xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

อีกกลุ่มอนุภูมิภาคที่ไม่ควรมองข้าม : BIMSTEC

เผยแพร่:   โดย: พิชิต เดชนีรนาท

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียใต้ซึ่งเคยนำอักษรตัวหน้าชื่อประเทศมาเรียงเป็นชื่อของกลุ่ม BIMST-EC หลังจากที่เนปาลและภูฏานได้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกจึงได้เปลี่ยนมายึดตามประเทศที่ตั้งในแถบอ่าวเบงกอล นั่นคือ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) อันประกอบด้วย 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย สหภาพพม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย

ประชากรในกลุ่มประเทศ BIMSTEC มิใช่น้อย รวมแล้วกว่า 1,400 ล้านคน นับเป็นหนึ่งในสี่ของประชากรโลก โดยมีอินเดียมีประชากรมากที่สุด คือ 1,100 ล้านคน บังกลาเทศ 141 ล้านคน ไทย 63 ล้านคน สหภาพพม่า 50 ล้านคน เนปาล 28 ล้านคน ศรีลังกา 20 ล้านคน ภูฏาน 752,000 คน มีผลิตภัณฑ์ประชาชาติรวม 750 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กลุ่มประเทศเหล่านี้มีความเหมือนและความแตกต่างที่สอดคล้องกัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม มีความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์

ประเทศเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับไทยมานานทั้งในด้านศาสนา วัฒนธรรม สังคม แต่ในด้านเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมายังถือว่ามีน้อย ทั้งๆ ที่อยู่ไม่ไกลกันมาก อาจเนื่องมาจากความไม่รู้จักกันมากเท่าที่ควร ไทยสามารถเปิดประตูเชื่อมโยงเข้าสู่กลุ่มประเทศ BIMSTEC นี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางบกสามารถเดินทางผ่านทางพม่าได้หลายทางไปยังอินเดียแล้วกระจายสู่ประเทศต่างๆ ภายในกลุ่ม

ประเทศกลุ่มนี้มีเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลก การเติบโตในอัตราสูงพอควรร้อยละ 4- 7 มีตลาดขนาดใหญ่ การเมืองมีเสถียรภาพ มีการสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน ต่างชาติสามารถลงทุนได้ในอุตสาหกรรมการผลิตและโครงสร้างพื้นฐาน

การค้าขายภายในกลุ่มในปี 2547 ประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นร้อยละ 4.5 ของการค้าทั้งหมดของกลุ่มกับทั่วโลก (มูลค่า 222 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งยังถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก จึงเป็นโอกาสที่จะขยายปริมาณการค้าภายในกลุ่มได้อีกมาก ส่วนใหญ่เป็นการค้าระหว่างไทยกับพม่าและอินเดีย พม่าค้ากับไทยและอินเดีย แต่อินเดียนั้นค้ากับบังกลาเทศ ศรีลังกา และไทย

ด้านการลงทุนก็มีสถานภาพเช่นเดียวกันกับด้านการค้า การลงทุนภายในกลุ่มก็ยังมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของอินเดียในไทย ไทยลงทุนในพม่าและอินเดีย

ด้านการท่องเที่ยว ประเทศในกลุ่มมาท่องเที่ยวในไทยในปี 2548 มีประมาณ 540,000 คนคิดเป็นร้อยละ 4.6 ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทั้งหมด (จำนวน 11.5 ล้านคน) ส่วนใหญ่มาจากอินเดียและพม่า คนไทยไปท่องเที่ยวในกลุ่มนี้มีประมาณ 75,000 คนคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของนักท่องเที่ยวไทยทั้งหมดที่ออกไป (จำนวน 3 ล้านคน) ส่วนใหญ่ไปอินเดียและพม่า

โอกาสการขยายการค้า การลงทุน ตลอดจนการท่องเที่ยวในกลุ่มยังมีอีกมาก เมื่อพิจารณาจากศักยภาพรายประเทศ

บังกลาเทศ : เศรษฐกิจเติบโตในอัตราร้อยละ 5 สินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ ปอ ผลิตภัณฑ์ปอ ชา หนังสัตว์และผลิตภัณฑ์ มีชายหาดทะเลที่ใหญ่ มีศักยภาพในการสำรวจก๊าซธรรมชาติ การทำประมง การลงทุนในสาขา สิ่งทอ พลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรมเบา รัฐบาลให้ความสนใจชักจูงการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม

อินเดีย : การสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างยอดขายในอินเดีย การมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง และยึดถือความพอใจของลูกค้าเป็นอันดับแรก จะช่วยประสบความสำเร็จ

อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมากในอินเดีย ได้แก่ IT, Software, ยาและเวชภัณฑ์ รถยนต์และชิ้นส่วน มีนักธุรกิจไทยมาลงทุนหุ้นส่วนกับอินเดียผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รถบรรทุกขนาดเล็ก สาขาความร่วมมือระหว่างไทย-อินเดียที่น่าสนใจได้แก่ แพทย์ทางเลือก สุขภาพบำบัด เส้นใย การตัดเย็บเสื้อผ้า โอกาสในการเข้าไปขยายธุรกิจการผลิตถุงยางอนามัย การก่อสร้าง พลาสติก ปิโตรเคมี แปรรูปอาหาร เช่น ขนมปังกรอบ (biscuit) การผลิตน้ำผลไม้ อาหารว่าง เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ

