xs
xsm
sm
md
lg

DKSH ใช้ AI หยิบยา-เครื่องมือแพทย์แม่น 99.8% เข้าสงครามส่งด่วนเวชภัณฑ์ชิงเค้ก 8 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



DKSH (ดีเคเอสเอช) ยักษ์ใหญ่สัญชาติสวิสเดินหน้าลงทุนไทยติดอาวุธเทคโนโลยีลดระยะเวลาจัดส่งเครื่องมือแพทย์ 80-90% ระบุส่งไวสู่ภาคเหนือในเวลา 2 ชั่วโมง หั่นเวลาการเตรียมชุดเครื่องมือผ่าตัดสำคัญจากเดิม 1 ชั่วโมงครึ่ง เหลือ 5 นาที ชูปัญญาประดิษฐ์ (AI) หยิบยาและอุปกรณ์แม่นยำ 99.8% มั่นใจตอบดีมานด์ตลาดเครื่องมือแพทย์ในไทยพุ่งต่อเนื่อง ไตรมาส 2 ปี 68 มูลค่าตลาดรวมทะลุ 8 หมื่นล้านบาท

นายกุลชนม์ ยิ่งชัยยะกมล ผู้จัดการทั่วไป แผนก Client Management ฝ่ายธุรกิจเฮลธ์แคร์อัลลายแอนซ์ - กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ บริษัท DKSH (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าพัฒนาการของ DKSH เกิดขึ้นท่ามกลางอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ของไทยที่เติบโตไม่หยุด ปัจจัยหลักคือการที่ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บวกกับภาวะผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือนโยบายภาครัฐที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Hub) ของเอเชีย

“โชคดีที่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เมืองไทยมองว่าความเร็วเป็นเรื่องสำคัญมาก ยกตัวอย่างบางเครื่องมือที่มีอยู่ในประเทศไทยแค่ 10 เครื่องสำหรับใช้กับผู้ป่วยโรคหายาก หาก 10 เครื่องนี้ถูกเก็บไว้ที่คลังสินค้าในกรุงเทพฯ เมื่อเกิดเคสขึ้นมาจะจัดส่งไม่ทันเพราะบางครั้งผู้ป่วยมีเวลา 6 ชม. แต่การจัดส่งปกติต้องใช้เวลา 12 ชั่วโมง นอกจากความเร็วที่ต้องหาวิธีช่วยผู้ป่วยให้เร็วที่สุด การแข่งขันเรื่องคุณภาพก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์มองหาคือ คุณภาพและความรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ DKSH ให้ความสำคัญสูงสุด”

กุลชนม์ ยิ่งชัยยะกมล ผู้จัดการทั่วไป แผนก Client Management ฝ่ายธุรกิจเฮลธ์แคร์อัลลายแอนซ์ - กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ บริษัท DKSH (ประเทศไทย) จำกัด
DKSH ประเทศไทยนั้นเป็นบริษัทที่มีประวัติยาวนาน อายุครบ 120 ปีแล้วในปี 2569 บริษัทมองตัวเองเป็นผู้นำด้านบริการขยายตลาดหรือ Market Expansion Services สำหรับสินค้าหลากหลายกลุ่ม รวมถึงธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ครอบคลุมทั้งยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ 

ปัจจุบัน DKSH มีเครือข่ายธุรกิจเฮลธ์แคร์ที่กว้างขวาง ครอบคลุมการบริการผู้ป่วยกว่า 95% ทั่วประเทศไทย เข้าถึงโรงพยาบาลรัฐและเอกชนครบ 100% ทั้งโรงพยาบาลรัฐที่มีราว 900-1,000 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 400-500 แห่ง รวมประมาณ 1,400 แห่งในไทย (ข้อมูลปี 2563-2564)

DKSH มีพนักงานในไทยราว 8,000 คน จากทั่วโลกที่มีรวม 28,060 คนใน 18 ประเทศ
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดหลักของ DKSH แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายได้เฉพาะประเทศไทย แต่ DKSH มีพนักงานในไทยราว 8,000 คน จากทั่วโลกที่มีรวม 28,060 คนใน 18 ประเทศ รายได้รวมของ DKSH ปี 2023 คือ 11,100 ล้านฟรังก์สวิส (ราว 443,638 ล้านบาท) ขณะที่แนวโน้มของตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยยังคงสดใสไม่มีสะดุด

