xs
xsm
sm
md
lg

5.5G มา 6G ต่อคิว แต่อาเซียนยังอยู่ 4G (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สัปดาห์ที่ผ่านมา โลกโทรคมนาคมตื่นเต้นกันมากเมื่อไชน่ายูนิคอมปักกิ่ง (China Unicom Beijing) และหัวเว่ย (Huawei) ประกาศติดตั้งเครือข่าย 5.5G 3CC เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ในเมืองหลวงของจีน ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 70% ภายในบริเวณที่เรียกว่า 4th Ring Road ของเมือง ซึ่งจะส่งแรงกระเพื่อมต่อประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภค และการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมทั่วปักกิ่ง

เครือข่าย 5G-A three-carrier component นี้จะให้บริการครอบคลุมสนามกีฬา สถานีรถไฟใต้ดิน อุโมงค์ ย่านที่อยู่อาศัย สถานที่ท่องเที่ยว ย่านธุรกิจ และมหาวิทยาลัยในพื้นที่สำคัญ

การติดตั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเปิดตัวเครือข่าย 5G 2CC ในปี 2565 แสดงถึงความก้าวหน้าในการรวมคลื่นความถี่ของ China Unicom โดยเครือข่าย 5.5G 3CC ประกอบด้วยสถานีฐานมากกว่า 4,000 แห่ง ครอบคลุมสถานที่สำคัญในปักกิ่ง

ความเก่งของเครือข่ายนี้คือการรองรับบริการสุดยอดประสบการณ์ เช่น วิดีโอแบบสมจริง (immersive) การถ่ายทอดสดแบบความละเอียดพิเศษ UHD และการเล่นเกมผ่านคลาวด์ โดยไชน่ายูนิคอมฯ กำลังพัฒนานวัตกรรมในด้านการเข้ารหัสในการรับส่งข้อมูล การบีบอัดสัญญาณสำหรับอุปกรณ์ IoT และการแยกเรนเดอร์ภาพเสมือนจริงหรือ XR

อาเบล เติ้ง
เบื้องต้น บริษัทมีแผนจะขยายพื้นที่ให้บริการ 5.5G 3CC ให้ครอบคลุมเท่ากับเครือข่าย 5G 200 MHz ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การติดตั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างเครือข่าย 5.5G เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่ง Huawei คือพันธมิตรสำคัญในการพัฒนาโซลูชันเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ ฉลาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



สาเหตุที่เราพูดถึงความเคลื่อนไหวนี้ของไชน่ายูนิคอมฯ คือสถานการณ์นี้มีโอกาสจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะหัวเว่ยออกมาประกาศว่าพร้อมที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5.5G ในวันที่มาตรฐานการใช้งานในระดับสากลของ 5.5G ได้จัดทำแล้วเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา 



***หัวเว่ยเข็น 5.5G



หัวเว่ยบอกว่า 5.5G เป็นก้าวสำคัญในการสื่อสารโทรคมนาคม เพราะเทคโนโลยีนี้ได้ปรับปรุงและยกระดับการใช้งานของเทคโนโลยี 5G อย่างน้อย 3 ด้าน ด้านแรกคืออัลตราบรอดแบนด์ (Ultra-Broadband) หรือความเร็วสูงพิเศษ เพราะ 5.5G ให้ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงถึง 10 Gbit/s ซึ่งเร็วกว่าการใช้งาน 5G ถึงสิบเท่า และความเร็วในการอัพโหลดอย่างน้อย 500 Mbit/s เพื่อประสบการณ์การใช้งานที่ไร้รอยต่อและรวดเร็วสูงสุด


ด้านที่ 2 คือการรับประกันคุณภาพบริการหรือ SLA แบบกำหนดเอง (Deterministic SLA) โดยค่าความหน่วงที่ต่ำลง 1 มิลลิวินาที 5.5G ทำให้สามารถรับประกันคุณภาพบริการซึ่งจำเป็นสำหรับแอปพลิเคชันและบริการที่ต้องทำงานแบบเรียลไทม์ 


ด้านที่ 3 คือ AI และเครือข่ายอัตโนมัติ (AI and Autonomous Networks) เนื่องจากการรวม AI เข้ากับการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายและเครื่องมือการตลาดที่แม่นยำ ทำให้ผู้ให้บริการสามารถจัดการเครือข่ายขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการ ฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจเครือข่ายโทรคมนาคม ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวปาฐกถาที่งาน Asia-Pacific ICT Summit 2024 ว่า 5.5G จะเป็นพื้นฐานสำหรับบริการใหม่ที่จะรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT จำนวนมากซึ่งมีความหนาแน่นต่อพื้นที่มากขึ้นกว่า 1 ล้านชิ้นต่อตารางกิโลเมตรผ่านเครือข่าย 5G และมีระยะการสื่อสารที่ไกลขึ้น (Massive IoT)


"เมื่อเราเข้าสู่ยุค 5.5G หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นมากขึ้นกว่าเดิมในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของประเทศไทย 5.5G ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องของการเชื่อมต่อเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการสร้างโลกที่ชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมได้โดยไม่มีขีดจำกัด เราพร้อมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ โดยการรับรองว่าโซลูชัน 5.5G ของเราจะเป็นไปตามมาตรฐานระดับโลก ผ่านการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมและการศึกษาในหลายภาคส่วน เช่น โทรคมนาคม การเงิน และการศึกษา เรามุ่งมั่นที่จะสร้างระบบนิเวศ 5.5G ที่แข็งแกร่งในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสใหม่ๆ และเร่งการเดินทางของประเทศในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

