xs
xsm
sm
md
lg

จับตาสงครามนิวเคลียร์!

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

เมืองไทยเรายังคงสาละวนอยู่ด้วยเรื่องการเมืองภายในประเทศ ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นหน้าตาของรัฐบาลใหม่ว่าจะเป็นอย่างไร ในขณะที่เบื่อหน่ายหน้าตาของรัฐบาลเก่าจนสุดแสนจะทนทาน

เนื่องเพราะกรอบของสถานการณ์ยังคงอยู่ภายในขอบเขตซึ่งได้ปรากฏตามบทความเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว และยังไม่มีอะไรใหม่ วันนี้จึงต้องหาเรื่องที่น่าสนใจกว่ามาเล่าสู่กันฟัง

และเห็นเหตุการณ์บางอย่างที่น่าห่วงใยยิ่ง เพราะอาจมีผลกระทบใหญ่หลวง และหากพลาดพลั้งใหญ่ขึ้นแล้วก็อาจก่อเกิดเป็นสงครามนิวเคลียร์ นั่นคือสถานการณ์ที่เป็นไปบริเวณคาบสมุทรเฮอร์มุส และสถานการณ์อาวุธนิวเคลียร์ที่มีเค้าว่าจะไม่มีเสถียรภาพในเกาหลีเหนือ

ดูไปแล้วน่าห่วงใยจริงๆ นี่ไม่ใช่เพราะไปยึดถือคำทำนายทายทักของพวกหมอดูที่ทำนายทายทักกันในแง่ร้ายว่าจะเกิดสงครามขนาดใหญ่ขึ้นในตะวันออกกลางและจะเกิดความรุนแรงแผ่ขยายไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย แต่ดูไปตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่เท่านั้น

เรามาลองดูกันว่าสถานการณ์ที่ว่านั้นเป็นประการใด?

อย่างแรก เอาที่ใกล้ตัวก่อน คือสถานการณ์อาวุธนิวเคลียร์ในประเทศเกาหลีเหนือ


ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเกาหลีเหนือพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนให้ก้าวรุดหน้ามากขึ้น วันดีคืนดีก็ทดลองยิงจรวดติดขีปนาวุธข้ามเกาะญี่ปุ่นเล่นๆ เสียอย่างนั้นแหละ

เป็นการแสดงศักดาให้เห็นว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นก็มีขีดความสามารถที่จะถล่มเกาะญี่ปุ่นได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึงการถล่มเกาหลีใต้หรือฐานทัพสหรัฐฯ บางแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิก

สหรัฐฯ ออกจะเป็นเจ้ากี้เจ้าการในการขัดขวางหรือหยุดยั้งไม่ให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ได้กดดันนานาประการทั้งในทางการทูตและในทางการเมืองระหว่างประเทศ มีการจัดประชุมไม่รู้กี่ฝ่ายต่อกี่ฝ่ายหลายครั้งหลายหน แต่สถานการณ์ก็เหมือนนิ่งอยู่กับที่

ล่าสุดเกาหลีเหนือก็โวยวายว่าไม่ได้รับสิ่งของตอบแทน โดยเฉพาะพลังงานและอาหารตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ จึงต้องเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป

เกาหลีเหนือจึงเป็นเป้าหมายหนึ่งของสหรัฐฯ ที่จะต้องหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้จงได้

แน่นอนว่าย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสหรัฐฯ ด้วย ของญี่ปุ่นด้วย และของเกาหลีใต้ด้วย แต่ทว่าย่อมไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของจีน

และก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่เหมือนกันว่าสหรัฐฯ ก็มีแผนการที่จะหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยกำลังทหาร และถ้าเกิดกรณีเช่นว่านี้ก็ย่อมกระทบต่อความมั่นคงของจีน เพราะเกาหลีเหนือนั้นมีดินแดนติดกับพรมแดนจีนมาก และจีนก็มีผลประโยชน์ทั้งทางการเมือง การทูต การทหารและการค้าที่สนิทแน่นแฟ้นกับเกาหลีเหนือ

ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาทั่วโลกจึงได้เห็นแต่ท่าทีของจีนที่ยืนข้างเกาหลีเหนือในปัญหาดังกล่าวมาโดยลำดับ แต่นั่นก็เป็นการเห็นแต่เพียงท่าทีทางการเมืองและการทูต

ไม่มีใครรู้หรือเห็นว่าจีนจะมีท่าทีทางการทหารอย่างไร โดยเฉพาะท่าทีของจีนแบบเดียวกับที่เคยเคลื่อนกองทัพปลดแอกเข้าไปพิทักษ์เกาหลีเมื่อครั้งสงครามเกาหลีว่าจะยังคงเป็นไปได้หรือไม่

ล่าสุดสำนักข่าวเอเอฟพีได้รายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า หากเกิดความไม่มั่นคงปลอดภัยเกี่ยวกับสถานการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือแล้ว จีนก็มีแผนที่จะส่งทหารเข้าไปในเกาหลีเหนือเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับเกาหลีเหนือในทันที

ที่ว่าความไม่มั่นคงปลอดภัยเกี่ยวกับสถานการณ์นิวเคลียร์นั้น เป็นภาษาทางการเมืองระหว่างประเทศที่พูดกันสวยหรูดูงาม

แต่แท้จริงแล้วความหมายก็คือหากเกาหลีเหนือถูกโจมตีหรือถูกบุกรุกเพื่อหยุดยั้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จีนก็จะส่งกำลังทหารเข้าไปในเกาหลีเหนือนั่นเอง

แต่ก็ยังมีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่าจีนจะเข้าแทรกแซงในกรณีเช่นนี้ก็ต่อเมื่อได้ปรึกษาหารือกับองค์การสหประชาชาติแล้ว แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่ว่าจีนอาจลงมือปฏิบัติการได้แต่ฝ่ายเดียวอีกด้วย

พูดง่ายๆ โดยไม่ต้องตีความกันให้ปวดหัวก็คือ จีนอาจตัดสินใจฝ่ายเดียวที่จะส่งกองทัพปลดแอกเข้าไปในเกาหลีเหนือ

รายงานข่าวดังกล่าวระบุว่าจีนจะขอความเห็นชอบอย่างเป็นทางการจากสหประชาชาติก่อนที่จะดำเนินการเช่นนั้น “แต่ถ้าสหประชาชาติไม่ตอบกลับในระยะเวลาที่เหมาะสม และสถานการณ์ภายในเกาหลีเหนือย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว จีนก็จะเป็นผู้เริ่มเคลื่อนกองทัพปลดแอกเข้าไปเพื่อทำให้เสถียรภาพกลับคืนมา”

รายงานข่าวดังกล่าวยังอ้างอิงถึงรายงานของสถาบันวิจัยทางยุทธศาสตร์ของจีนว่าแผนการดังกล่าวได้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนปฏิบัติภารกิจที่เป็นไปได้ ทั้งในด้านมนุษยธรรม การรักษาสันติภาพ และการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม

เป็นถ้อยคำที่สวยหรูดูงามจริงๆ ถ้อยคำแบบนี้น่าที่คุณสมัคร สุนทรเวช จะได้พิจารณานำมาปรับใช้หากว่าได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ลองนึกดูก็แล้วกัน ถ้ามีเหตุการณ์ที่ว่านั้นเกิดขึ้นก็จะเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างแสนยานุภาพของสหรัฐฯ กับแสนยานุภาพของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในดินแดนเกาหลี

อย่าคิดว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ บทเรียนของสงครามเกาหลีก็มีให้เห็นอยู่แล้ว และต่างฝ่ายต่างก็ได้สรุปและแก้ไขปัญหาตามบทเรียนต่างๆ อย่างเต็มที่มากว่า 50 ปีแล้ว

อย่างที่สอง คือสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดยุทธนาวีขึ้นในบริเวณปากอ่าวเฮอร์มุสซึ่งกินพื้นที่บริเวณตลอดช่องแคบเฮอร์มุสไปจนถึงปากอ่าว และทะเลนอกอ่าวนั้น