ศรีลังกา : เป็นเกาะมีพื้นที่ 65,610 ตารางกิโลเมตร ทางตอนใต้ของอินเดีย มีทรัพยากรธรรมชาติมาก เปิดเศรษฐกิจเสรีเน้นการส่งออก ศรีลังกาได้เปิดการค้าเสรีกับอินเดียและปากีสถาน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 5.5 สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เซรามิก ยางและผลิตภัณฑ์ อัญมณี เครื่องเทศ มีชื่อเสียงการผลิตชาและส่งออกของโลก มีโอกาสการค้าการลงทุนในหลายสาขา ในสาขาบริการ เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมแฟชั่น การขนส่ง ถนนและรถไฟ เหมืองแร่ หินปูน

สหภาพพม่า : มีทรัพยากรธรรมชาติมาก มีแรงงานราคาถูก สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติสิ่งทอ ไม้ สินค้าประมง อัญมณีและแร่ธาตุ โอกาสการลงทุนใน อุตสาหกรรมเบา พลังงานก๊าซธรรมชาติ ประมง แปรรูปเกษตร สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป

เนปาล : สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ พรม ผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ ผลิตภัณฑ์ปอกระเจา โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมผ้าไหม กาแฟ แปรรูปเกษตร ไม้ตัดดอก การท่องเที่ยว เนปาลยังเป็นประเทศที่มีพุทธสถานลุมพีนีที่คนไทยนิยมเดินทางไปเยี่ยมชม

ภูฏาน : รัฐบาลภูฏานให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามแผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2550) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งในด้านการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร สร้างโครงสร้างพื้นฐาน และ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นการพัฒนาเพื่อให้ประชาชนมีความสุขและความพึงพอใจมากกว่าการพัฒนาที่วัดด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ โดยมีหลักสำคัญ 4 ประการ คือ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน 2) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 3) การส่งเสริมวัฒนธรรม และ 4) ธรรมรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยิปซัม ไม้ซุง ผลไม้ ไฟฟ้าพลังงานน้ำ อัญมณี และเครื่องเทศ โอกาสด้านการลงทุน ในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ แปรรูปผักและผลไม้ การท่องเที่ยว

ไทย : โอกาสขยายการค้าการลงทุนมีมาก เช่น สินค้าอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ธุรกิจขนาดเล็กขนาดย่อม โอกาสความร่วมมือของกลุ่มกับประเทศไทยในสาขาบริการ เช่น การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข การก่อสร้าง การท่องเที่ยว

ประเด็นปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ได้แก่ ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังมีปัญหาด้านการเงิน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาผู้สนับสนุนด้านการเงินจากประเทศพัฒนาแล้วหรือองค์กรระหว่างประเทศ

การอำนวยความสะดวกและค่าใช้จ่ายการเดินทางในระหว่างกลุ่ม นอกจากจะมีค่าใช่จ่ายสูงมากของตั๋วเครื่องบินโดยสารแล้ว เวลาการบินก็ไม่สอดคล้องกับการไปปฏิบัติธุรกิจในประเทศนั้นๆ การปรับเวลาของสายการบินให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจก็เป็นสิ่งจำเป็น ตลอดจนการอำนวยความสะดวกในด้านวีซ่าของนักธุรกิจในอนุภาคนี้

ในเรื่องที่พักในบางประเทศ นอกจากที่พักไม่ได้มาตรฐานและไม่เพียงพอแล้ว ยังมีราคาค่าที่พักค่อนข้างสูงมาก จึงไม่จูงใจให้คนเข้าไปท่องเที่ยวมากเท่าที่ควร

เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจในกลุ่มประเทศสมาชิก การจัดโครงการหรือกิจกรรมเป็นประจำปี เช่น งานแสดงสินค้า ก็จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการค้าการลงทุนได้มากขึ้นอีกทางหนึ่ง

ในการที่จะขยายการค้าและการลงทุนในกลุ่มอนุภาคนี้อย่างจริงจังจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาความเป็นไปได้ เช่น ศึกษาความต้องสินค้าที่แต่ละประเทศมีศักยภาพในการผลิต ศึกษาประเภทสินค้าที่ทดแทนกันได้หรือใช้ประกอบกัน ศึกษาประเภทสินค้าที่แข่งขันกันเอง เพื่อจะได้นำมาวางยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศนี้

กลุ่มประเทศ BIMSTEC จึงเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเป็นทั้งแหล่งวัตถุดิบ ฐานการผลิต และตลาดขนาดใหญ่ในที่เดียวกันเลย การได้ไปเยือนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้และศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมและรู้จักกันมากขึ้น จะก่อให้เกิดการค้าการลงทุนในอนาคต สาขาที่น่าสนใจ เช่น เกษตรแปรรูป ชิ้นส่วนรถยนต์ ซอฟต์แวร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า การก่อสร้าง ประมง บริการและการท่องเที่ยว เป็นต้น

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น