ตามข้อมูลจากรายงาน Fitch Solution ไตรมาส 2 ปี 2025 ระบุว่า ตลาดเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 79,900 ล้านบาท คาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 7% ต่อปี โดยจะสูงถึงประมาณ 91,000 ล้านบาทภายในปี 2029 สัญญาณเหล่านี้สะท้อนว่าธุรกิจด้านเครื่องมือแพทย์ของ DKSH มีโอกาสเติบโตตามทิศทางตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องไปอีกประมาณ 5-6% ต่อปี

DKSH นำธุรกิจเครื่องมือแพทย์เข้าสงครามส่งด่วนด้วยกลุ่มยานพาหนะรวม 400-450 คันทั่วประเทศ
เพื่อรองรับการเติบโตนี้ DKSH ได้ใช้เทคโนโลยีและการปฏิวัติระบบหลังบ้าน โดยเฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ โดยที่ศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ของ DKSH มีการใช้เทคโนโลยี MVS (Machine Vision System) ที่นำเอา AI มาตรวจสอบและหยิบสินค้าอัตโนมัติด้วยความแม่นยำสูง 99.8% ซึ่งการเติบโตครั้งนี้ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ อีกต่อไป เพราะผู้ป่วยในต่างจังหวัดเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น ทำให้ความต้องการในโรงพยาบาลระดับอำเภอและชุมชนพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

***สงครามส่งด่วนเวชภัณฑ์ ประเดิมเชียงใหม่

ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง DKSH ได้ทุ่มทุนสร้าง "ศูนย์กระจายสินค้าระดับภูมิภาค" (Satellite Distribution Center) ตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ โดยเลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่แรก ผลลัพธ์คือการจัดส่งอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเร่งด่วน สามารถเกิดขึ้นในเวลา 15-20 นาที จากเดิมที่ต้องรอรถวิ่งจากกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาเกิน 10 ชั่วโมงขึ้นไป

เทคโนโลยีกำลังแทนที่การตรวจสอบการจัดส่งแบบกระดาษ
นายวรพงษ์ สุรชัยกุลวัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส แผนก Supply Chain Management หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ บริษัท DKSH (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าการลงทุนใน Satellite Distribution Centers จะไม่มีการดิสรัปหรือสร้างผลกระทบส่วนใดต่อตลาด แต่กลับเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย โรงพยาบาล และผู้ให้บริการด้านสุขภาพ โดยช่วยให้เข้าถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญได้เร็วขึ้น เนื่องจากการเพิ่มความเร็วขึ้นกว่า 90% หมายถึงโอกาสในการรักษาชีวิตผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมหาศาล และหลังจากนี้จะมีศูนย์ฯ ย่อยลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกทั่วประเทศ

“โลจิสติกส์เป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ DKSH แต่ไม่ถือว่าเป็นปัญหาหลัก (Pain Point) ในแง่ของต้นทุน เนื่องจากเครื่องมือแพทย์มีส่วนประกอบต้นทุนอื่นๆ อีกมาก สัดส่วนต้นทุนด้านโลจิสติกส์จึงถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง บริษัทนำเข้าเครื่องมือแพทย์อื่นสามารถใช้บริการโลจิสติกส์ของ DKSH ในรูปแบบธุรกิจ Service Provider ควบคู่ไปกับการมีทีมขายของตนเองได้”

วรพงษ์ สุรชัยกุลวัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส แผนก Supply Chain Management หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ บริษัท DKSH (ประเทศไทย) จำกัด
DKSH นำธุรกิจเครื่องมือแพทย์เข้าสงครามส่งด่วนด้วยกลุ่มยานพาหนะรวม 400-450 คันทั่วประเทศ ประกอบด้วยรถขนส่ง รถจักรยานยนต์ บางส่วนเป็นยานพาหนะพิเศษ เช่น รถจักรยานยนต์ที่มี กล่องควบคุมอุณหภูมิ รถกระบะและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV) ทั้งหมดนี้ทำให้ DKSH เป็นรายหลักในตลาดโลจิสติกส์สำหรับเครื่องมือแพทย์ ครอบคลุมช่องทางบริการสุขภาพเกิน 90% ในไทย

