ต้าหัว เทคโนโลยี (Dahua Technology) เจ้าพ่อโซลูชันกล้องวงจรปิดพลัง AI สัญชาติจีนปักหลักบุกตลาดไทยเต็มตัว ล่าสุดทุ่มทุน 35 ล้านบาทปั้นโชว์รูมใหม่ที่ประเทศไทยด้วยขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดการณ์รายได้ในไทยปี 2024 โตต่อเนื่อง 1,600 ล้านบาท สะท้อนภาพใหญ่ตลาดเอไอโอที (AIoT) ที่เป็นโซลูชันผสมระหว่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับอินเทอร์เน็ต ออฟ ติง กำลังบูมในประเทศไทย
นายหยู ฉีจวิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ด้าหัว เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูง จึงมีการลงทุนต่อเนื่องตลอด 8 ปีที่เข้ามาตั้งสำนักงานในไทย โดยล่าสุดมีการย้ายสำนักงานมายังอาคารใหม่ และมีการจัดอบรมเพื่อส่งต่อทักษะทั้งการฝึกสอนพนักงาน รวมถึงการสาธิตเทคโนโลยี เบื้องต้นยังไม่มีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตในไทย แต่แย้มว่ามีโอกาสเกิดขึ้นหลังจากมีการตั้งโรงงานที่เวียดนามและอินเดียมาแล้ว
หยูระบุว่าต้าหัวประเทศไทยมีการเติบโตทุกปี เช่นเดียวกับรายได้จากทั่วโลกที่เติบโตทุกปีจนอยู่ที่ระดับ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดในกว่า 180 ประเทศ และในอาเซียนมีการตั้งสำนักงานแทบทุกตลาด ทั้งลาว เกาหลี ญี่ปุ่น
ปัญญาประดิษฐ์แห่งสรรพสิ่ง หรือ AI of Everything คือการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Al) และระบบอินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (IoT) ไปควบคุมระบบต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างอัจฉริยะ ตัวอย่างเช่น การนำเซ็นเซอร์ไปติดที่กล้องวงจรปิดให้ทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์เพื่อตรวจว่าผู้เดินทางเข้าอาคารเป็นหญิงหรือชาย สูงอายุหรือเป็นเด็ก อารมณ์ดีหรือกำลังบูดบึ้ง มีอาการตัวร้อนเป็นไข้หรือไม่
ต้าหัวไม่ปฏิเสธว่ากระแส AI ที่ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักวงกว้างนั้นเป็นปัจจัยบวกที่เสริมให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้น โดยบริษัทมุ่งมั่นเป็นผู้ผลิตโซลูชัน AI เป็นหลัก บนจุดเด่นเรื่องคุณภาพสินค้าและบริการ ซึ่งนอกจากกล้องวงจรปิด บริษัทยังมีสินค้ากลุ่มหน้าจอมอนิเตอร์ ซึ่งถูกจัดอันดับเป็น 1 ใน Top 5 ของตลาด ขณะเดียวกัน ก็มีสินค้ากลุ่มหน่วยความจำ คอมพิวเตอร์พกพา ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย
เมื่อถามถึงเป้าหมายปี 2024 ต้าหัวคาดว่าจะทำรายได้ในประเทศไทยราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,600 ล้านบาท ผลจากการที่บริษัทมีสินค้าหลากหลาย ทั้งระบบกล้องสำหรับติดตามโซลูชันพลังงาน เช่น ระบบชาร์จไฟฟ้า กล้องติดระบบโซลาร์เซลล์ นอกจากนี้ยังมีระบบอาคารอัจฉริยะ ทั้งกล้องอ่านทะเบียนรถ ระบบอ่านบัตรเข้าออกอาคาร ประตูตรวจจับโลหะขณะเข้าอาคาร ระบบกล้องดิจิทัลจับความเร็วรถ รวมถึงอีกหลายโซลูชันที่ถูกนำไปใช้แล้วในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น ระบบกล้องวงจรปิดบนถนนสาธารณะในพื้นที่ภาคใต้ หรือระบบกล้องเพื่อการบริหารสัญญาณไฟจราจรที่มีการติดตั้งที่ถนนรางน้ำ โดยบางโครงการมีมูลค่าราว 20 ล้านบาท
