xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่ทันไรก็คิดจะ ‘ปล้น’ กันอีกแล้วหรือ?

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

สองสามวันมานี้ ข่าวใหญ่สำหรับตัวผมเองไม่ได้เป็นข่าวการประกาศเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนของอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยหลงใหลใน ‘อลิซาเบธ เทย์เลอร์’ และชอบท่องสูตรคูณ 37x20 หรือ การเดินทางกลับมาสู้คดีของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร แต่เป็นข่าวในหน้าข่าวเศรษฐกิจที่หลายๆ คนไม่ค่อยให้ความสนใจนัก นั่นคือข่าวการตั้งเป้าปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 ของกระทรวงการคลังที่เผยแพร่ออกมาตามหน้าหนังสือพิมพ์ในเช้าวันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2551

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีใครครหาได้ว่า ผมหยิบเอาเนื้อข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการมาผลิตซ้ำให้ร้ายกระทรวงการคลัง ดังนั้นในเนื้อหาช่วงต่อไปนี้ผมขอยกเอารายละเอียดของข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาอ้างอิงก็แล้วกัน

ปรับขึ้นแวตจาก 7% เป็น 10% (จาก ไทยรัฐ จันทร์ที่ 7 ม.ค. 2551 หน้า 9)

รายงานข่าวดังกล่าวมีใจความสำคัญระบุว่า ในปี 2551 นี้กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 ของรายได้เหลือร้อยละ 25 พร้อมกับยกเลิกเพดานสูงสุดของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ใช้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 37 เหลือสูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังจะขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 ในขั้นแรก และจะปรับเพิ่มขึ้นจนสูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ในขั้นต่อๆ ไป

รายงานข่าวกล่าวว่า ข้ออ้างในการปรับโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลังครั้งนี้ก็เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยและลดต้นทุนให้บริษัทต่างชาติที่ตั้งอยู่ในไทย โดยยกเอาอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศเพื่อนบ้านมาเปรียบเทียบ โดยกล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือ ฮ่องกงต่างก็เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อชดเชยรายได้จากเงินภาษีที่จะลดลงไปจากการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม

จากข่าวข้างต้น ผมสามารถตีความเป็นภาษาชาวบ้าน ให้เข้าใจง่ายๆ ได้ว่า ปี 2551 นี้กรมสรรพากรประกาศที่จะออกปล้นชาวบ้านกันอีกครั้งแล้ว ที่สำคัญคือครั้งนี้เป็นการปล้นเงิน ‘คนจน’ ไปให้ ‘คนรวย’ เสียด้วย!

ปล้นกันอย่างไร?

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT’ นั้นเป็นระบบการเก็บภาษีแบบถอยหลัง (Regressive Tax ) กล่าวคือเป็นภาษีที่ไม่ว่าจะคนรวย คนจน คนไม่มีรายได้ คนชรา เด็ก คนพิการ ต่างก็ต้องจ่ายในจำนวนเท่ากันทั้งหมด โดยภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ประชาชนถูกเรียกเก็บทุกครั้งจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการในขั้นสุดท้ายโดยปัจจุบันถูกเก็บในอัตราร้อยละ 7 ยกตัวอย่างเช่น ไม่ว่าจะเศรษฐีร้อยพันล้าน หรือ คนตกงาน หากคิดจะซื้อสินค้าราคา 100 บาท ต่างก็ต้องจ่ายภาษีเข้ารัฐในอัตราเดียวกันทั้งสิ้นคือ 7 บาท

...... ทั้งๆ ที่เงิน 7 บาทสำหรับเศรษฐีแล้วอาจมีค่าเพียงแค่เศษสตางค์ ส่วนเงิน 7 บาทสำหรับคนตกงานแล้วหมายถึงค่านมลูกและค่าอาหารในมื้อต่อๆ ไป

