xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ประชาชนต้องการความคุ้มครอง เมื่อมีคดีกับตุลากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มีการพูดถึงการถ่วงอำนาจตุลาการกันอย่างกว้างขวางพอสมควร เพราะต้องยอมรับว่า อำนาจตุลาการเป็นอำนาจที่ไม่มีการถ่วงดุล แตกต่างกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารที่มีการถ่วงดุลกันและกัน แม้ว่า วิกฤติการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ตุลาการมีบทบาทในการเข้ามาแก้ปัญหาการเมืองได้มากมาย แต่อีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างตุลาการกับประชาชน ยังมีช่องว่างพอสมควร

เพราะเพียงแค่ชาวบ้าน มีเรื่องราวฟ้องร้องกับข้าราชการธรรมดาๆ การต่อสู้คดีก็มีปัญหามากมายเพียงพอแล้ว แต่การต้องเป็นคดีความกับตุลาการนั่น ต้องประสบกับปัญหามากมายกว่าหลายเท่า

มีตัวอย่างหนึ่ง ที่น่าจะเป็นกรณีศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ตุลาการกับประชาชน ตัดจากหนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 30 มีนาคม 2550 ที่ข่าวว่า ศาลแขวงดุสิต ได้อ่านคำพิพากษาจำคุกนางวรรณฑนา จักษุเวช นายบุญส่ง พฤกษ์สถาพร และนายพิชัย พฤกษ์สถาพร กรรมการบริษัท ที.พี.เอ็น.สตีล กรุ๊ป จำกัด เป็นเวลา 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี ในคดีที่นายอมร วีรวงศ์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องข้อหาร่วมกันแจ้งความเท็จและหมิ่นประมาท

เพื่อให้เห็นภาพต้องย้อนกลับไปดูรายละเอียดถึงความเป็นมาเป็นไปของคดี คดีนี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2545 เมื่อบุคคลทั้ง 3 คือนางวรรณฑนา นายบุญส่ง และนายพิชัย ได้ร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการศาลยุติธรรม ต่อคณะกรรมการศาลยุติธรรม คณะอนุกรรมการศาลยุติธรรม และเลขาธิการศาลยุติธรรม เมื่อครั้งนายอมร ดำรงตำแหน่งประธานศาลอุธรณ์ภาค 2 กล่าวหาว่า ประพฤติผิดวินัยและจริยธรรมของตุลาการ

ที่มาของคดีนั้น เกิดจากการที่นางศิริพร (คูสกุล) ได้แต่งงานกับนายบุญเลิศ พฤกษ์สถาพร แต่ต่อมานายบุญเลิศ ได้เสียชีวิตนางศิริพร จึงได้ขอแบ่งแยกทรัพย์จากครอบครัว พฤกษ์สถาพร จากเดิมที่ได้รับเงิน เป็นรายเดือน

สำหรับบริษัทที.พี.เอ็น.สตีล กรุ๊ป จำกัดนั้น ทำธุรกิจผลิตตะปูยิงอลูมิเนียม ซึ่งเป็นธุรกิจในลักษณะกงสี และจ่ายรายได้ให้กับบุคคลในครอบครัวเป็นรายเดือน และจ่ายให้นางศิริพร ด้วย แม้ภายหลังที่สามีคือนายบุญเลิศ จะเสียชีวิตแล้วก็ตาม ทั้งนี้ นางศิริพร เป็นหลานภรรยาของนายอมร

ในการเจรจาขอแบ่งแยกทรัพย์สินกับครอบครัวพฤกษ์สถาพร นายอมร และภรรยา ได้ร่วมเดินทางไปด้วย โดยนายอมร ได้ระบุในคำฟ้องว่า เดินทางไปเป็นพยานในการเจรจาเท่านั้น ไม่ได้ร่วมเจรจาด้วย ในขณะที่ครอบครัว พฤกษ์พร มีหลักฐานเทปบันทึกเสียง (เป็นหลักฐานในการสู้คดีในศาล)ว่า นายอมร ร่วมเจรจาด้วย โดยนางศิริพร เรียกร้องเงินจำนวน 60 ล้านบาท และกับหุ้นของบริษัท แต่การเจรจาครั้งนั้น ไม่ได้ข้อยุติ

ต่อมา ครอบครัวพฤกษ์สถาพร ได้ร้องเรียนให้ประธานกรรมการศาลยุติธรรม และหน่วยงานตามที่กล่าวแล้ว ขอให้สอบสวนนายอมรว่า เป็นผู้พิพากษาประพฤติผิดวินัยและจริยธรรมตุลากร ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ และประมวลจริยธรรมของตุลาการ ซึ่งนายอมร ระบุ ในคำฟ้องว่า การร้องเรียนของครอบครัว “พฤกษ์สถาพร” ทำให้ตัวเขาถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน และกระทบต่อการเลื่อนตำแหน่ง รวมทั้งไม่ได้รับการพิจารณาเป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุดด้วย

นายอมร ได้นำกรณีการยื่นร้องเรียนดังกล่าว ไปแจ้งความดำเนินคดีกับ คนในครอบครัวพฤกษ์สถาพร ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดุสิต แต่พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เมื่อถูกส่งถึงสำนักงานอัยการ สำนักงานอัยการก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกัน นายอมร จึงได้นำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลแขวงดุสิต ซึ่งศาลรับฟ้อง และมีคำพิพากษาดังกล่าว และทราบว่า คดีอยู่ระหว่างการอุทรณ์

คดีดังกล่าวมีการถกเถียงในหมู่นักกฎหมายถึงสิทธิ์การร้องเรียนของประชาชนต่อการกระทำมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงตุลาการด้วยว่า ควรจะได้รับการคุ้มครองหรือไม่ เพราะประชาชนธรรมดา ย่อมขาดโอกาสในการเข้าถึงการแสวงหาข้อมูลและหลักฐานได้ หากไม่ได้รับการขาดคุ้มครอง ย่อมเสียเปรียบเจ้าหน้าที่รัฐที่จะฟ้องกลับได้ ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพราะการต่อสู้คดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะกับตุลาการด้วยแล้ว เป็นเรื่องหนักหนาสากรรจ์

นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความแมกไซไซ ได้เขียนบทความลงนิตยสารสยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ฉบับล่าสุด ระบุว่า สิทธิของประชาชนชาวไทยที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาในเวลาอันควร ทั้งนี้ ตามกฎหมายบัญญัติ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประกาศทุกวันว่า ใครมีปัญหาร้องทุกข์ต่อสำนักนายกรัฐมนตรีได้ที่หมายเลข 1111

เช่นเดียวกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่ชักชวนให้ชาวบ้านเดือดร้อนร้องทุกข์ทุกวัน ถ้าร้องไปแล้ว ถูกฟ้องและติดคุก จะทำอย่างไร มีกฎหมายคุ้มครองประชาชนผู้ร้องขอความเป็นธรรมบ้างหรือไม่ คดีการฟ้องร้องครอบครัว “พฤกษ์สถาพร”เป็นตัวอย่างหนึ่งของประชาชนที่ต้องประสบความทุกข์ยากกับต้องต่อสู้คดีที่ถูกตุลาการฟ้องร้อง ประชาชนจะรับการปกป้องคุ้มครองจากใคร
กำลังโหลดความคิดเห็น