กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทอเมริกันบางรายขายชิปเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่บริษัทหัวเว่ยเทคโนโลยีส์ของจีน
แม้ในการประกาศของกระทรวงเมื่อวันอังคาร (7 พ.ค.) มิได้ระบุชื่อบริษัท แต่แหล่งข่าวใกล้ชิดกับเรื่องนี้ รวมทั้งนายไมเคิล แม็กคอล ประธานคณะกรรมาธิการด้านกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยืนยันว่า เป็นบริษัทควอลคอมม์ และอินเทล โดยคำสั่งมีผลบังคับใช้ในทันที ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีนรายนี้ไม่ได้รับชิปใดๆ ก็ตามสำหรับผลิตสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อปอีกต่อไป
ประกาศิตสายฟ้าแลบมีขึ้น หลังจากหัวเว่ยเพิ่งเปิดตัว “เมตบุ๊ก เอ็กซ์ โปร” ( MateBook X Pro) แล็ปท็อปขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอรุ่นแรกของหัวเว่ยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงของอินเทลคือหน่วยประมวลผล “คอร์อัลตร้า 9” (Core Ultra 9 processor) เป็นขุมพลังให้เครื่องแล็ปท็อปสามารถประมวลผลเอไอได้เอง
การเปิดตัวครั้งนี้ทำให้ ส.ส.พรรครีพับลิกันฝ่ายค้านออกมาโจมตีกระทรวงพาณิชย์ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดนในทันทีว่า เปิดไฟเขียวให้อินเทลขายชิปให้หัวเว่ยจนได้เรื่อง
นายแม็กคอล ส.ส. รีพับลิกัน รัฐเทกซัส ชี้ว่า การประกาศเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันไม่ให้จีนพัฒนาเอไอขั้นสูงได้สำเร็จ โดยอินเทลและควอลคอนน์เป็นบริษัทที่พรรคกังวลมาตลอดว่าใกล้ชิดสนิทสนมกับจีนมากจนเกินไป
ด้าน ส.ส.หญิง เอลิส สเตฟานิก จากรีพับลิกันระบุในแถลงการณ์ว่า การดำเนินการครั้งนี้จะเสริมสร้างความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ ปกป้องความเฉลียวฉลาดของอเมริกา และลดความสามารถของจีนคอมมิวนิสต์ในการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง
ทั้งนี้ หัวเว่ยถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่ถูกจำกัดการทำการค้าในปี 2562 ท่ามกลางความหวาดกลัวว่า อุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจเป็นเครื่องมือสอดแนมอเมริกา และเป็นความพยายามอย่างหนึ่งในการบั่นทอนขีดความสามารถการพัฒนากองทัพของจีน โดยบริษัทซัปพลายเออร์ต้องขออนุญาตในการจัดส่งสินค้าให้แก่บริษัทที่ถูกขึ้นบัญชี
อย่างไรก็ตาม แม้หัวเว่ยถูกขึ้นบัญชีดำ ซัปพลายเออร์อเมริกันยังได้รับใบอนุญาตให้ขายสินค้าและเทคโนโลยีรวมเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์แก่หัวเว่ย ซึ่งรวมถึงใบอนุญาตที่ออกในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2563 ซึ่งยอมให้อินเทลจัดส่งหน่วยประมวลผลกลาง หรือซีพียู ให้แก่หัวเว่ยสำหรับผลิตแล็ปท็อป และยอมให้ควอลคอมน์ขายชิป 4G รุ่นเก่าให้หัวเว่ยสำหรับผลิตโทรศัพท์มือถือ แต่ห้ามขายชิปที่จะทำให้หัวเว่ยเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ใบอนุญาตสมัยทรัมป์ฉบับนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนในที่สุดนำไปสู่คำสั่งเพิกถอนดังที่เป็นข่าว
ฝ่ายที่คัดค้านชี้ว่า การออกใบอนุญาตดังกล่าวมีส่วนทำให้หัวเว่ยผงาด และช็อกวงการอุตสาหกรรมด้วยการเปิดตัว เมต 60 โปร (Mate 60 Pro) ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนเทคโนโลยี5G ซึ่งผลิตโดยบริษัทจีนเองทั้งหมดเมื่อเดือน ส.ค. ปี 2566 โดยเชื่อว่า ความสำเร็จของหัวเว่ยครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากควอลคอมน์อนุญาตให้หัวเว่ยศึกษาแฟ้มสะสมผลงานเกี่ยวกับเทคโนโลยี5G ของตนได้
นักวิเคราะห์ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัททั้งสอง เนื่องจากหัวเว่ยไม่ติดอยู่ใน 10 บริษัทชั้นนำที่เป็นลูกค้าของควอลคอมน์ตามการวิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทานโดยบลูมเบิร์ก ขณะเดียวกัน หัวเว่ยเองมีการจัดส่งเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและแล็ปท็อปปีละ 5 ล้านเครื่อง หรือร้อยละ 2 ของตลาดเท่านั้น การเพิกถอนใบอนุญาตจึงไม่กระทบต่ออินเทลแน่นอน
ที่มา : บลูมเบิร์ก / รอยเตอร์