xs
xsm
sm
md
lg

มหาวิทยาลัยราชภัฏ... วิกฤตหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: เฉลิมพล พลมุข

ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ว่าที่บัณฑิตของราชภัฏจะได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเป็นนักศึกษาที่ได้เข้าสู่ระบบการเรียนการสอนมาหลายปี บางคนใช้เวลาสั้นบ้าง ยาวบ้างก็ตามศักยภาพของแต่ละคนที่ต้องใช้ความพยายามเพื่อให้จบการศึกษาอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเรียน

ในปีนี้ พ.ศ. 2551 มีว่าที่บัณฑิตจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจำนวน 57,398 คน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 40 แห่ง โดยประมาณแต่ละแห่งจะมีบัณฑิตประมาณ 1,400 กว่าคน

หากย้อนไปดูระบบและตัวเลขของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ย้อนจากปีนี้ไปในอดีตพบหลาย ๆ ข้อมูลที่น่าใจหายและน่าเป็นห่วงถึงอนาคต...

ก. นักศึกษา : หรือลูกค้า สินค้า ที่มหาวิทยาลัยถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดถึงการประสบความสำเร็จระบบการศึกษาของผู้บริหาร ในระบบการศึกษาปัจจุบัน มีจำนวนนักศึกษาภาคปกติ หมายถึงเรียนเต็มเวลาตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ และนักศึกษาภาคพิเศษ เช่น เสาร์ อาทิตย์ หรือมิเช่นนั้นก็จัดวัน เวลาอื่นที่สามารถจัดการศึกษาให้ได้ อัตราค่าเทอมก็แตกต่างกันไป หากมองย้อนไปในอดีตและปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง ตัวเลขดังกล่าวลดลงมาก อะไรที่เป็นสาเหตุดังกล่าว

ต้องยอมรับความจริงว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้มีการแข่งขันกันในแง่ของการบริหารจัดการกันทุกอย่าง อาทิ ค่าเทอม ที่พัก บริการอาหาร บริการเงินกู้จากภาครัฐ แม้กระทั่งรับประกันการมีงานทำหลังจากจบการศึกษา สาขาวิชาที่เป็นแรงดึงดูดที่น่าเร้าใจที่คาดว่าจบแล้วไม่มีคำว่าตกงาน

มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่ง ต้องแบ่งเขตแบ่งโซนเพื่อกวาดต้อนนักศึกษาให้เข้าเรียน บางแห่งถึงขั้นพยายามหาลูกค้า หรือนักศึกษาชนิดที่ว่าเข้าไปในเขตหวงห้าม จนกระทั่งมีเรื่องการขัดแย้งกันภายในแวดวงราชภัฏอันเป็นนัยสำคัญที่ไม่ค่อยจะปรากฏในสื่อมากนัก

หลาย ๆ ข่าวที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวอาชญากร มีการเอ่ยถึงสถานะของการเป็นนักศึกษาด้วย เช่น การฆ่ากันเพื่อชิงรักหักสวาท บางคนไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ค้าอาวุธ หรือแม้กระทั่งขายบริการ หลงฟุ้งเฟ้อกับวัตถุนิยม บริโภคนิยม ติดเกมออนไลน์ กระทำความผิดทั้งศีลธรรมและกฎหมาย

พฤติกรรมของนักศึกษา ขณะที่กำลังเรียนอยู่มีหลายอย่างเป็นที่เอือมระอาของผู้บริหารเช่น การแต่งกายผิดระเบียบ นุ่งสั้น เอวกิ่ว รัดติ้ว บางคนประเภทสวยใสแต่ไร้สมอง เอาเสื้อออกนอกกางเกง ใส่ยีนส์ รองเท้าไม่หุ้มส้น สูบบุหรี่ กินเหล้า ตบตีแย่งชิงคู่รักกัน นักศึกษาบางคนตั้งแต่ต้นเทอมจนกระทั่งปลายเทอมไม่มีหนังสือเรียนเป็นของตนเอง บางคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ในแต่ละปีจะมีจำนวนนักศึกษาที่ถูกให้ออกเนื่องจากเกรดเฉลี่ยไม่ถึงมีเป็นจำนวนมาก แต่อีกไม่นานนัก อดีตนักศึกษาเหล่านั้นก็วนเวียนเข้ามาสู่ระบบการศึกษาอีก

