xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

UPS กับอันดับ 1 ของโลกในด้านลอจิสติกส์

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

UPS หรือมีฉายาว่า Big Brown นับเป็นบริษัททำธุรกิจขนส่งพัสดุภัณฑ์ด่วนใหญ่ที่สุดในโลก โดยแต่ละวันมีการจัดส่งมากถึง 15.7 ล้านชิ้น นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญเกี่ยวกับความสำเร็จในด้านลอจิสติกส์

บริษัท UPS ก่อตั้งขึ้นในปี 2450 หรือ 100 ปีมาแล้ว ที่นครซีแอตเติล ในมลรัฐวอชิงตัน จากความคิดของเด็กวัยรุ่น 2 คน นาย Claude Ryan อายุ 18 ปี และนาย Jim Casey อายุ 19 ปี ก็เห็นลู่ทางธุรกิจเนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีการใช้โทรศัพท์กันอย่างแพร่หลาย จำเป็นต้องจ้างบุคคลมาจัดส่งข้อความไปยังผู้รับ สำหรับตัวนาย Casey เอง ก็มีประสบการณ์ในด้านนี้มาก่อน เนื่องจากภายหลังที่บิดาเสียชีวิตลง เขาต้องช่วยครอบครัวโดยทำงานเป็นเด็กส่งของมาตั้งแต่อายุ 11 ปี

ทั้ง 2 คนจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจจัดส่งข้อความ บริการในช่วงนั้นมีทั้งรูปแบบเดินหรือวิ่งไปส่ง รวมถึงการขับจักรยานไปส่งหากมีระยะทางไกล โดยในช่วงแรกมีรถจักรยานจำนวน 6 คัน อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อโทรศัพท์มีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจมาเป็นการรับจ้างขนส่งสินค้าจากห้างสรรพสินค้าไปยังบ้านของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องเผชิญปัญหาอีกครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยห้างสรรพสินค้าพยายามให้ลูกค้ารับผิดชอบขนสินค้าที่สั่งซื้อกลับไปบ้านเอง แทนที่การจัดส่งสินค้าให้เนื่องจากเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ประกอบกับประชาชนมีรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สะดวกที่จะขนส่งสินค้าเอง ธุรกิจของบริษัทจึงกลายเป็นสิ่งล้าสมัย

เพื่อพลิกวิกฤตมาเป็นโอกาส บริษัท UPS ได้หันมาทำธุรกิจรับจ้างขนส่งพัสดุภัณฑ์เป็นการทั่วไปนับตั้งแต่ปี 2496 เป็นต้นมา ทำให้กลายเป็นคู่แข่งของหน่วยงานไปรษณีย์ของสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงนั้นบริษัทก็ต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางกฎหมายที่ห้ามแข่งขันกับหน่วยงานไปรษณีย์ อย่างไรก็ตาม ภายหลังต่อสู้คดีมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี ในที่สุดก็สามารถแข่งขันได้อย่างถูกกฎหมาย

ธุรกิจของ UPS ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านความรวดเร็วในการจัดส่ง โดยหากเป็นการจัดส่งในพื้นที่ 48 มลรัฐของสหรัฐฯ จากทั้งหมด 50 มลรัฐ ยกเว้นเฉพาะมลรัฐฮาวายและมลรัฐอลาสก้าเท่านั้น บริษัทสามารถจัดส่งถึงผู้รับปลายทางในเวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น ต่อมาในปี 2528 บริษัทได้ปรับปรุงประสิทธิภาพลดลงเหลือเพียงแค่ 1 วัน โดยหากจัดส่งพัสดุภัณฑ์ในวันใดวันหนึ่ง จะสามารถจัดส่งถึงผู้รับภายใน 10.30 น. ของวันรุ่งขึ้น

เดิมบริษัท UPS มีวิสัยทัศน์มุ่งเน้นการขนส่งพัสดุภัณฑ์ขนาดเล็กเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมามุ่งเน้นบริการบริหารห่วงโซ่แห่งอุปทานแบบเบ็ดเสร็จ (Total Supply Chain Management Solutions) โดยเป็นการประสานกันทั้งการขนส่งสินค้า การถ่ายเทข้อมูล และการสนับสนุนเรื่องการเงินอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และตรงตามเวลาที่กำหนด

จากข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2549 บริษัท UPS มีรายได้ 1,700,000 ล้านบาท และมีผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ 150,000 ล้านบาท มีเครือข่ายครอบคลุมมากกว่า 200 ประเทศ สามารถจัดส่งพัสดุไปถึงทุกแห่งหนของโลกในเวลาไม่เกิน 24 – 48 ชั่วโมง โดยสิ่งเดียวที่เป็นอุปสรรคจนอาจทำให้บริษัทไม่สามารถขนส่งพัสดุภัณฑ์ได้ทันเวลาที่กำหนด คือ พิธีการศุลกากรของบางประเทศที่ยังยุ่งยากและล้าหลัง บางครั้งต้องเสียเวลาในด้านนี้มากกว่าเวลาที่ใช้ในการขนส่งเสียอีก

