xs
xsm
sm
md
lg

ไทยท็อป 6 ศึกซอฟต์แวร์วางแผนซัปพลายเชนบูม “รีเล็กซ์” หอบทุนยุโรปปักหลักเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รีเล็กซ์ โซลูชันส์” (RELEX Solutions) บริษัทซอฟต์แวร์สัญชาติฟินแลนด์มองภาพรวมอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคไทยสดใสรับการท่องเที่ยวฟื้นตัวท่ามกลางนโยบายรัฐหนุนเต็มที่ มั่นใจตลาดระบบวางแผนซัปพลายเชนบูมเพราะธุรกิจต้องการความสามารถในการมองเห็นข้อมูลสต๊อกแบบเรียลไทม์ ชี้ 6 ประเทศหลักที่รีเล็กซ์เล็งลงทุนต่อเพราะคาดว่าจะโตอย่างมีนัยสำคัญคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทย สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น มั่นใจขึ้นเป็นผู้นำด้านการวางแผนซัปพลายเชนในเอเชียแปซิฟิก

สเตฟาโน สกันเดลลี รองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก รีเล็กซ์ โซลูชันส์ กล่าวถึงรายละเอียดการลงทุนของรีเล็กซ์ โซลูชันส์ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อแข่งขันในตลาดซอฟต์แวร์ค้าปลีกปีนี้ ว่าจะมุ่งเน้นลงทุนด้านการรักษาความปลอดภัยในการปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์มโซลูชันอย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดประเทศไทย รีเล็กซ์มั่นใจว่าการมีสำนักงานในกรุงเทพฯ จะสามารถสร้างความแตกต่างในการสนับสนุนลูกค้าของรีเล็กซ์ โดยเป้าหมายหลักของบริษัทคือการเป็นผู้นำด้านการวางแผนซัปพลายเชนในเอเชียแปซิฟิก และมั่นใจได้ว่าลูกค้าทุกรายจะสามารถวัดมูลค่าที่จับต้องได้โดยใช้กลุ่มโซลูชันของรีเล็กซ์

“รีเล็กซ์ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาประมาณ 30% ของรายได้ต่อปีของบริษัทในปี 2567 (รายได้ปี 2566) เพิ่มขึ้นจาก 25% ในปี 2566 และ 2565 โดยรีเล็กซ์ มีนักพัฒนามากกว่า 700 คนจากพนักงาน 2,000 คนที่ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนา ในศูนย์วิจัยและพัฒนา 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในฟินแลนด์และโปรตุเกส” สเตฟาโนกล่าว “ประเทศหลักที่รีเล็กซ์คาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญและจะยังคงลงทุนต่อเนื่องด้านทรัพยากร ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทย สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น”

 สเตฟาโน สกันเดลลี รองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก รีเล็กซ์ โซลูชันส์
***ตลาดเปลี่ยนแถมท้าทาย

แม้ตลาดจะสดใส แต่รีเล็กซ์มองว่าตลาดไทยยังมีความไม่แน่นอนด้านความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยตลาดกำลังเปลี่ยนภาพช่องทางการขายทั้งดิจิทัล ไฮบริด และออฟไลน์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคในไทยต้องปรับตัวมากกว่าที่เคย

"ยกตัวอย่างเช่น ออมนิชาแนล (Omnichannel) ทำให้การจัดการต่างๆ มีความซับซ้อนขึ้น ดังนั้น บริษัทต่างๆ จึงจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ต่อเนื่องไม่มีหยุด เพื่อให้รับกับความต้องการของผู้บริโภคที่คาดเดาไม่ได้ รวมถึงเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นปัจจัยให้ความท้าทายทวีคูณยิ่งขึ้น"


นอกจากนี้ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังประสบปัญหาในการขนส่งผลิตภัณฑ์ผ่านซัปพลายเชนไปยังผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ขาดความสามารถในการมองเห็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ ยังมีประเด็นเรื่องความยั่งยืนที่ยังมีบทบาทสำคัญในการที่ซัปพลายเชนของบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคจะต้องจัดการสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียผลิตภัณฑ์ ต้นทุน และเวลาโดยเปล่าประโยชน์

***แชร์สะดวกข้อมูลสำคัญ


ปัจจุบัน เทคโนโลยีของรีเล็กซ์ โซลูชันส์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ร้านค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสามารถแชร์ข้อมูลการคาดการณ์ยอดขายและข้อมูลสำคัญอื่นๆ กับพาร์ตเนอร์ในระบบซัปพลายเชนซึ่งสามารถช่วยจัดการในด้านต่างๆ

5 จุดแข็งของรีเล็กซ์ที่ถูกมองว่าจะตอบความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค นั้นคือ การเพิ่มความยืดหยุ่นของซัปพลายเชน ประกอบด้วย 1) การจัดวัตถุประสงค์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับพาร์ตเนอร์ที่อาจมีผลกระทบสำคัญต่อธุรกิจ 2) การเสริมการมองเห็นระบบข้อมูลเชิงรุกเกี่ยวกับความต้องการอุปสงค์และอุปทานในอนาคต ช่วยให้นักวางแผนสามารถคาดการณ์และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ 3) เพิ่มความแม่นยำในการวางแผนในกระบวนการวางแผนอุปสงค์และอุปทานแบบครบวงจร 4) เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และ 5) ลดสินค้าคงคลังตลอดซัปพลายเชน

“การทำงานร่วมกันในซัปพลายเชนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้บริษัทค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสามารถลดผลกระทบและป้องกันปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดต่ออุปสงค์และอุปทานได้ สามารถทำได้โดยการแบ่งปันข้อมูลที่สร้างการมองเห็นอุปสงค์และอุปทานตลอดทั้งซัปพลายเชนแบบควบคุม”


สเตฟาโนย้ำว่าความยืดหยุ่นของซัปพลายเชนสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือความยืดหยุ่นและความคล่องตัว ซึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติในการมองเห็นระบบข้อมูลที่ดีขึ้นทั่วทั้งซัปพลายเชน สินค้าคงคลัง และการวางแผนจำลองสถานการณ์ นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการดำเนินการกับสถานการณ์จำลอง และวางแผนสถานการณ์เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดชะงักต่างๆ ในซัปพลายเชน จะช่วยระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น กลายเป็นการทำงานร่วมกันในซัปพลายเชนที่มีประสิทธิภาพมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค

ความเห็นทั้งหมดของสเตฟาโนเกิดขึ้นในวันที่ รีเล็กซ์ โซลูชันส์ ประกาศเดินหน้าพัฒนาคุณสมบัติและฟังก์ชันเฉพาะ เช่น การคาดการณ์ AI เฉพาะช่องทาง หรือที่เรียกว่า “การเชื่อมโยงสินค้าคงคลัง” ซึ่งสามารถจัดลำดับความสำคัญของสต๊อกระหว่างช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ได้โดยอัตโนมัติ เทคโนโลยีนี้ทำให้แพลตฟอร์มกลายเป็นตัวเลือกชั้นนำสำหรับผู้ค้าปลีกในไทยที่กำลังก้าวไปสู่การเป็นผู้นำตลาดออมนิชาแนลทั่วเอเชียได้


กำลังโหลดความคิดเห็น