หนึ่งในสินค้าน่าสนใจของต้าหัว คือโดรนที่ออกแบบให้ติดกล้องวงจรปิดพลัง AI ลงไปได้ รวมถึงระบบกล้อง AI สำหรับธุรกิจค้าปลีกที่สามารถนับสินค้าในชั้นวาง เพื่อให้ร้านค้าจัดการสินค้าคงคลังได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีกล่องบรรจุกล้องวงจรปิดที่เคลื่อนที่ได้ โดยสามารถนำมาวางไว้ที่หน้ารถบรรทุกเพื่อตรวจจับพฤติกรรมคนขับรถ รวมถึงสามารถปรับใช้กับระบบป้องกันอุบัติเหตุจากการควงกะของผู้ขับรถ ระบบจะเตือนเมื่อพบผู้ขับที่ขับเกินจำนวนชั่วโมงที่กำหนด ยังมีระบบกล้องเคลื่อนที่ที่ติดตั้งบนรถ บขส. มากกว่า 3,000 คัน และกล้องติดรถนักเรียนที่ลดโอกาสการการลืมเด็กบนรถ เพราะมีโซลูชันนับจำนวนคนขึ้นลงจากรถ
ต้าหัวยังไม่มีนโยบายขายตรงสินค้า แต่จับคู่กับ 4 ตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ของไทย ซึ่ง 2 รายในนั้นคือซินเน็ค และเอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น
ปัจจุบัน ต้าหัวตั้งสำนักงาน 2 สาขาในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ โดย 70% เป็นพนักงานไทย และมีคนไทยทำงานในระดับผู้บริหาร ตัวธุรกิจหลักแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ กลุ่มชาแนลหรือช่องทางจำหน่ายที่สร้างรายได้มากที่สุด (60%) รองลงมาเป็นกลุ่มโปรเจกต์ที่ต้องร่วมงานกับบริษัทผู้วางระบบในโครงการหรือเอสไอ (20%) และกลุ่มสินค้าอื่นที่เป็นธุรกิจใหม่ (20%)
สำหรับการลงทุนตั้งโชว์รูมเพื่อให้พันธมิตรได้สัมผัสโซลูชันอย่างใกล้ชิดครั้งนี้ มีพื้นที่ 260 ตารางเมตร และเป็นโชว์รูมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดเด่นของโชว์รูมคือการจัดแสดงโซลูชัน AIoT ขั้นสูง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มุ่งหวังส่งเสริมให้เกิดสังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ ภายในมีการจัดแสดงโซลูชันสำหรับเมืองอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ อาคารอัจฉริยะ ที่จอดรถและการจราจรอัจฉริยะ โทรศัพท์มือถืออัจฉริยะ การค้าปลีกอัจฉริยะ และการธนาคารอัจฉริยะ
โซลูชันหลักอย่างเมืองอัจฉริยะนั้นจะเป็นระบบกล้องที่โฟกัสกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยของเมืองและการบังคับใช้กฎหมาย ขณะที่โซลูชันการจราจรอัจฉริยะ จะเน้นการลดอุบัติเหตุด้วยการติดกล้องเพื่อตรวจสอบการละเมิดกฎจราจรต่างๆ ด้านโซลูชันอาคารอัจฉริยะจะใช้การจดจำใบหน้า เพื่อจัดการความหนาแน่น และแนะนำที่จอดรถได้
สิ่งที่เจ้าพ่อแดนมังกรมองว่าเป็นความท้าทายในการทำตลาดโซลูชัน AIoT ไทย คือเรื่องการเข้าถึงกลุ่มตลาดในประเทศไทยที่ยังอาจผูกกับเทคโนโลยีเดิม ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทต้องจัดเวทีฝึกสอนหลายร้อยครั้ง และต้องลงพื้นที่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ต้าหัวมีพนักงานมากกว่า 23,000 คนทั่วโลก โดยมากกว่า 50% อยู่ในแผนกการวิจัยและพัฒนา บริษัทย้ำว่ามีการลงทุนประมาณ 10% ของรายได้จากการขายประจำปีในการวิจัยและพัฒนา ขณะนี้ได้ดำเนินการผ่านสถาบันวิจัยหลัก 5 แห่ง มีเครือข่ายทั่วโลกโดยมีสำนักงานมากกว่า 200 แห่งในจีนและ 69 แห่งทั่วโลก ทำให้โซลูชันของ Dahua ถูกใช้ในหลายภาคส่วน ตั้งแต่การขนส่ง การผลิต การศึกษา การค้าปลีก ธนาคาร พลังงาน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม
ที่สุดแล้ว โชว์รูมนี้แสดงถึงการลงทุนครั้งสำคัญของ Dahua Technology ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทย และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการพัฒนาโซลูชัน AIoT สำหรับเมืองอัจฉริยะและอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดมากยิ่งขึ้นในอนาคต