xs
xsm
sm
md
lg

คลังคลอดเกณฑ์ Virtual Bank ไม่จำกัดใบอนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คลัง” เปิดเกม “ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank)” ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์การขอและการออกใบอนุญาต Virtual Bank ซึ่งเป็นธนาคารไร้สาขา ผสานความเชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ ธนาคาร-เทคโนโลยีดิจิทัล-ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมเข้าด้วยกัน ไม่จำกัดใบอนุญาต จากเดิมจำกัดไว้ 3 ราย ปั้นการเงินยุคดิจิทัล สู่ฮับการเงินอาเซียน

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการจัดตั้ง “ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank)” ว่า
กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์การขอและการออกใบอนุญาต Virtual Bank ซึ่งเป็นธนาคารไร้สาขา ผสานความเชี่ยวชาญ 3 ด้าน ได้แก่ ธนาคาร-เทคโนโลยีดิจิทัล-ข้อมูลวิเคราะห์พฤติกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน เร่งเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและก้าวสู่ฮับการเงินอาเซียน

โดย “ธนาคารไร้สาขา” มุ่งเน้นบริการทางการเงินแก่ 1.ผู้ไม่มีรายได้ประจำ และ SMEs 2.กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินอย่างเพียงพอ (Underserved) และ 3.กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) 4.กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มเป็นหนี้นอกระบบ โดยไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต (เดิมจำกัด 3 ราย) เนื่องจากคลังต้องการเปิดกว้างแก่ผู้มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติ โดยให้ ธปท. พิจารณาใบอนุญาตในจำนวนที่จะกระตุ้นการแข่งขัน และไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

ธนาคารไร้สาขากำกับโดย ธปท. เสมือนธนาคารพาณิชย์อื่น โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ธนาคารไร้สาขาจะไม่ใช้ระบบเงินฝาก ระบบสินเชื่อ Internet Banking ร่วมกับสถาบันการเงินอื่นทั้งในและต่างประเทศ กระทรวงคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดการยื่นคำขอ ต้องจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด และเปิดบริการใน 1 ปี ต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย และมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ในระยะแรก และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ในระยะปกติ สามารถเป็นบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะได้

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) (ประกาศ) เพื่อเพิ่มประเภทและจำนวนผู้ให้บริการทางการเงินซึ่งจะเป็นการเพิ่มระดับการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินและส่งผลดีต่อประชาชน

ประกาศได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตการประกอบธุรกิจ Virtual Bank ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยไม่มีสาขาที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและข้อมูลมาพัฒนาการให้บริการทางการเงิน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนให้ประชาชนกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม (Underserved) และประชาชนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (Unserved) เข้าถึงบริการทางการเงินในอัตราที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนกลุ่มดังกล่าว

สาระสำคัญของประกาศเป็นการกำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์และทรัพยากรที่เพียงพอในการช่วยสนับสนุนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ความเชี่ยวชาญในการใช้งานเทคโนโลยีและการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล รวมทั้งมีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือ และผู้ขออนุญาตสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ พร้อมกับหลักฐานและข้อมูลประกอบการพิจารณาตามที่ประกาศกำหนด โดย ธปท. และกระทรวงการคลังจะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ภายใน 9 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอ และเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ผู้ขออนุญาตต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคง การบริหารความเสี่ยง เป็นต้น และเริ่มดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี

ทั้งนี้ ประกาศได้เปิดโอกาสให้แก่ผู้ขออนุญาตที่มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติมีโอกาสได้ประกอบธุรกิจ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนใบอนุญาตไว้แต่อย่างใด ซึ่ง ธปท. จะพิจารณาใบอนุญาต Virtual Bank ในจำนวนที่เหมาะสมกับระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย เพื่อให้อยู่ในระดับที่จะกระตุ้นการแข่งขันเพื่อประโยชน์ต่อผู้ฝากเงิน ผู้ใช้บริการ และระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ

นายพรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank สอดคล้องกับนโยบายและวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการส่งเสริม Digital Economy และพัฒนา Infrastructure ในระบบการเงินเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Financial Center ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนในอัตราที่เหมาะสม กระทรวงการคลังคาดหวังว่า Virtual Bank จะเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงินและเร่งการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งในที่สุดแล้วจะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพของระบบการเงินและช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ”


กำลังโหลดความคิดเห็น