ก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่เช่นเดียวกันว่าสหรัฐฯ ถือว่าอิหร่านเป็นประเทศอักษะแห่งความชั่วร้าย อยู่ในกลุ่มเดียวกับซีเรียและเกาหลีเหนือ เพราะคิดว่าอิหร่านคือศูนย์กลางที่สนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องชาวมุสลิมในอิรัก ในเลบานอน และในที่อื่นๆ ด้วย

ที่ขุ่นใจมากที่สุดก็คืออิหร่านก็เป็นประเทศหนึ่งที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่ากำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศรัสเซียและบางประเทศในยุโรป ซึ่งสหรัฐฯ ถือว่าเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

เพราะเข้าใจว่าถ้าอิหร่านสามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และมีสมรรถนะที่สูงขึ้นแล้วก็จะทำให้ศักยะสงครามของอิหร่านเพิ่มพูนขึ้น มีขีดความสามารถที่จะคุกคามอิสราเอลและยุโรป ตลอดจนความเคลื่อนไหวของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในภาคพื้นนั้นอย่างร้ายแรง

ถ้าเทียบความหนักใจของสหรัฐฯ ระหว่างอิหร่านกับเกาหลีเหนือแล้ว ก็ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ หนักใจอิหร่านมากกว่าเกาหลีเหนือ เพราะอิหร่านเป็นประเทศรวย ในขณะที่เกาหลีเป็นประเทศจนและยังลำบากอยู่มาก

แต่ที่ไม่พูดถึงกันก็คือหากยึดครองอิหร่านได้ก็จะได้รับผลประโยชน์มากกว่าการยึดครองเกาหลีเหนือ เพราะเป็นแหล่งพลังงานน้ำมันระดับต้นของโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกอบกู้ฟื้นฟูความพังทลายของระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ในพริบตา

ดังนั้นสหรัฐฯ จึงเพิ่มแรงกดดันในทุกด้านต่ออิหร่าน โดยเฉพาะการกดดันด้วยแสนยานุภาพทางการทหาร ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

มีการเคลื่อนกำลังทางนาวีของกองทัพเรือสหรัฐฯ จากทุกแห่งหนทั่วโลกเข้าไปในอาณาบริเวณนั้น ที่น่าสังเกตมากที่สุดก็คือสหรัฐฯ ยอมถอนกองเรือในภาคพื้นแปซิฟิกโดยเฉพาะกองเรือที่มีบทบาทต่อการคุ้มครองญี่ปุ่นและไต้หวัน รวมทั้งฐานทัพเรือของสหรัฐฯ หลายแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าไปสมทบกับกำลังทางนาวีที่ประจำมาแต่เดิมในพื้นที่นั้น

และกล่าวได้ว่านับแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ไม่เคยมีครั้งใดเลยที่สหรัฐฯ ได้เคลื่อนแสนยานุภาพทางเรือเข้าไปชุมนุมอยู่ในบริเวณช่องแคบ ปากอ่าว และนอกปากอ่าวเฮอร์มุสมากมายถึงขนาดนี้

และเมื่อพิเคราะห์การจัดวางกำลังทางบกตั้งแต่ยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ รวมทั้งบางพื้นที่ในประเทศเกิดใหม่ที่แตกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตแล้วก็ไม่เป็นที่สงสัยใดๆ ว่าการเตรียมกำลังแสนยานุภาพขนาดนี้เป็นไปเพื่อการแสดงหรือโชว์แสนยานุภาพ หากเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อย่างเดียวคือเตรียมทำสงคราม

หากเป็นประเทศอื่นใดในโลกนี้ที่เผชิญหน้ากับแรงกดดันทางทหารขนาดนี้ ก็คงจะยุติปัญหาไปนานแล้ว แต่แรงกดดันที่ว่านี้กลับใช้ไม่ได้ผล เพราะประธานาธิบดี อิหร่านคนปัจจุบันมีจุดยืนที่มั่นคงและแข็งกร้าว ไม่ยอมจำนนหรืออ่อนข้อใดๆ ให้กับสหรัฐเลย