บริษัท UPS นับเป็นผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุภัณฑ์ทั้งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก มากเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ละวันมีการขนส่งพัสดุภัณฑ์มากถึง 15.7 ล้านชิ้น นับเป็นจำนวนมากเป็น 2 เท่าของบริษัทคู่แข่งสำคัญ คือ FedEx มีพนักงานทั่วโลก 427,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงปลายปีซึ่งมีการส่งของขวัญกันมาก ปริมาณการขนส่งจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 22 ล้านชิ้น/วัน และต้องจ้างพนักงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นอีก 66,000 คน เพื่อให้สามารถขนส่งพัสดุภัณฑ์ได้ทันกับความต้องการ

ฐานการจัดส่งสินค้าทางอากาศของ UPS มีชื่อว่า UPS Worldport ตั้งอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติของเมืองหลุยส์วิลล์ในมลรัฐเคนทักกีในสหรัฐฯ ทั้งนี้ จากการที่ UPS ใช้ท่าอากาศยานแห่งนี้เป็นฐานลอจิสติกส์ ทำให้กลายเป็นท่าอากาศยานที่มีปริมาณการขนถ่ายสินค้าทางอากาศมากเป็นอันดับ 3 ของสหรัฐฯ และเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยในปี 2548 มีปริมาณการขนถ่ายสินค้ามากถึง 1.8 ล้านตัน ขณะเดียวกัน UPS เป็นผู้จ้างงานรายใหญ่ที่เมืองหลุยส์วิลล์ โดยปัจจุบันจ้างงานมากถึง 20,000 คน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 คน ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

การทำงานของศูนย์แห่งนี้จะอยู่ในช่วงกลางดึกเกือบทั้งหมด โดยนับตั้งแต่เวลา 23.10 นาฬิกา เป็นต้นไป เครื่องบินของ UPS แทบจะครองรันเวย์ของท่าอากาศยานแห่งนี้ โดยแต่ละวันเครื่องบินขนส่งสินค้าของบริษัท UPS ที่บินมาจากพื้นที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากกว่า 100 ลำ จะทยอยร่อนลงที่ท่าอากาศยานแห่งนี้อย่างต่อเนื่องทุก 90 วินาที
เมื่อร่อนลงท่าอากาศยานแล้ว เครื่องบินจะไปจอดยังหลุมจอด 44 สถานี จากนั้นจะนำพัสดุภัณฑ์ที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ออกจากเครื่องบิน และนำส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้า ส่วนพัสดุภัณฑ์บางส่วนจะขนส่งมายังศูนย์กระจายสินค้าโดยรถบรรทุก

สำหรับศูนย์กระจายสินค้าของ UPS จะมีขนาดใหญ่มาก พื้นที่กว้างขวางถึง 400,000 ตร.ม. ภายในอาคารแห่งนี้จะมีสายพานยาว 17,000 เส้น ความยาวรวมกันมากถึง 210 กม. วิ่งด้วยความเร็วสูงถึง 120 เมตร/นาที ยิ่งไปกว่านั้น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้มีเคเบิลใยแก้วความยาวรวมกันถึง 7,200 กม.

การทำงานภายในศูนย์กระจายสินค้าเป็นแบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด เริ่มจากพนักงานนำพัสดุภัณฑ์ออกจากตู้คอนเทนเนอร์และวางลงในสายพาน 3 แบบ โดยสายพานแรกรับพัสดุภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยม สายพานที่สองรับพัสดุภัณฑ์ขนาดเล็กหรือซองบรรจุเอกสาร และสายพานที่สามรับพัสดุภัณฑ์ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น มีลักษณะเป็นม้วน

จากนั้นพัสดุภัณฑ์แต่ละชิ้นจะถูกถ่ายรูป วัดขนาด ชั่งน้ำหนัก รวมถึงสแกนข้อมูลโดยอัตโนมัติ โดยใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลข้อมูลจำนวนมาก ผู้เชี่ยวชาญได้ประมาณการว่าศูนย์กระจายสินค้าของ UPS มีการประมวลข้อมูลในเวลา 30 นาที ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าตลาดหลักทรัพย์ของนครนิวยอร์กทำการประมวลข้อมูลตลอดทั้งวัน

แต่ละวันศูนย์แห่งนี้จะคัดแยกพัสดุภัณฑ์มากถึง 1 ล้านชิ้น ด้วยความสามารถในการคัดแยกมากกว่า 300,000 ชิ้น/ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการให้บริการเริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น บริษัทจึงลงทุนเพิ่มเติม 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 35,000 ล้านบาท เพื่อขยายความสามารถในการคัดแยกพัสดุภัณฑ์เป็น 487,000 ชิ้น/ชั่วโมง

