึ้นยู่กับการพิจารณาของ ก.ต.
กำลังโหลดความคิดเห็น