กำแพงเพชร - เพจดังขยี้ซ้ำ..ร้านชามั้ยกำแพงเพชร ยึดพื้นที่สาธารณะที่เป็นศาลารอรถประจำทางเปิดร้านขายได้วันละหลายหมื่น เรียกร้องให้หาเช่าที่เอง ขณะที่เจ้าของร้านฯ-ผู้นำชุมชนเผยเป็นศาลาหมู่บ้าน-คนอื่นก็ขายได้ คนพื้นที่ไม่เดือดร้อน
กรณีมีการโพสต์ภาพ “ร้านชามั้ยกำแพงเพชร” พร้อมกับข้อความ..ถ้าขายดีได้วันละหลายหมื่นก็ควรไปหาเช่าที่เปิดร้านให้เป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่ยึดพื้นที่สาธารณะที่เป็นศาลารอรถประจำทางเป็นพื้นที่ของตนเอง...ร้านชาดังใน Tiktok กำแพงเพชร..เผยแพร่ผ่านเพจ “อีซ้อขยี้ข่าว3”
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า นางสาววันนิษา พลอาจ ชื่อเล่น น้องฟิล์ม อายุ 23 ปี เจ้าของร้าน “ชามั้ย” ซึ่งเป็นมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง มาจอดขายบริเวณหน้าศาลาติดกับโรงเรียนบ้านเทพนคร หมู่ที่ 15 ต.เทพนคร อ.เมืองกำแพงเพชร ชามั้ย ตามปกติ ราคาเริ่มต้นแก้วละ 20 บาท เครื่องดื่มแต่ละชนิดมีคำมงคลเขียนติดไว้สร้างยอดขายให้ปังๆ เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของทางร้านนอกจากรสชาติความอร่อย แต่ละวันจะมีลูกค้ามารอต่อคิวซื้อกันเป็นจำนวนมาก จนต้องจับบัตรคิวรอซื้อทุกวัน แม่ค้าอัธยาศัยดีกับลูกค้า จะเปิดขายช่วงเช้าไปจนถึงบ่ายก็หมดเกลี้ยงทุกวัน จะหยุดวันพุธวันเดียว
ส่วนที่เป็นกระแสดรามาไม่จบนั้น นางสาววันนิษา พลอาจ หรือน้องฟิล์ม เจ้าของร้านเปิดเผยว่า ยินดีรับฟังคำติชมต่างๆ พื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ของกรมทางหลวง เป็นพื้นที่ของหมูบ้านตำบลเทพนคร คณะกรรมการหมู่บ้านและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรับรู้เรื่องและลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว ศาลานี้เป็นศาลาของหมู่บ้านจัดตั้งขึ้นมา ที่ผ่านมาเคยมีเรื่องร้องเรียนแบบนี้เช่นกัน ทางกรมทางหลวงมีหนังสือให้จัดระเบียบรถ ซึ่งตนก็ยินดีรับฟังและจะจัดระเบียบรถช่วงที่มีลูกค้ามาจอดรถซื้อเยอะๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจรบนถนนสายหลัก
“พื้นที่ตรงนี้คนอื่นก็สามารถมาขายได้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะร้านของเรา ร้านชามั้ยยังสร้างงานให้กับคนในชุมตำบลเทพนครให้มีรายได้ เนื่องจากมาขายตรงนี้แล้ว ยังส่งขายให้พ่อค้าแม่ค้าต่างจังหวัดมารับซื้อไปขายด้วย ความคิดเห็นเรื่องดรามาไม่จบ น้อมรับฟังทุกเรื่อง ยินดีที่จะปรับปรุงแก้ไข”
นางอุบลรัตน์ ชัยผุย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เปิดเผยว่า ศาลาแห่งนี้เป็นของหมู่บ้าน ใช้สำหรับ ชรบ.อยู่เวรในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา หลังจากสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว ไม่ได้มีการมาเข้าเวร จึงมีชาวบ้านมาขาย ไม่ใช่แค่ร้านชามั้ยร้านเดียว มีชาวบ้านคนอื่นๆ มาตั้งขายด้วย
“ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเหมือนกัน มีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบแล้วทำบันทึกตกลงในเรื่องของที่จอดรถไม่ให้กีดขวางทางจราจรถนนสายหลัก ส่วนชาวบ้านในตำบลไม่ได้เดือนร้อน น่าจะเป็นคนนอกพื้นที่มากกว่า”
ด้านนางสาวชนานันท์ อินทร์รอด หรือตั๊กแตน อายุ 29 ปี ชาวมหาสารคาม เป็นอีกหนึ่งแม่ค้าส่งที่เดินทางมารับชามั้ย จากร้านที่กำแพงเพชรไปขายที่จังหวัดชลบุรี สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เปิดเผยว่า ที่ต้องลงทุนขับรถมารับไปขายต่างจังหวัดเพราะรสชาติ ราคา ปริมาณ และความสะดวกในการขายให้แก่ลูกค้า ส่วนเรื่องดรามาที่เกิดขึ้นจริงๆเป็นเรื่องราวของคนในชุมชนที่อยู่ร่วมกัน ไม่น่าจะเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องเอาไปดรามา