สำหรับขั้นตอนการคัดแยกนั้น โดยเฉลี่ยแล้วพัสดุภัณฑ์แต่ละชิ้นจะต้องวิ่งไปตามสายพานเป็นระยะทางประมาณ 3.2 กม. โดยระหว่างนั้นจะสแกนและบันทึกข้อมูลโดยเครื่องสแกนเนอร์อัตโนมัติ และเมื่อวิ่งไปตามสายพานถึงตำแหน่งที่กำหนด พัสดุภัณฑ์ก็จะถูกอุปกรณ์ที่เรียกว่า Diverter ผลักให้ออกไปจากสายพานเพื่อให้ตกลงไปในช่องที่กำหนดสำหรับการจัดส่งไปจุดหมายปลายทางแต่ละแห่ง ทั้งนี้ พนักงานของ UPS ที่ประจำในแต่ละตำแหน่งจะทำการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าพัสดุภัณฑ์ชิ้นนั้นๆ ได้ถูกคัดแยกมายังตำแหน่งที่ถูกต้อง

เมื่อคัดแยกพัสดุภัณฑ์ตามจุดหมายปลายทางแล้วเสร็จ จะบรรจุใส่ในตู้คอนเทนเนอร์ จากนั้นจะขนตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นบนเครื่องบินลำที่จะเดินทางไปยังจุดหมายทางทางดังกล่าว และบางส่วนจะขนส่งโดยรถบรรทุก โดยเมื่อบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นบนเครื่องบินและได้เติมน้ำมันเครื่องบินแล้ว เครื่องบินจะทยอยบินขึ้นจากท่าอากาศยานในเวลาทุก 2 นาที โดยเครื่องบินทั้งหมดจะบินขึ้นจากท่าอากาศยานก่อนเวลา 4 นาฬิกา

จากนั้นศูนย์ลอจิสติกส์จะเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีสภาพสับสนวุ่นวาย มาเป็นสภาพเงียบสงบอีกครั้งหนึ่ง บรรดาพนักงานจำนวนมากถึง 5,000 คนนั้น เกือบทั้งหมดจะเดินทางกลับไปพักผ่อนที่บ้าน อย่างไรก็ตาม พนักงานในส่วนนักพยากรณ์อากาศซึ่งมีจำนวน 5 คน จะยังคงทำงานต่อไปในศูนย์ลอจิสติกส์ที่ท่าอากาศยานแห่งนี้ โดยผลัดเวรกันทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อศึกษาว่าสภาพอากาศจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งของบริษัทมากน้อยเพียงใด รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นต้นว่า หากพยากรณ์ว่าจะเกิดพายุใกล้เคียงกับศูนย์คัดแยกพัสดุภัณฑ์แห่งหนึ่งจนเกรงว่าจะไม่สามารถร่อนลงได้ ก็จะสั่งการให้เครื่องบินทำการบินไปคัดแยกที่ศูนย์คัดแยกแห่งอื่นเป็นการทดแทน

สุดท้ายนี้ แม้ UPS เป็นบริษัทเก่าแก่ในธุรกิจขนส่งพัสดุด่วน แต่การดำเนินธุรกิจในไทยกลับล่าช้ากว่าบริษัทอื่นๆ โดยกรณีของบริษัท DHL และ FedEx เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2514 และ 2526 ตามลำดับ แต่ UPS กลับเพิ่งเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยเมื่อปี 2531

สำหรับกรณีของประเทศไทย บริษัท UPS ได้เริ่มใช้เครื่องบินของตนเองเพื่อขนส่งพัสดุภัณฑ์มายังประเทศไทยเป็นเที่ยวบินแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 โดยเริ่มแรกใช้เครื่อง D-48 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเครื่องบินแบบ DC8F ที่ดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งพัสดุภัณฑ์โดยเฉพาะ และเปลี่ยนเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 757-200 สามารถขนส่งสินค้าได้ถึง 40 ตัน

ปัจจุบัน UPS ได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องบินแบบ MD-11 ซึ่งสามารถขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 85 ตัน บินมาไทยจำนวน 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ โดยมีเส้นทางบินจากท่าอากาศยานของนครโคโลญจ์มาแวะที่ดูไบเป็นจุดแรก จากนั้นเครื่องบินจะแวะลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 1.00 นาฬิกา โดยจะใช้เวลาขนพัสดุภัณฑ์ขึ้นและลงจากเครื่องบินเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจะบินขึ้นเพื่อเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานชางกีของสิงคโปร์ ท่าอากาศยานนครมุมไบของอินเดีย และบินกลับไปยังท่าอากาศยานของนครโคโลญจ์อีกครั้งหนึ่ง

สำหรับพัสดุภัณฑ์ที่ส่งมาถึงประเทศไทยโดยเครื่องบินเมื่อเวลา 1.00 นาฬิกานั้น จะสามารถส่งถึงผู้รับในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงภายในวันเดียวกัน พัสดุภัณฑ์ขนส่งไปยังจุดหมายปลายทางในยุโรปและสหรัฐฯ จะใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน โดยจะส่งจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังศูนย์คัดแยกลอจิสติกส์ของ UPS ที่ท่าอากาศยานของนครโคโลญจ์ จากนั้นถึงจะส่งไปยังประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ อีกต่อหนึ่ง

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น