บริการดิจิทัลความละเอียดสูง กำลังสร้างความต้องการเครือข่าย 5.5G
หัวเว่ยเชื่อว่า 5.5G จะเป็นเบื้องหลังที่ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ผสานโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกเสมือนเข้าด้วยกัน ผ่านเทคโนโลยี 3D/MR/XR โดยจะรองรับเทคโนโลยีการสื่อสารจากยานพาหนะสู่ทุกสิ่ง V2X (Vehicle-to-Everything) ให้เกิดขึ้นได้จริง รวมถึงแอปพลิเคชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้คาดว่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และขยายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น



***6G ต่อคิว 4G ยังอยู่

ความพร้อมเต็มที่ของ 5.5G นี้เกิดขึ้นในวันที่ 6G กำลังมาต่อคิว เห็นได้จากกิจกรรมและความร่วมมือระดับโลกมากมายเกี่ยวกับการวิจัยและเตรียมการสำหรับเทคโนโลยี 6G โดยล่าสุดมีข่าวว่าสหรัฐอเมริกาและสวีเดนกำลังร่วมมือกันในการวิจัย 6G ยังมีความพยายามของเกาหลีใต้ผ่านโอเปอเรอเตอร์อย่าง KT และเจ้าพ่ออิเล็กทรอนิกส์อย่าง LG Electronics ได้ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและมาตรฐาน 6G แบบฟูลดูเพล็กซ์แบนด์กว้าง ขณะเดียวกัน ก็มีอินเดียที่กำลังหาทางพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่าย 6G แบบไม่ต้องตั้งเสา 



คาดว่าไทม์ไลน์ของ 6G จะพร้อมใช้งานภายในปี 2029-2030 โดยในระยะเริ่มต้นมีโอกาสที่การเปิดตัว 6G ในเชิงพาณิชย์จะไม่เกิดขึ้นอีกภายใน 6 ปีนับจากนี้

แต่ก่อนที่โลกจะแข่งขันกันเป็น "ผู้นำ" ในการพัฒนา 6G การกลับมามองความเป็นจริงในตลาดเอเชียแปซิฟิกก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะการสำรวจล่าสุดจาก GSMA ย้ำว่าการเปลี่ยนผ่านจาก 4G ไปเป็น 5G ของประเทศในแถบนี้ยังมีช่องว่างขนาดใหญ่อยู่


ในแง่บวก 5G ได้รับการยอมรับอย่างดีในประเทศชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเกาหลีใต้มีการนำ 5G มาใช้มากกว่า 60% มากกว่าออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ที่คาดว่าจะมีการเชื่อมต่อมือถือบน 5G ประมาณหนึ่งในสามหรือมากกว่านั้นภายในสิ้นปี 2024 ขณะที่อินเดียและไทยเป็นส่วนหนึ่งของตลาดที่มีการใช้งานระลอกใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขยายและการนำเครือข่าย 5G มาใช้อย่างรวดเร็ว

ในส่วนเครือข่าย 5G แบบสแตนด์อะโลน (SA) พบว่ามีให้บริการใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไทย โดยผู้ให้บริการ 295 รายใน 114 ตลาดทั่วโลกเปิดตัวบริการ 5G เชิงพาณิชย์ ณ เดือนมิถุนายน 2024

สถิติล่าสุดจาก GSMA เผยว่าการใช้งาน 5G ทั่วโลกเมื่อปี 2023 อยู่ที่ 18% น้อยกว่า 4G ที่มี 59% คาดว่า 5G จะมีสัดส่วนการใช้งานเพิ่มเป็น 56% ในปี 2030
การสำรวจพบว่า 5G มีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูงมาก คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเกือบ 130,000 ล้านดอลลาร์ให้เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกภายในปี 2030 คาดว่าภาคการผลิตจะได้รับประโยชน์สูงสุด (37%) รองลงมาคือภาคการบริหารสาธารณะ (14%) และภาคบริการ (9%)

แต่ในอีกแง่ รายงาน GSMA คาดว่า 4G จะยังคงเป็นเทคโนโลยีที่โดดเด่นในภูมิภาคต่อไปถึงปี 2030 แม้ว่าช่องว่างของ 5G จะแคบลงอย่างมากก็ตาม โดยความท้าทายอยู่ที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ยังคงไม่เชื่อมต่อ โดยเฉพาะในบังกลาเทศ อินเดีย และปากีสถาน

การสำรวจยังพบว่าอุปสรรคหลักคือการขาดความสามารถในการซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอุปกรณ์ และการขาดทักษะด้านดิจิทัล เห็นได้ชัดในหมู่พลเมืองสูงอายุ คาดว่าเครือข่ายดาวเทียมและเครือข่ายนอกภาคพื้นดินจะสามารถช่วยลดช่องว่างด้านการเชื่อมต่อในพื้นที่ที่ท้าทายได้



ที่สุดแล้ว ในระหว่าง 6 ปีที่ 6G ยังไม่มา สปอตไลต์วงการเครือข่ายมือถือย่อมส่องไปที่ 5.5G ในฐานะคำตอบหนึ่งเดียวของการรองรับโลกธุรกิจยุค Generative AI ซึ่ง GSMA พบว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กำลังใช้ GenAI ในการสรรหาแหล่งรายได้ใหม่ และบริการลูกค้า ช่วยการขาย การตลาด และการพัฒนาโค้ด ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการบางรายเริ่มลงทุนในสตาร์ทอัปด้าน AI เพื่อให้บริการลูกค้าด้วยประสบการณ์ที่ดีขึ้น และมีการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ตอกย้ำความต้องการ 5.5G มากขึ้นอีก



เพราะฉะนั้น 5.5G จะมีดีมานด์แน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น