xs
xsm
sm
md
lg

ทำความเข้าใจ AI PC ก่อนทยอยเข้าไทยครึ่งปีหลัง (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี AI PC ที่นับเป็นยุคใหม่ของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะทยอยเข้ามาทำตลาดในไทยผ่านบรรดาผู้ผลิตพีซี ไม่ว่าจะเป็น ASUS Lenovo Dell HP Acer หรือแม้แต่ MSI หลังจากที่หน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ที่รองรับ AI PC ทั้ง Intel Core Ultra AMD Ryzen AI และ Qualcomm Snapdragon X Elite เข้าสู่ตลาด

คำถามที่ตามมาคือ AI PC จะเข้ามาช่วยให้การใช้คอมพิวเตอร์ของคนไทยสะดวกขึ้นมากแค่ไหน ไปจนถึงจำเป็นไหมที่จะต้องเปลี่ยนมาใช้ AI PC ในเวลานี้ พร้อมไปดูนวัตกรรมที่บรรดาผู้ผลิต AI PC เตรียมใช้เข้ามาสร้างจุดต่างให้แก่ลูกค้าเวลาที่เลือกซื้อไปใช้งาน


ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การนำ AI หรือการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) ที่จะเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้เริ่มมีให้เห็นกันมาสักพักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ในเรื่องของความปลอดภัย อย่างการสแกนใบหน้า (Biometric) เพื่อปลดล็อกตัวเครื่อง

ไปจนถึงการเข้ามาช่วยบริหารจัดการพลังงานในเครื่อง เช่น เวลาเปิดเว็บเบราว์เซอร์จะปรับการทำงานของหน่วยประมวลผลลงให้ใช้พลังงานต่ำ แต่เมื่อไหร่ที่มีการตัดต่อวิดีโอ หรือทำงานกราฟิกที่ต้องใช้พลังในการประมวลผล จะเร่งการประมวลผลให้เพียงพอต่อความต้องการ แลกมากับการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น


ที่ใกล้ตัวมากขึ้นอย่างเวลาใช้งานวิดีโอคอลผ่านโปรแกรมอย่าง Microsoft Teams หรือ Zoom การที่กล้องสามารถแยกตัวบุคคลออกจากฉากหลัง และซ้อนภาพพื้นหลังเข้าไป การตัดเสียงรบกวนรอบข้างเวลาที่ประชุม ก็มีการนำ AI มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณที่พัฒนาต่อยอดมาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

พอมาถึงนิยามใหม่ในยุคของ AI PC ที่ผู้ผลิตชิปให้สัญญาณออกมาแล้วว่า หลังจากนี้คอมพ์ที่ใช้ชิปที่มีหน่วยประมวลผล NPU จะเรียกว่าเป็น AI PC ประกอบกับการที่ Microsoft พัฒนา Copilot ที่เป็น Generative AI ขึ้นมา ทำให้ภาพของการใช้งาน AI เริ่มเปลี่ยนไป กลายเป็นผู้ช่วยที่จะเข้ามาสรุปเนื้อหา ช่วยเขียนอีเมล ใช้ในการค้นหาข้อมูล ในลักษณะของการถามตอบ และสั่งงานด้วยเสียง ที่กลายเป็น AI PC จะมีความฉลาด และเรียนรู้ผู้ใช้งานได้มากขึ้น

กลับกันในมุมของแบรนด์คอมพิวเตอร์อย่าง ASUS ที่เตรียมทยอยนำ AI PC เข้ามาทำตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง เลือกที่จะนำเสนอประสบการณ์ใช้งาน AI ในอีกรูปแบบหนึ่ง ในลักษณะของซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งมาในตัวเครื่อง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน ไปจนถึงการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นบนคอมพิวเตอร์จากตัวช่วยของ AI

เริ่มกันจากในการประชุมออนไลน์ ที่ ASUS ทำงานร่วมกับ Microsoft Copilot ทำให้หลังจากนี้ เวลามีการวิดีโอคอล AI PC จะช่วยให้สามารถแสดงคำบรรยาระหว่างการประชุมได้ ทำให้เวลาสนทนากับชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจสำเนียงทำได้มั่นใจมากขึ้น ไปจนถึงการแปลภาษาแบบเรียลไทม์ในกลุ่มภาษาที่รองรับ