มีนักศึกษาบางคนที่ใฝ่เรียน มีความตั้งใจ คิดถึงอนาคตของตนเอง ครอบครัว บางคนถึงกับสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและมหาวิทยาลัย หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ยังอยู่ในระดับที่น้อยมาก

คุณภาพหลังจากจบการศึกษาของบัณฑิต มีหลาย ๆ บริษัท หลายหน่วยงานปฏิเสธที่จะรับเข้าทำงาน หรือถึงแม้ว่ารับเข้าทำงานแต่โดยฐานะ ตำแหน่ง ค่าตอบแทนและโอกาสต่างจากบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาของรัฐที่มีชื่อ รวมทั้งของมหาวิทยาลัยเอกชนด้วย การตีตราหรือกำหนดคุณค่าของบัณฑิตซึ่งมีความแตกต่างกัน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ... อะไรที่ทำให้บัณฑิตทั้งหลายเป็นเช่นนี้ การบ้านข้อใหญ่นี้คงจะปฏิเสธที่จะไม่รับผิดชอบจากผู้บริหาร ได้หรือไม่...

ข. อาจารย์ / บุคลากร : เป็นบุคลากร จักรกลที่สำคัญยิ่งในการผลักดัน ร่วมมือ ปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไปด้วยดี นับตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายให้ข้าราชการได้ออกจากราชการก่อนกำหนด หรือเรียกว่า เออร์รี่รีไทน์ ทำให้มีจำนวนอาจารย์ที่มีความประสงค์ออกจากราชการจำนวนมาก บางโปรแกรมหรือภาควิชาแทบจะสูญพันธุ์ไปเลยก็มี ส่วนที่มีอยู่ก็อยู่ไปตามสภาพของความเป็นราชการ

ปัจจุบันอัตราส่วนระหว่าง อาจารย์ที่เป็นข้าราชการ หรือ อาจารย์อัตราจ้างที่ต้องทำสัญญากันเป็นระบบปี บางแห่งอยู่ที่ 30 : 70 บางแห่งอยู่ที่ตัวเลขน้อยกว่านี้ อะไรจะเกิดขึ้นกับสถานการณ์ของราชภัฏในอนาคต

ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏอัน ได้แก่ สภามหาวิทยาลัย อธิการบดีและผู้บริหาร เป็นตัวจักรกลที่สำคัญยิ่งที่จะผลักดัน กำหนดนโยบาย ทิศทาง แนวทางในการปฏิบัติ ผู้บริหารหลายคนคุ้นเคยกับระบบธรรมเนียมของราชการ ทำให้มีการแข่งขันกันภายในราชภัฏ มีการแบ่งเกรด A B C D

ผู้บริหารบางแห่ง พยายามหากลยุทธ์ใหม่ หลายอย่าง อาทิ พยายามที่จะเปิดการเรียนระดับปฐมวัย ประถมศึกษา แม้กระทั่งสาธิตของมัธยมศึกษา เปิดหลักสูตรปริญญาโท ปริญญาเอก หรือมีความพยายามหารายได้ทางอื่น ๆ เพื่อความอยู่รอดเช่น เปิดตลาดนัดขายของ เชิญนักศึกษาที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาเรียน และวิธีอื่น ๆ ที่หลายหลาก

ช่วงปีที่ผ่านมาเป็นช่วงโปรโมชันทางวิชาการ แต่ละแห่งมีการแข่งขันกันโชว์กันด้วยตัวเลขจากจำนวน ผศ. (ผู้ช่วยศาสตราจารย์) รศ. (รองศาสตราจารย์) หลายแห่งมีจำนวนอาจารย์ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก (ด็อกเตอร์) จำนวนมาก แต่ในทางกลับกัน จำนวนนักศึกษาน้อยลง สัมพันธภาพของบุคลากรขาดหายไป บางแห่งมีเรื่องขัดแย้งกันจนกระทั่งเป็นคดีฟ้องร้องกันในศาล

ค. ระบบการแข่งขัน : เริ่มตั้งแต่การแข่งขันกันตั้งแต่คณาจารย์ในแต่ละโปรแกรม แต่ละคณะ บางโปรแกรมในปัจจุบันมีแต่จำนวนอาจารย์แต่ไม่มีนักศึกษาเข้ามาเรียนแม้แต่คนเดียวโดยเฉพาะสายทางด้านวิทยาศาสตร์ ที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษของผู้เรียนทั้งด้านความจำ ความเข้าใจ การพิสูจน์ ทดลอง

