หัวเว่ย (Huawei) ส่งสัญญาณโอเปอเรเตอร์ไทยขานรับ "5.5G" เครือข่ายรับส่งข้อมูลไร้สาย 5G เฟสใหม่ที่เหนือกว่า 5G เฟสแรกเรื่องความเร็วกว่า 10 เท่า หน่วงต่ำ และรองรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงเครือข่ายอัตโนมัติดีกว่า ระบุ 60 โอเปอเรเตอร์โลกเปิดตัว 5.5G ในเชิงพาณิชย์แล้ว เพื่อขานรับสมาร์ทโฟน AI ที่จะสูงถึง 170 ล้านเครื่องในปี 2024 ด้านเอไอเอส (AIS) และทรู (TRUE) ยังอุบแผนลงทุน แต่ตบเท้าขึ้นเวทีในงานโชว์เคส 5.5G ย้ำพร้อมให้บริการลูกค้าดีที่สุด
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการ ฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจเครือข่ายโทรคมนาคม ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ Huawei กล่าวในงาน Asia-Pacific ICT Summit 2024 ถึงศักยภาพของเทคโนโลยี 5.5G และบทบาทในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่าในขณะที่ 4G เคยสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่และโอกาสในการทำงานของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ 5G จะยิ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คาดว่าการเพิ่มขึ้นของการใช้งาน 5G ทุกๆ 10% จะทำให้ GDP เติบโต 1% ถึง 1.8% และ 5G สามารถเพิ่มผลผลิตให้อุตสาหกรรมดั้งเดิมได้ 10% ถึง 20% สถิติเหล่านี้จึงสะท้อนทิศทางที่สดใสของตลาด 5.5G ในภูมิภาค
"เทอร์มินัลมากกว่า 30 ประเภทรองรับ 5.5G และผู้ให้บริการมากกว่า 60 รายได้เปิดตัว 5.5G ในเชิงพาณิชย์แล้ว โดยโอเปอเรเตอร์บางรายได้นำ 5.5G มาใช้ในเครือข่ายขนาดใหญ่ จึงชัดเจนว่าการผสมผสานระหว่าง AI และ 5.5G จะขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ซึ่งในการจัดส่งสมาร์ทโฟน AI ทั่วโลกที่จะสูงถึง 170 ล้านเครื่องในปี 2024 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอาจคิดเป็น 40-50% ของการจัดส่งเหล่านี้"
อาเบลย้ำว่าวันนี้มีโครงการ 5G B2B มากกว่า 13,000 โครงการทั่วโลก ทำให้บริการด้าน 5G รูปแบบใหม่กำลังเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด โอเปอเรเตอร์จึงเริ่มสร้างรายได้จากการมอบประสบการณ์ที่หลากหลายให้ผู้ใช้ ที่จะได้ใช้งานดิจิทัลแบบลื่นไหลบนความสามารถของ 5.5G ตั้งแต่การปรับปรุงความเร็วแบนด์วิดท์ การรองรับความหนาแน่นของการเชื่อมต่อได้มากขึ้น ความแม่นยำในการระบุตำแหน่งที่ทำให้เล่นเกมได้ดีขึ้น และประสิทธิภาพด้านพลังงานที่ประหยัดกว่าเมื่อเทียบกับ 5G
5.5G ของ Huawei จะรองรับแอปพลิเคชันใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี XR (extended reality) เสมือนจริง การส่งสัญญาณระบบภาพความละเอียดสูงพิเศษ และการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ IoT ที่ทุกสิ่งล้วนต้องออนไลน์ ทั้งหมดนี้เป็นผลจากความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด 10 กิกะบิตต่อวินาที (เร็วกว่า 5G ถึง 10 เท่า) ความหน่วงต่ำกว่า 1 มิลลิวินาทีจนผู้ให้บริการสามารถรับประกันคุณภาพหรือ SLA ได้แบบกำหนดเอง ที่สำคัญคือรองรับ AI และเครือข่ายอัตโนมัติดีกว่าเพราะประสิทธิภาพและการจัดการเครือข่ายที่ดีขึ้น
ในขณะที่ย้ำว่าเทคโนโลยี 5.5G ช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถให้บริการแนวใหม่ เช่น Massive IoT ประสบการณ์ 3D/MR/XR การสื่อสาร V2X และแอปพลิเคชัน AI ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ Huawei ได้ส่งสัญญาณกำลังร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างระบบนิเวศ 5.5G ที่แข็งแกร่งในประเทศไทย ทั้งเอไอเอสและทรูที่เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์บนเวทีงานประชุมเมื่อวันที่ 14-15 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานที่จัดแสดงการใช้งานเทคโนโลยี 5G และ 5.5G ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่โรงงานอัจฉริยะ รถแท็กซี่ไร้คนขับ และการชอปปิ้งด้วย AI
มาร์ก ชง ชิน กก (Mark Chong Chin Kok) รักษาการณ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กล่าวว่าเครือข่าย 5G ของ AIS นั้นครอบคลุมพื้นที่ 95% ของไทย ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่เครือข่าย 5G ครอบคลุมมากที่สุด และบริษัทจะยังคงขยายการลงทุนเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในศักยภาพของเครือข่าย ขณะที่ นายฮาว ริ เร็น (How Lih Ren) หัวหน้าสายงานการพาณิชย์ พันธมิตรเชิงกลยุทธ์และเทเลคอม-เทค บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทใช้ AI ในการพัฒนาบริการลูกค้าทั้งดีแทคและทรูอย่างเป็นเนื้อเดียว และในปี 2024 คนไทยจะได้เห็นบริการแชตบอตของบริษัทในรูปผู้ช่วยส่วนตัวชื่อมะลิ ซึ่งแม้ทั้งคู่จะไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการลงทุน แต่ก็ถือเป็นสัญญาณการเปิดทางให้บริการและโอกาสทางธุรกิจใหม่ในไทยในช่วง 5 ปีที่ 6G จะยังไม่เกิด
สำหรับงาน Asia-Pacific ICT Summit 2024 นั้นเป็นงานแสดงโมเดลอัจฉริยะหลากหลายสำหรับชีวิตดิจิทัล ทั้งด้านการทำงาน การแพทย์ รวมถึงบ้านอัจฉริยะ Wi-Fi 7 และนวัตกรรมระดับอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เปิดให้งานในหลายเมืองใหญ่ของจีนเรียบร้อย