รวมทั้งได้ประกาศอย่างหนักแน่นมาหลายครั้งหลายหนในสองประการคือ

ประการแรก ถ้าหากมีการโจมตีอิหร่านมาจากดินแดนไหนก็ตาม อิหร่านก็จะโจมตีด้วยอาวุธร้ายแรงไปยังดินแดนนั้นในทันที โดยถือว่าเป็นความชอบธรรมในการป้องกันตนเอง

ประการที่สอง ถ้าหากมีการโจมตีอิหร่าน ก็จะมีการจมเรือปิดช่องแคบเฮอร์มุสในทันที ซึ่งหมายความว่าปิดช่องทางลำเลียงพลังงานน้ำมันจากตะวันออกกลางกว่า 50% ของทั้งโลกไม่ให้ออกสู่โลกภายนอก และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างร้ายแรงที่สุด

ในประการนี้มีความเป็นไปได้อย่างเต็มเปี่ยม เพราะช่องแคบเฮอร์มุสนั้นกว้างไม่มาก แต่ยาวมาก ตั้งฐานยิงขีปนาวุธตรงไหนก็อยู่ในระยะหวังผลทั้งนั้น ผลพิบัติที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นอันแน่ชัดว่าย่อมเกิดขึ้นแน่หากมีเหตุการณ์ที่ว่านั้น

ล่าสุดผู้บัญชาการกองทัพเรือภาค 5 ของสหรัฐฯ ที่เป็นผู้รับผิดชอบแสนยานุภาพทางนาวีในพื้นที่อ่าวเปอร์เชียได้เปิดเผยว่า กองเรือสหรัฐฯ กำลังถูกคุกคามจากอิหร่าน และถือว่าเป็นการยั่วยุอย่างไม่มีเหตุผล

ที่ว่ายั่วยุนั้นก็เพราะว่ามีเรือเร็วของอิหร่านจำนวน 5 ลำได้เคลื่อนตัวเข้าไปใกล้กองเรือของสหรัฐฯ และกองเรือสหรัฐฯ ได้รับสัญญาณการขู่ว่าจะระเบิดกองเรือของสหรัฐฯ เป็นเหตุให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต้องเรียกร้องให้อิหร่านอธิบายเหตุผลของเรื่องนี้

นอกจากนี้ยังมีเรือสปีดโบ้ตจำนวนหนึ่งของอิหร่านแล่นเข้าไปในทิศทางการเคลื่อนตัวของกองเรือสหรัฐฯ แล้วมีการปล่อยกล่องลอยน้ำจำนวนมากลงทะเลเพื่อให้ลอยตามกระแสน้ำไปกระทบเรือรบสหรัฐฯ

ซึ่งถ้าหากเป็นกล่องที่บรรจุระเบิดและกระทบกับกองเรือสหรัฐฯ ก็อาจเกิดเหตุระเบิดขึ้นได้ แต่โชคดีที่ไม่มีระเบิด ถึงกระนั้นก็ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการคุกคามต่อกองเรือรบสหรัฐฯ

ต้องไม่ลืมว่าสหรัฐฯ นั้นเป็นประเทศที่เชื่อมั่นและถือมั่นในแสนยานุภาพทางนาวีมากที่สุดในโลก หากเรือรบลำใดของสหรัฐฯ ถูกโจมตี สหรัฐฯ ก็พร้อมที่จะทำสงครามในทันที ในประการนี้ให้ดูประวัติศาสตร์สงครามของสหรัฐฯ ก็จะเห็นได้ชัด

และสงครามที่ถ้าหากจะเกิดขึ้น ก็ย่อมไม่ใช่สงครามที่กระทำกันด้วยกำลังทางบกเป็นหลัก หากเป็นสงครามที่กระทำกันด้วยขีปนาวุธเป็นหลัก และแน่นอนว่าจะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์จำกัดเขตเพื่อการสงครามคราวนี้

แล้วอิหร่านจะนั่งเฉยให้ถูกโจมตีอย่างนั้นหรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น