การแข่งขันกันของผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะเพิ่มยอดของนักศึกษา ชื่อเสียงของหลักสูตร ในปัจจุบันมีหลายแห่งมีความพยายามที่จะดึงคนที่มีชื่อเสียงของสังคม ประสบความสำเร็จของชีวิตเข้ามาจัดหลักสูตรเพื่อเป็นหลักสูตรที่น่าเร้าใจ บ้างก็พยายามหาจุดขายอื่นเช่น ขายเบเกอรี่ ทำสนามกอล์ฟ ทำโรงแรมที่พัก ทำรีสอร์ต และหาช่องทางรายได้อื่น ๆ

การแข่งขันกันกับมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียง ที่เข้าไปเปิดการศึกษาในเขตแดน เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน การแข่งขันเหล่านี้ไม่ได้เริ่มต้นในปีนี้ แต่มีการดำเนินการกันมานานและยังคงดำเนินต่อไปในอนาคตอีก บางแห่งจัดการศึกษาเข้าไปถึงทัณฑสถานและเรือนจำ รวมทั้งในวัดบางแห่ง บ้างก็ข้ามไปเปิดถึงประเทศที่ติดชายแดนและใกล้เคียง บางแห่งเปิดศูนย์การศึกษามากมายเข้าไปในห้างสรรพสินค้า โรงเรียนเอกชน ในปัจจุบันมีการปิดกิจการระดับศูนย์การศึกษาไปหลายแห่งแล้ว ทั้งหลายทั้งปวงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน อะไรคือการศึกษาที่แท้จริงของมนุษย์ เป้าหมายของการศึกษาของมนุษย์คือ เก่ง ดี มีสุข และคุณธรรม จริยธรรม เกื้อกูลสังคม ยังมีอยู่ในแวดวงการศึกษาหรือไม่...

ง. ระบบการเมือง : กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่มีรัฐมนตรีที่มีการเปลี่ยนโฉมหน้ามากที่สุด ผู้นำแต่ละคนที่เข้ามาต่างมีนโยบาย กลยุทธ์ วิธีการที่ต่างกัน การยึดถือปฏิบัติเป็นไปตามกระแสของผู้นำแต่ละคนต่างผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปชิมลาง แล้วก็เปลี่ยนไปรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า ใครคือนักการเมืองที่เข้าใจการศึกษาที่แท้จริงและชัดเจน มีผู้รู้บางคนถึงกับพูดว่า ระบบการศึกษาบ้านเราต่างจากประเทศเวียดนาม ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกันเป็นอย่างมาก

เมื่อมีการจัดลำดับมหาวิทยาลัยระดับโลก มหาวิทยาลัยบ้านเราดูแล้วยังไม่ทราบว่าอีกกี่ปีจะทัดเทียมนานาประเทศ หรือจะมีลักษณะที่เป็นเอกอุที่นานาประเทศต้องนำไปเป็นแบบอย่าง จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่…

งบประมาณที่ได้รับการจัดสรร แต่ละแห่งมีความแตกต่างกันเป็นนัยสำคัญที่ไม่สามารถจะหาเหตุผลที่สมเหตุสมผลมาอธิบายได้ ซึ่งมีการเปรียบเทียบกันว่า รัฐจัดสรรงบประมาณให้มหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงสำหรับการบริหารคณะมากกว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งองค์กร อะไรคือความเท่าเทียมและเหมาะสม

บ้านเราเมืองเรา มีผู้รู้ ผู้ชำนาญการ มีประสบการณ์ บางคนผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ ผ่านการดูงานหลาย ๆ ประเทศ ผู้รู้เหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก อะไรที่ทำให้ระบบการศึกษาเป็นเช่นนี้ และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตอีกนานหรือไม่...

การเกิดมาเป็นคน การศึกษาเป็นส่วนสำคัญของชีวิต ผู้ปกครองหลายคนได้ทุ่มเทกำลังกาย ใจ ทรัพย์สมบัติ เพื่อให้บุตรหลานเข้าสู่ระบบ หวังผลในอนาคตคือการเป็นคนดี มีคุณภาพ สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นที่พึ่งพาของผู้อื่นได้ มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อชะตากรรมของประเทศชาติบ้านเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฎ คือ มหาวิทยาลัยรากหญ้า ที่มีจำนวนคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไปเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เวลานี้และอนาคต ใครเป็นผู้กำหนดให้วิกฤตหรือพลิกโอกาส...
กำลังโหลดความคิดเห็น