xs
xsm
sm
md
lg

คาดกนง.คงดอกเบี้ยรอรัฐบาลใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - แบงก์-นักวิชาการฟันธงกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.25%ในการประชุมครั้งแรกของปีและต่อเนื่องจนครึ่งปีแรก ระบุให้เวลารัฐบาลใหม่ฟอร์มทีมและรอดูผลนโยบายเศรษฐกิจ ขณะที่ครึ่งปีหลังยังมีลุ้นทั้งด้านขาขึ้นและลง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสสแตนชาร์ดฯระบุดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับลงอีก 0.50%ในครึ่งปีหลัง จากการชะลอตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่การเมืองไทยยังไม่ลงตัวทำให้การฟื้นตัวในการลงทุน-การบริโภคล่าช้า ส่วนราคาน้ำมันจะอ่อนตัวลงหลังไตรมาส 2 ทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้ดลดลง

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักวิเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วันที่ 16 มกราคมที่จะถึงนี้ คงจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับ 3.25% แต่แนวโน้มในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศก็ยังขาดความแน่นอนแม้จะมีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม ซึ่งการชะลอตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะทำให้เฟดพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเฟด ฟันด์ เรทลงจาก 4.25% เป็น 3.00%ในปีนี้

"ปัจจัยภายนอกเป็นเรื่องของเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอลง ส่วนปัจจัยภายในคือเรื่องของการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ตรงนี้จะทำให้การลงทุนที่คาดว่าจะฟื้นตัวต้องล่าช้าออกไปอีก ขณะที่ในส่วนของการส่งออกคงจะหลีกเลี่ยงการชะลอตัวลงไม่ได้ จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งจะเริ่มเห็นได้จากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียที่เริ่มลดลงแล้ว ดังนั้น จึงคาดว่าในครึ่งหลังของปี 2551 กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% หรือครั้งละ 0.25% 2 ครั้ง แต่ในครึ่งแรกของปีจะยังคงที่อยู่"นางสาวอุสรากล่าว

สำหรับในเรื่องของเงินเฟ้อนั้น แม้ว่าช่วงต้นปีราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นสูงแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลอีกครั้ง แต่เชื่อว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นสูงสุดในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ แล้วหลังจากนั้นก็จะปรับลดลง ซึ่งจะทำให้แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อลดลง ขณะที่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะเพิ่มน้ำหนักในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารยังคงประมาณการเงินเฟ้อไว้ในระดับเดิม โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 4%อยู่แล้ว และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 2-2.5%

"อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากฝั่งอุปทานเพราะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่ต้องแก้ปัญหาด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงน่าจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยของกนง.ในครึ่งปีหลัง”นางสาวอุสรากล่าว

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3.25% เช่นเดิม และน่าจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า เนื่องจากมีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 3.0-3.5% จากปีก่อนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2.3% เท่านั้น ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งปีประเมินว่าจะคงหรือเพิ่มขึ้นเท่านั้น

โดยเหตุผลการทรงอัตราดอกเบี้ยของ กนง.นั้น เนื่องมาจากทางธปท. ต้องการให้เวลารัฐบาลใหม่เข้ามาจัดวางระบบการทำงานให้ภาคการคลังมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะเห็นได้ชัดเจนในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ อีกทั้งต้องรอให้นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ลงตัวและมีการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

ทั้งนี้จากปัญหาซับไพรม์ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯในระดับที่รุนแรงมากในช่วงครึ่งปีแรกนี้ แต่หากในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวได้ก็จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทยให้ได้ขึ้นด้วย จึงทำให้เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะมีการปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือเรื่องของราคาน้ำมันและการฟื้นตัวของภาคเอกชน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดหวังว่าแม้ราคาม้ำมันจะยังอยู่ในระดับที่สูง แต่คงไม่การขยับขึ้นไปเรื่อย ๆ

ส่วนทางการจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้น การจะปรับลดอัตรดอกเบี้ยลงนั้นก็มีความเป็นไปได้ แต่หากจะปรับลงนั้นเศรษฐกิจจะต้องอยู่ในขั้นที่แย่มาก เอกชนยังไม่มีความเชื่อมั่น แต่หากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวในครึ่งปีหลังก็อาจจะมีผลให้ ธปท.มีการผ่อนคลายนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะมีผลกับเงินเฟ้อได้ ดังนั้นแนวโน้มที่ทางการจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงขึ้นอยู่กับจังหวะเวลามากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น