xs
xsm
sm
md
lg

'ETDA' เก็ง! อีคอมเมิร์ซไทยปี 66 โตผงาด แตะ 5.96 ล้านล้านบาท ประกันภัยทำถึงสุด 31%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'ETDA' เปิดผลสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คาดปี 66 พุ่งสูงแตะ 5.96 ล้านล้านบาท อุตสาหกรรมประกันภัยมาแรง โตสุด 31% ศิลปะ ความบันเทิง 24% อุตสาหกรรมค้าปลีก ค้าส่ง 13%

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.67 นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเผยว่า รายงานผลการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย หรือ Value of e-Commerce Survey in Thailand จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลสะท้อนสถานภาพและทิศทางการพัฒนาอีคอมเมิร์ซของประเทศ โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีมูลค่าอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 5.43 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีมูลค่า 5.17 ล้านล้านบาท ถึง 5.05% 

โดยสัดส่วนมูลค่าอีคอมเมิร์ซแบบ B2C มีมากที่สุด คิดเป็น 51.7% รองลงมาคือ B2B ที่ 37.8% และ B2G ที่ 10.5% ข้อมูลนี้มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ในการวางแผนธุรกิจและกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด รวมถึงภาครัฐในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาทิศทางการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น

เมื่อพิจารณามูลค่าอีคอมเมิร์ซรวมจำแนกรายอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมการค้าปลีกและค้าส่งครองแชมป์มีมูลค่ารวมมากที่สุด อยู่ที่ 2.83 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมการค้าปลีก 1.53 ล้านล้านบาท และอุตสาหกรรมการค้าส่ง 1.30 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิต 6.99 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมการขนส่ง 5.52 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมการให้บริการที่พักและอาหาร 4.28 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 2.99 แสนล้านบาท 

โดยช่องทางการขายออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดหนีไม่พ้น e-Marketplaces อยู่ที่ 24.58% (อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการขายผ่านช่องทางดังกล่าวมากที่สุด ได้แก่ การค้าปลีกและค้าส่ง รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิต และบริการที่พักและอาหาร ตามลำดับ) รองลงมาคือ การขายผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของกิจการเองที่ 23.60% และ Social Commerce (มากสุดคือ Facebook รองลงมาคือ TikTok และ Instagram) 22.25%


โดยช่องทางการชำระเงินยอดนิยมคือ Mobile/Internet Banking อยู่ที่ 68.12%) รองลงมาคือ เก็บเงินปลายทาง ที่ 7.92% และสั่งจ่ายผ่านเช็คที่ 6.93% ขณะที่ช่องทางการขนส่งสินค้า พบว่า SMEs นิยมใช้บริการขนส่งสินค้าในประเทศ อยู่ที่ 41% รองลงมาคือ ไปรษณีย์ไทย ที่ 32% ส่วน Enterprises นิยมใช้บริษัทจัดส่งสินค้าด้วยตนเอง อยู่ที่ 63% ถัดมาคือ บริษัทจัดส่งสินค้าในประเทศ ที่ 38% คาดว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซของไทยจะพุ่งสูงแตะ 5.96 ล้านล้านบาทในปี 2566 โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมการประกันภัย อยู่ที่ 31% อุตสาหกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ ที่ 24% และอุตสาหกรรมการค้าปลีกและค้าส่ง ที่ 13%

ปัจจัยภายในที่ส่งผลต่อมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุดคือการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า เช่น การเพิ่มช่องทางการให้บริการ การจำหน่าย การชำระเงิน รวมถึงการเลือกขายสินค้าและบริการที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ขณะที่ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุดคือภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และความพร้อมของการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ 

เทคโนโลยีที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซนำมาใช้คือ Affiliate Marketing ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายได้ถึง 50% และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งมีผู้ประกอบการนำมาใช้เพียง 29% ส่วนอีก 71% ยังไม่ใช้ เนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรที่มีความรู้ความสามารถในการประยุกต์ใช้ AI ความไม่มั่นใจว่าจะนำ AI ไปปรับใช้กับส่วนใดของธุรกิจ และความซับซ้อนในการเข้าใจเทคโนโลยี




กำลังโหลดความคิดเห็น