***ใช้เทคโนโลยีหยิบเครื่องมือแพทย์

ปัจจุบัน DKSH ลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง AI และระบบการมองด้วยเครื่องหรือ Machine Vision Systems (MVS) เพื่อยกระดับการจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และบริการดูแลสุขภาพโดยรวมในประเทศไทย โดย MVS เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ DKSH ใช้ในการตรวจสอบชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีรายละเอียดมากได้อย่างแม่นยำ ระบบนี้ใช้กล้องแทนตาของมนุษย์ และใช้ AI แทนสมอง เพื่อระบุและตรวจสอบส่วนประกอบภายในชุดอุปกรณ์ เช่น เครื่องมือผ่าตัด โดย AI ได้รับการฝึกฝนด้วยการป้อนข้อมูลผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นเพื่อให้ "จดจำ" ตำแหน่งและสภาพของส่วนประกอบแต่ละชิ้นได้

จากเดิมที่พนักงานต้องใช้เวลา 1-1.30 ชั่วโมงต่อชุดโดยใช้รายการตรวจสอบแบบกระดาษ ตอนนี้ใช้เวลาเพียง 5 นาทีด้วย MVS
ระบบนี้ช่วยลดเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมาก วรพงษ์ระบุว่าจากเดิมที่พนักงานต้องใช้เวลา 1-1.30 ชั่วโมงต่อชุดโดยใช้รายการตรวจสอบแบบกระดาษ ตอนนี้ใช้เวลาเพียง 5 นาทีด้วย MVS นอกจากนี้ยังรับประกันความแม่นยำสูง 99.8% เมื่อ AI เรียนรู้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดย MVS จะระบุรายการที่ขาดหายไปหรือไม่ถูกต้องด้วยสีแดง ส่วนรายการที่ถูกต้องจะแสดงเป็นสีเขียว

DKSH ย้ำว่าวัตถุประสงค์ของการนำ AI มาใช้นั้นไม่ใช่เพื่อทดแทนบุคลากร แต่เพื่อช่วยให้บุคลากรมั่นใจในคุณภาพและความรวดเร็วของการดำเนินงาน

ในอีกด้าน DKSH ได้พัฒนาระบบคลังสินค้าดิจิทัลแบบเรียลไทม์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งรวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เรียกว่า IOA (Intelligent Order Application) เพิ่มความโปร่งใสของคำสั่งซื้อและประสิทธิภาพทางการตลาด นอกจากนี้ยังใช้แพลตฟอร์มเพื่อการสัมมนาผ่านเว็บแบบสดและการฝึกอบรมตามความต้องการสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ยังมีแอปพลิเคชัน InSnap สำหรับการรับสินค้าบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมาแทนที่การตรวจสอบการจัดส่งแบบกระดาษ ทำให้กระบวนการสะดวกและใช้งานง่ายขึ้นสำหรับพนักงาน

กุลชนม์ ยิ่งชัยยะกมล ผู้จัดการทั่วไป แผนก Client Management และนายวรพงษ์ สุรชัยกุลวัฒนา_ผู้อำนวยการอาวุโส แผนก Supply Chain Management
เทคโนโลยีที่ DKSH วางแผนจะต่อยอดอีกในอนาคตคือระบบ Goods to Man ซึ่งที่ผ่านมามีการติดตั้งระบบหยิบสินค้าในรูป Vertical Lift ที่ศูนย์กระจายสินค้าเครื่องมือแพทย์ (MDDC) ในพระราม 3 ระบบอัตโนมัตินี้จะนำสินค้ามายังผู้หยิบโดยตรง ทำให้พนักงานไม่ต้องเดินไปตามชั้นวาง จะมีเลเซอร์และจอภาพในการนำทางการหยิบสินค้า โดยระบุว่าควรหยิบสินค้าชิ้นใดจากช่องใดและจำนวนเท่าใด ซึ่งช่วยปรับปรุงทั้งประสิทธิภาพ ความเร็ว และความแม่นยำ

การใช้เทคโนโลยีหยิบยา-เครื่องมือแพทย์ที่แม่นยำ และการเข้าสงครามส่งด่วนเวชภัณฑ์ จึงเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า DKSH จะเขย่าตลาดเครื่องมือแพทย์ไทย 8 หมื่นล้านแน่นอน.


กำลังโหลดความคิดเห็น