แน่นอนบรรดาผู้มีอำนาจในกระทรวงการคลังย่อมทราบอยู่แก่ใจว่า การคิดจะ “ดึงเงินจากกระเป๋าชาวบ้าน” ด้วยการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 แต่เพียงอย่างเดียวคงสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนเป็นแน่แท้ พวกเขาจึงออกอุบายมาว่า ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างภาษีควบคู่กันไปด้วย โดยจะเป็นการปรับลดอัตราภาษีเงินได้ของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน อย่างเช่น การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เสียภาษีในอัตราสูงสุดร้อยละ 37 ลงเหลือร้อยละ 30 ดังเช่นเนื้อข่าวจากไทยรัฐที่กล่าวว่า

“กระทรวงการคลังจึงมีแนวคิดที่จะยกเลิกอัตราภาษีสูงสุด 37% โดยกำหนดวงเงินของรายได้ใหม่คือ ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 30% ซึ่งแน่นอนว่าคนรวยที่มีรายได้มากๆ จะได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีที่ลดลง แต่หากมองในแง่ของการสูญเสียรายได้ของกรมสรรพากรแล้วกลับมีเพียงเล็กน้อย เพราะอัตราภาษีที่หายไปมีเพียง 7% เท่านั้น”

ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่าผู้ที่เสียภาษีในอัตราสูงสุดนั้นจะต้องมีรายได้ปีละเท่าไหร่?

คำตอบคือ บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 37 นั้นจะต้องมีรายได้มากกว่าปีละ 4 ล้านบาท หรือรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 333,333 บาทขึ้นไป!

ส่วนการที่ออกมาประกาศว่า จะมีการแบ่งวงเงินของรายได้ใหม่ ให้มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ไม่เกิน 170,000-180,000 บาทต่อปีได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมกับเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆให้มากขึ้นไปอีกก็ขาดความชัดเจนอย่างสิ้นเชิง เพราะ ยังไม่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมให้แก่ประชาชนแต่อย่างใด หรืออาจกล่าวว่าเป็น “สัญญาปากเปล่า” ก็คงได้

แม้ว่าในวันถัดมา (8 ม.ค.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะส่งตัวแทนออกมาบอกกับสื่อมวลชนว่า กระทรวงการคลังเปลี่ยนใจแล้วโดยจะยังคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 7 เช่นเดิมตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ให้คงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2551 แต่ในอนาคตก็ยังไม่แน่นอนว่าจะมีการขึ้นปรับภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือไม่เนื่องจากการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ กระนั้นการออกมาโยนหินถามทางก่อนหน้านี้ก็ได้เผยธาตุแท้ของผู้บริหารกระทรวงการคลังออกมาให้ชาวบ้านได้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้ว

ทั้งๆ ที่ในปี 2550 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นค่ารถโดยสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมันพืช น้ำดื่ม นม ปุ๋ย ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ต่างทยอยขึ้นราคากันไปแล้วและกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของชาวบ้าน มนุษย์เงินเดือนและชนชั้นแรงงานที่มีรายได้น้อย เหตุใดกระทรวงการคลังจึงต้องมาโยนภาระภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 10 ให้พวกเราต้องแบกเพิ่มด้วยเล่า?

แทนที่ กระทรวงการคลังจะ “รีดเลือดกับปู” ทำไมพวกท่านไม่ไป “รีดเลือดกับสัตว์มีเขี้ยว” ทั้งหลายดูบ้างอย่างเช่น การปรับเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้สูงให้มากกว่าร้อยละ 37 ( แทนที่จะปรับลด ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นๆ เขาก็ทำกันเพียงแต่พวกท่านไม่อยากที่จะอ้างอิงถึง ) หรือ การขยายฐานภาษีในส่วนของภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีการโอนอสังหาริมทรัพย์ ภาษีในการซื้อขายหุ้น (ระยะสั้น) ในตลาดหลักทรัพย์ รวมไปถึงจัดการกับบรรดานักการเมืองที่หนีภาษี-โกงภาษีให้เด็ดขาดเสียที

ถ้าพวกท่านไม่กล้าออกนโยบายหรือกลัวว่าจะเก็บภาษีจากบรรดา “สัตว์มีเขี้ยว” เหล่านี้ไม่ได้ก็กรุณาออกมายอมรับกับประชาชนตรงๆ เถอะว่า “ทำไม่ได้-ไม่กล้าทำ” แล้วพวกผมจะไม่ต่อว่าพวกท่านสักคำ!
กำลังโหลดความคิดเห็น