xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยชี้สูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงฆ่าตัวตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - "สูบบุหรี่เป็นภัยต่อชีวิต" และ "สูบบุหรี่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง" เป็นคำเตือนที่สิงห์อมควันต่างคุ้นเคยดีอยู่ แล้วคำเตือนว่า "สูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย" ล่ะ?

นักวิจัยชาวเยอรมันทำให้ตระหนักถึงปัญหานี้มากยิ่งขึ้น โดยพวกเขาบอกว่า งานศึกษาคนหนุ่มสาวในแคว้นบาวาเรียแบบเชิงลึกชี้ว่า มีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจนและน่าตกใจระหว่างการสูบบุหรี่กับความคิดอยากฆ่าตัวตาย

งานศึกษาชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Affective Disorders โดยการศึกษาครั้งนี้อาศัยข้อมูลจากงานศึกษาด้านจิตวิทยาที่จัดทำเมื่อปี 1995 ซึ่งสัมภาษณ์หนุ่มสาววัย 14-24 ปี จำนวน 3,021 คนที่อาศัยอยู่ในเมืองมิวนิก

กลุ่มคนเหล่านี้ถูกสัมภาษณ์ซ้ำอีกครั้งอีก 4 ปีถัดมา และมีคนให้ความร่วมมือ 2,548 คน

ราว 1 ใน 4 ของกลุ่มคนเหล่านั้นไม่เคยสูบบุหรี่เลย

ส่วนที่เหลือ 40% สูบบุหรี่เป็นครั้งคราว, 17% สูบเป็นประจำแต่ไม่ติด และอีก 19% เป็นกลุ่มที่ติดบุหรี่

ในกลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่ เกือบ 15% บอกว่า เคยมีความคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งหมายถึงเคยวางแผนฆ่าตัวตาย หรือมีความคิดอยากตายอยู่ในหัวเป็นเวลา 2 สัปดาห์หรือมากกว่า

กลุ่มคนที่สูบเป็นครั้งคราวแต่ไม่ติดมีอัตราความคิดฆ่าตัวตายราว 20% แต่กลุ่มที่ติดบุหรี่คนคิดปลิดชีวิตตัวเองถึง 30%

อัตราดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในกลุ่มคนจำนวน 69 คน ซึ่งได้พยายามลงมือฆ่าตัวตายไปแล้ว

บรรดากลุ่มคนที่ไม่สูบบุหรี่ มีเพียง 0.6%ที่บอกว่า ได้พยายามจบชีวิตตัวเอง ส่วนในกลุ่มที่สูบแต่ไม่ติดมีอัตราอยู่ที่ 1.6% แต่ในกลุ่มที่ติดบุหรี่ อัตรานั้นพุ่งไปอยู่ที่ 6.4%

เพื่อให้แน่ใจว่า ผลที่ออกมานั้นไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่น กลุ่มนักวิจัยจึงตัดคนที่เสพยาเสพติด ดื่มแอลกอฮอล์ และผู้มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้าออก

ผลที่ได้ก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งก็คือ ยิ่งสูบบุหรี่มากเท่าไหร่ ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะคิดฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกลุ่มนี้ก็ยอมรับว่า การศึกษาครั้งนี้ยังมีข้อจำกัดอยู่บางประการ

ประการแรกก็คือ ในการสัมภาษณ์ติดตามผลดังกล่าว ไม่เกิดการฆ่าตัวตายจริงๆ ดังนั้นผลสรุปของงานศึกษาชิ้นนี้จึงอิงกับแค่ความคิดฆ่าตัวตายหรือความพยายามฆ่าตัวตาย แต่ไม่ได้อิงจากการฆ่าตัวตายจริงๆ

ประการที่สองคือ เมื่อตอนเริ่มทำการศึกษาจิตวิทยา อาสาสมัครหลายๆคนยังอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้น และในอีก 4 ปีให้หลัง พวกเขาก็ยังไม่พ้นช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่เสี่ยงต่อการคิดสั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น