xs
xsm
sm
md
lg

เปิดบทบาท Intel ในยุค AI PC (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาภาคอุตสาหกรรมไทยนำ AI มาใช้งาน หลัง ‘ไอดีซี’ เผยแนวโน้มภาคธุรกิจให้ความสนใจลงทุนใน AI แม้ยังขาดความชัดเจนด้านการกำกับดูแล ยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์อย่าง ‘อินเทล’ เห็นโอกาสนำเสนอ AI PC เชื่อมการใช้งาน AI สู่ทุกดีไวซ์

เจน เบล รองประธาน ฝ่ายการขายและการตลาด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนิวซีแลนด์ อินเทล กล่าวว่า ไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการนำ AI มาใช้งาน และมีโอกาสที่จะเติบโตอีกมากในช่วงหลายปีข้างหน้า โดยเฉพาะการที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้

ขณะเดียวกัน อินเทลเห็นถึงความสำคัญของ AI ซึ่งเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนหลักของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก จากเดิมที่เศรษฐกิจดิจิทัลจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อน GDP แต่การมาของ AI จะเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตขึ้นไปอีก

“ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP จะอยู่ที่มากกว่า 15% และมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 25% ในปี 2030 แต่เมื่อ AI เข้ามา มีโอกาสที่สัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลบนพื้นฐานของ AI จะเพิ่มเป็นถึง 33% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030”

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยไอดีซี คาดการณ์ว่าตลาดซอฟต์แวร์แพลตฟอร์ม AI ของประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 43.1% ในช่วงปี 2566 ถึง 2570 โดยในปี 2570 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 141.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

โรเจอร์ หลิง ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายซอฟต์แวร์และบริการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) กลุ่มข้อมูลและการวิเคราะห์ ของไอดีซี เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การที่ตลาด AI ในไทยเติบโตเป็นผลมาจากหลายปัจจัยสำคัญ อย่างยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติ (พ.ศ.2565-2570) การฝึกอบรมบุคลากร AI กว่า 80,000 คน และการจัดสรรงบประมาณในโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI ในกองทุนวิจัยมูลค่า 1,290 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทย โดยการเปิดตัวระบบเครือข่าย 5G และระบบบรอดแบนด์ความเร็วสูง อีกทั้งยังมีการจัดตั้งแพลตฟอร์มระดับประเทศสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง

สำหรับความท้าทายของการลงทุนในประเทศไทย แทบไม่แตกต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค คือเกี่ยวเนื่องกับแนวทางของการกำกับดูแล การขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้าน AI ความพร้อมของดาต้าที่สามารถนำไปใช้งานได้ และในแง่ความปลอดภัยของข้อมูลที่นำไปใช้งานเกี่ยวกับความเสี่ยงของภัยไซเบอร์

“ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องการเติบโตของ AI ทั้งในไทย และภูมิภาคเอเชียคือบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลทางด้าน AI ซึ่งจะส่งผลถึงระยะเวลาในการนำ AI ไปใช้งาน ซึ่งอาจเกิดความล่าช้าได้สูงถึง 20%”

ขณะที่ปัจจุบันการลงทุนทางด้าน AI ของภาคธุรกิจจะให้ความสำคัญใน 3 ส่วนด้วยกัน คือ Interpretive AI ที่จะเข้าไปช่วยยกระดับการใช้ชีวิต หรือการทำงานให้มีความสะดวกมากขึ้น หรือแม้แต่การนำไปใช้ร่วมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 47%

ขณะที่ Predictive AI เป็นอีกรูปแบบการนำ AI ไปใช้งานเพื่อวิเคราะห์ และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้ คิดเป็นสัดส่วนราว 39% ส่วน Generative AI ที่กำลังอยู่ในกระแส มีสัดส่วนราว 19% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจในแง่ของการลงทุนทางด้านไอทีเกี่ยวกับ AI พบว่า กว่า 70% ของภาคธุรกิจให้ความสนใจในการลงทุน Gen AI เพราะเชื่อว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในการทำงาน

***ปลดล็อก AI ด้วย Intel Core Ultra

Intel เพิ่งเริ่มปลดล็อกศักยภาพของ AI สำหรับธุรกิจ และสำหรับผู้ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม และด้วยจุดยืนของอินเทล จึงสามารถดึงศักยภาพของ AI ออกมาได้อย่างเต็มรูปแบบ และคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำในการเผยแพร่ไปสู่ทุกๆ ที่และเพื่อให้ทุกคนสร้างประโยชน์จาก AI ได้

พร้อมกันนี้ Intel กำลังสร้างแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่จะผสานรวม AI เข้ากับความปลอดภัยสำหรับลูกค้า เพื่อให้ข้อมูลและโมเดล AI ทั่วทั้งศูนย์ข้อมูล คลาวด์ พีซี และ Edge ให้มีความปลอดภัยสูงสุด

ฉันทนา สุวรรณวงษ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้ AI เข้ามาส่งผลกระทบในทุกแง่มุมของการใช้ชีวิต ซึ่ง Intel ให้ความสำคัญกับการวางรากฐาน และกำหนดทิศทางเทคโนโลยี เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดแก่มนุษย์

ส่วนสำคัญที่ทำให้ Intel มั่นใจว่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจ และผู้ใช้งานก้าวเข้าสู่ยุคของ AI ได้คือการพัฒนาชิปประมวลผลที่รองรับการทำงานของ AI ด้วยการเพิ่ม NPU เข้ามาอย่างใน Intel Core Ultra พร้อมกับ AI PC และ Intel Gaudi 3 AI Accelerator ที่ช่วยเซิร์ฟเวอร์ประมวลผล มาเป็นทางเลือกให้นำไปใช้งาน


วรชัย รวยอารี ผู้อำนวยการฝ่ายขาย กลุ่มธุรกิจค้าปลีก อินเทล ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้การประมวลผลของ AI ส่วนใหญ่จะอยู่ที่คลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์เป็นส่วนใหญ่ แต่ทิศทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือการประมวลผล AI ที่เกิดขึ้นบนเครื่อง หรืออุปกรณ์ที่ใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้การประมวลผลทำได้รวดเร็วมากขึ้น และที่สำคัญคือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลด้วย

“AI PC เข้ามาตอบโจทย์ในแง่ของความเป็นส่วนตัวในการใช้งาน รวมถึงรูปแบบการประมวลผลบางอย่างที่ต้องการใช้งานทันทีในสถานะที่ออฟไลน์อยู่ ทำให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังช่วยในเรื่องของการยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ สุดท้ายคือ AI มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว การที่พีซีรองรับการประมวลผล AI จะช่วยให้รองรับการใช้งานในอนาคต”

โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 จะมี AI PC ออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเครื่อง และในปี 2028 AI PC จะมีสัดส่วนเป็น 80% มาจากปัจจัยในแง่ของการที่องค์กรธุรกิจลงทุนเพิ่มเติม และถึงรอบในการเปลี่ยนเครื่องของภาคธุรกิจเข้ามาเสริมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น