xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของศาลยุติธรรมกับการคุ้มครองผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

ปัจจุบันสภาพการค้าและระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีการนำความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องคุณภาพของสินค้าหรือบริการ และไม่เท่าทันเทคนิคการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งยังขาดอำนาจต่อรองในการเข้าทำสัญญาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ

ทั้งเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นและมีการฟ้องร้องต่อศาลได้สร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภคที่จะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตนต่อศาลผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ ดังนั้น เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายเข้าถึงความยุติธรรมด้วยความสะดวก เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ศาลยุติธรรมจึงเสนอร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค

ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. .... มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการดำเนินคดี โดยเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่ต่อสู้คดีบนพื้นฐานของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถือว่าคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายมีสถานะในการต่อสู้คดีเท่าเทียมกันโดยยึดหลัก “ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นมีหน้าที่นำสืบ” มาเป็นการผลักภาระในการนำสืบพยานหลักฐานด้านเทคนิค หรือขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่มีขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายผู้ประกอบการที่จะต้องนำข้อมูลหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตน

คดีใดเป็นคดีผู้บริโภค?

ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดความหมายของ “คดีผู้บริโภค” ไว้ว่า

1. คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องแทนผู้บริโภคตามมาตรา 17 ซึ่งได้แก่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคหรือตามกฎหมายอื่น กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ

2. คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย

3. คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีตาม 1 หรือ 2

4. คดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้วิธีพิจารณาตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

นอกจากนั้น หากมีข้อสงสัยว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ ให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด

กระบวนการพิจารณาคดีที่คำนึงถึงผู้บริโภคเป็นสำคัญ

กฎหมายกำหนดให้มี “เจ้าพนักงานคดี” ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดี เช่น การไกล่เกลี่ยคดี การตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน การบันทึกคำพยาน การดำเนินการให้มีการคุ้มครองสิทธิของคู่ความทั้งก่อนและระหว่างการพิจารณา เป็นต้น ซึ่งถือว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค และคุ้มครองผู้บริโภคโดยกำหนดให้แม้นิติกรรมระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการจะทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด เช่น การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ผู้บริโภคมิได้ทำสัญญาหรือทำแต่ทำไม่ถูกต้องตามแบบ

หากผู้บริโภคได้วางมัดจำหรือชำระหนี้บางส่วนแล้ว ให้ผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาให้เป็นไปตามแบบหรือชำระหนี้เป็นการตอบแทนได้ รวมถึงการเสนอให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่ผู้บริโภคเพื่อตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา เช่น ข้อความโฆษณาหรือประกาศต่างๆ ถึงแม้ว่าสัญญานั้นกฎหมาย

จะระบุว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือแต่มิได้ระบุข้อเสนอนั้นลงไปในสัญญา ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถเรียกร้องบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามได้ แต่ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้หากผู้บริโภคสามารถนำสืบถึงความมีอยู่จริงของคำโฆษณาเหล่านั้นก็สามารถยกขึ้นต่อสู้ในศาลบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตาม

คำโฆษณาเหล่านั้นได้

ในการสืบพยานหากบุคคลใดหรือคู่ความฝ่ายใดเกรงว่าพยานหลักฐานที่จะใช้อ้างอิงในภายหน้าจะสูญหายหรือยากแก่การนำสืบ ผู้นั้นมีสิทธิยื่นคำขอต่อศาลให้สืบพยานหลักฐานนั้นไว้ในทันทีก็ได้ และหากมีความจำเป็นเร่งด่วนอาจมีคำร้องให้ศาลยึดหรืออายัดพยานหลักฐานนั้นไว้ก่อนก็สามารถกระทำได้

นอกจากนั้นกฎหมายยังเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานคดี หรือบุคคลที่ศาลหรือคู่ความกำหนดทำการไกล่เกลี่ยคู่ความให้ตกลงประนีประนอมยอมความกันก่อนเริ่มพิจารณาคดีได้

สำหรับประเด็นข้อพิพาทข้อใดที่จำเป็นต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการผลิต การให้บริการหรือการใดที่ศาลเห็นว่าเป็นเรื่องอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น ให้ภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับผู้ประกอบธุรกิจ และในขณะที่พิพากษาคดี หากเป็นการพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้ได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยนั้นมีเพียงใด ศาลอาจสงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษานั้นภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดแต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ยิ่งไปกว่านั้นร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคยังครอบคลุมไปถึงการเรียกผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ามาร่วมรับผิดในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องไม่ใช่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าอีกด้วย

สรุป
ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ....ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วอยู่ระหว่างรอทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยมีสาระสำคัญมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในชั้นพิจารณา เช่น ภาระนำสืบหรือปัญหาความสมบูรณ์ของสัญญาให้ตกอยู่แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่าผู้บริโภค นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและให้บริการที่มีมาตรฐานเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม คดีที่เข้าข่ายเป็นคดีผู้บริโภคต้องเป็นกรณีพิพาทระหว่าง “ผู้บริโภค” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” เท่านั้น หากเป็นกรณีอื่นการดำเนินคดีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้กันอยู่ทั่วไป

กำลังโหลดความคิดเห็น