นอกจากนี้ AI PC ยังเข้ามาทำงานร่วมกับกล้องเว็บแคม ที่จะช่วยให้การเบลอฉากหลังทำได้สมจริงมากขึ้น ตัวกล้องสามารถติดตามผู้พูดได้ตลอดเวลา หรือการจัดเฟรมให้ผู้พูดอยู่ตรงกลางเสมอ จนถึงการปรับให้เหมือนตามองกล้องตลอดเวลา แม้ว่าในความเป็นจริงจะมองข้อมูลที่หน้าจออยู่ก็ตาม ช่วยให้การประชุมออนไลน์มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

*** AI จัดการรูปภาพ-สร้างไอเดียแมป

สำหรับเครื่องมือ AI ที่ ASUS นำมาแสดงเป็นไฮไลต์ในงานเปิดตัวพีซีรุ่นใหม่ที่จะทยอยวางจำหน่ายในช่วงครึ่งปีหลัง มีซอฟต์แวร์ที่น่าสนใจด้วยกัน 2 เรื่องหลักๆ ที่มีโอกาสเข้ามาช่วยให้ผู้ใช้งานสะดวกขึ้น ทั้งในเรื่องของการรูปภาพ และการเฟ้นหาไอเดียใหม่ๆ ในการทำงาน


เริ่มจาก StoryCube โปรแกรมที่จะเข้ามาจัดการไฟล์ภาพถ่ายและวิดีโอจากอุปกรณ์ต่างๆ และแพลตฟอร์มคลาวด์ รวบรวมเข้ามาไว้ในที่เดียว เพื่อให้สามารถจัดระเบียบ จัดหมวดหมู่ต่างๆ ได้จากการทำงานของ AI ที่จะเข้ามาช่วยคัดแยกใบหน้า สถานที่ และช่วงเวลาต่างๆ

ก่อนนำมาคำนวณเพื่อแสดงผล อย่างเช่นการสร้างอัลบั้มภาพที่มีภาพถ่ายของคุณ กับเพื่อน หรือการย้อนดูความทรงจำจากการไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ โดยสามารถเรียกดูได้ทั้งแบบอัลบั้มภาพ หรือจะให้ StoryCube สร้างวิดีโอไฮไลต์ออกมาให้รับชมก็ได้


อีกโปรแกรมสำหรับผู้ใช้ในกลุ่มที่ต้องการคิดค้นไอเดียใหม่ๆ ในการทำงานคือ MuseTree แอปที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างไอเดียแมปขึ้นมาจากการป้อนข้อมูลตัวอักษร หรือการวาดลายเส้นลงไป ตัวโปรแกรมจะแปลงไอเดียออกมาเป็นภาพด้วยการนำ Gererative AI มาช่วย


การนำ AI มาช่วยสร้างภาพร่างเพื่อนำไปใช้งานต่อในสตอรี่บอร์ด จะกลายเป็นอีกตัวช่วยสำคัญในกลุ่มครีเอเตอร์ ทำให้สามารถวางแผนงานได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญคือเป็นเครื่องมือฟรีให้ใช้งานได้บนพีซี โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วย

จะเห็นได้ว่าชุดเครื่องมือ AI ต่างๆ ที่ออกมาให้เห็นในช่วงแรก จะเน้นไปที่การต่อยอดจากโปรแกรมเดิมๆ ที่มีผู้ใช้งานประจำอยู่แล้ว เสริมด้วยการใช้ AI เข้าไปช่วยให้ใช้งานได้ง่าย และสะดวกขึ้นแทน

หลังจากนี้ คงต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงของ AI PC ที่จะเกิดขึ้น เพราะในตอนนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้งาน AI PC ในตอนนี้ ใครที่คอมพิวเตอร์เครื่องเก่ายังใช้งานได้ ทำงานได้ตอบโจทย์อยู่ แนะนำให้รอการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใน 1-2 ปี ข้างหน้าดีกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น