xs
xsm
sm
md
lg

ปลอบใจตัวเอง? รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ยัน ‘ชิปหัวเว่ย’ ไม่ล้ำสมัยเท่าชิปอเมริกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ กล่าววานนี้ (21 เม.ย.) ว่าชิปที่บริษัท หัวเว่ย (Huawei) ของจีนใช้เป็นขุมพลังในสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่น Mate 60 Pro ยังไม่ทันสมัยเท่าชิปอเมริกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการกีดกันเทคโนโลยีของสหรัฐฯ นั้นใช้ได้ผล

หัวเว่ยซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ถูกสหรัฐฯ ใช้มาตรการจำกัดทางการค้า (trade restrictions) มาตั้งแต่ปี 2019 โทษฐานละเมิดคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่าน โดยเป็นหนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะเตะถ่วงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน

อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยได้สร้างความตกตะลึงแก่อุตสาหกรรมไอทีรวมถึงสหรัฐฯ เมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟน Mate 60 Pro ซึ่งใช้ชิป Kirin 9000s ระดับ 7 นาโนเมตรที่ผลิตได้เองในจีนโดยบริษัท เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเทอร์เนชันแนล คอร์ป (SMIC)

การออกสู่ท้องตลาดของหัวเว่ย Mate 60 Pro ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แทนความมุ่งมั่นพยายามของจีนที่จะคิดค้นนวัตกรรมและก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แม้จะถูกสหรัฐฯ ใช้วิธีการต่างๆ นานาเพื่อเตะถ่วงไม่ให้อุตสาหกรรมชิปของแดนมังกรพัฒนาเทียบชั้นอเมริกาก็ตาม

ความเคลื่อนไหวครั้งนั้นยังถูกมองว่าเป็นการตบหน้าอเมริกาฉาดใหญ่ เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่ ไรมอนโด เดินทางไปเยือนจีนแบบพอดิบพอดี

ล่าสุด ระหว่างให้สัมภาษณ์รายการ 60 Minutes ทางสถานีโทรทัศน์ CBS ไรมอนโด ได้ออกมาปฏิเสธมุมมองดังกล่าว

“ดิฉันกลับมองว่า มาตรการควบคุมการส่งออกของเราเวิร์ก เนื่องจากชิปตัวนั้นไม่ได้มีคุณสมบัติเทียบเคียง... และยังถือว่าล้าหลังหลายปีเมื่อเทียบกับสิ่งที่เรามีในสหรัฐอเมริกา” เธอกล่าว

“เรามีเซมิคอนดักเตอร์ที่ก้าวหน้าซับซ้อนที่สุดในโลก ในขณะที่จีนไม่มี”

หลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามทุกวิถีทางที่จะปิดกั้นจีนไม่ให้เข้าถึงชิประดับก้าวหน้า รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตชิปเหล่านั้น เนื่องจากเกรงว่ามันจะถูกใช้เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กองทัพแดนมังกร

หัวเว่ยถูกเพิ่มชื่อลงในบัญชีคว่ำบาตรการค้าหรือที่เรียกว่า entity list ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2019 โดยสหรัฐฯ อ้างว่าอุปกรณ์ของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมรายนี้อาจถูกจีนใช้เป็นเครื่องมือสอดแนมชาวอเมริกัน

การถูกขึ้นบัญชีจำกัดการค้ายังส่งผลให้บริษัทอเมริกันที่เป็นซัปพลายเออร์ของหัวเว่ยจำเป็นต้องขอ “ใบอนุญาตพิเศษ” จากทางการสหรัฐฯ และผ่านกระบวนการตรวจสอบที่ยุ่งยากกว่าจะส่งสินค้าให้ทางหัวเว่ยได้

กระนั้นก็ตาม บริษัทอเมริกันหลายเจ้ารวมถึงอินเทล (Intel) ยังคงมีใบอนุญาตส่งออกสินค้าให้หัวเว่ยคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ หนึ่งในนั้นมีส่วนช่วยให้หัวเว่ยสามารถเปิดตัวคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปรุ่น MateBook X Pro ซึ่งใช้ซีพียู Core Ultra 9 รุ่นใหม่ของอินเทล จนกลายเป็นข่าวที่ทำเอานักการเมืองสายเหยี่ยวในสหรัฐฯ ช็อกไปตามๆ กัน

เมื่อพิธีกรของ CBS ถามว่า เธอใช้มาตรการคุมเข้มพวกบริษัทใหญ่ๆ ดีพอแล้วหรือไม่? ไรมอนโด ก็ยืนยันเสียงแข็ง

“ดิฉันมองภาคธุรกิจว่าต้องมีความรับผิดชอบเท่าๆ กับทุกคน เมื่อดิฉันบอกพวกเขาว่าจะขายเซมิคอนดักเตอร์ให้จีน แน่นอนว่าพวกเขาไม่ชอบหรอก แต่ดิฉันก็ต้องทำ” ไรมอนโด กล่าว

ที่มา : รอยเตอร์


กำลังโหลดความคิดเห็น