xs
xsm
sm
md
lg

ครึ่งปี 67 ต่างชาติขนเงินลงทุนไทย 8.14 หมื่นล้าน จ้างงาน 1,852 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผย ครึ่งปี 67 ต่างชาติลงทุนในไทย 81,487 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง ตามด้วย ฮ่องกงและสิงคโปร์ จ้างงานคนไทย 1,852 คน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เปิดเผยว่า “ครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 385 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 106 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 279 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 81,487 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,852 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 ญี่ปุ่น 103 ราย คิดเป็น 27% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 44,018 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการออกแบบและติดตั้งกระจก ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการ เช่น ระบบการจัดการเนื้อหาของเว็บไซต์ (Content Management System : CMS) เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ท่อไอเสียและชิ้นส่วนท่อไอเสียสำหรับยานพาหนะ / ชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูปสำหรับยานพาหนะ / ปั๊มน้ำ และปั๊มน้ำมันเครื่อง เป็นต้น

อันดับที่ 2 สิงคโปร์ 63 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 7,379 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การให้บริการติดตั้งเครื่องจักร และการแก้ไขปัญหา เพื่อลดการขัดข้องของเครื่องจักร เป็นต้น ธุรกิจโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์ ธุรกิจบริการกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ประเภทไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่ายและ/หรือให้บริการ เช่น ระบบบริหารจัดการท่าเรือ เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า / อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักร / Motor สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า)

อันดับที่ 3 สหรัฐอเมริกา 60 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,223 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสารและโทรคมนาคม / เครื่องมือแพทย์ / เคมีภัณฑ์และยา) ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการติดต่อประสานงาน บริหารจัดการ ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้ข้อมูลในด้านต่างๆ เกี่ยวกับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์ / DRUM BRAKE ASSEMBLY)

อันดับที่ 4 จีน 42 ราย คิดเป็น 11% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 5,997 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน) ธุรกิจการจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมเหล็ก หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล เช่น การรับฝาก การซื้อขาย และให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แท่งอลูมิเนียม/ โลหะหล่อขึ้นรูป/ อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรอุตสาหกรรม) ธุรกิจบริการตัดโลหะ (Coil Center)

อันดับที่ 5 ฮ่องกง 31 ราย คิดเป็น 8% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 12,062 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป / ฟิล์มไวแสง) ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการรวมทั้งฝึกอบรมในด้านการจัดการร้านอาหารและคาเฟ่ภายในร้านจำหน่ายสินค้า ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แม่พิมพ์/ เลนส์ เลนส์สัมผัส (Contact Lens) กรอบแว่นตา แว่นตา / ชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์) ธุรกิจจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการ เช่น เกม เป็นต้น

นางอรมนกล่าวว่า การเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาระบบผลิตและจ่ายไฟฟ้ากำลัง องค์ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้ง Internet Broadband องค์ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของเครื่องกำเนิดไอน้ำ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอุปกรณ์จับยึดชิ้นงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 59 ราย (เพิ่มขึ้น 18%) (เดือน ม.ค. - มิ.ย. 67 อนุญาต 385 ราย / เดือน ม.ค. - มิ.ย. 66 อนุญาต 326 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 32,560 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 67%) (เดือน ม.ค. - มิ.ย. 67 ลงทุน 81,487 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - มิ.ย.66 ลงทุน 48,927 ล้านบาท) ขณะที่มีการจ้างงานคนไทยลดลง 1,370 ราย (ลดลง 43%) (เดือน ม.ค. - มิ.ย. 67 จ้างงาน 1,852 คน / เดือน ม.ค. - มิ.ย. 66 จ้างงาน 3,222 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วงครึ่งปีแรกปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 116 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 55 ราย หรือ เพิ่มขึ้น 90% (เดือน ม.ค. - มิ.ย. 67 ลงทุน 116 ราย / เดือน ม.ค. - มิ.ย. 66 ลงทุน 61 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 21,034 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 10,263 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 95% (เดือนเดือน ม.ค. - มิ.ย. 67 เงินลงทุน 21,034 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - มิ.ย. 66 เงินลงทุน 10,771 ล้านบาท เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 5,225 ล้านบาท จีน 21 ราย ลงทุน 1,918 ล้านบาท ฮ่องกง 12 ราย ลงทุน 5,008 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 43 ราย ลงทุน 8,883 ล้านบาท

โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับบริหารจัดการ วิเคราะห์ วางแผน รวบรวม และแสดงผลข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการเชื่อมโลหะ ธุรกิจบริการเคลือบผิวโลหะโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์ชุบเคลือบผิวด้วยพลาสติก, Motor สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า, โฟมสำหรับยานพาหนะ เป็นต้น) ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบจัดการคลังสินค้า เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น