xs
xsm
sm
md
lg

เปิดศึกพรินเตอร์ Epson บุก B2B สวนทาง HP ชิงตลาดคอนซูเมอร์ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้ว่าการเข้ามาของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน จะทำให้การใช้งานกระดาษ หรืองานพิมพ์มีสัดส่วนลดลง แต่กลายเป็นว่าธุรกิจเครื่องพิมพ์ หรือพรินเตอร์ในตลาดประเทศไทยยังมีอัตราการใช้งานที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้งานที่เฉพาะทาง และมีความจำเป็นในการใช้งานที่เพิ่มขึ้น

ช่วงที่ผ่านมาในตลาดพรินเตอร์จะเกิดการแข่งขันกันจาก 3 แบรนด์ญี่ปุ่น และ 1 แบรนด์สหรัฐฯ ที่ครองตลาดหลักๆ อยู่ในปัจจุบัน ที่ก่อนหน้านี้แต่ละแบรนด์จะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เข้าไปตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มอย่างคอนซูเมอร์ทั่วไป และการใช้งานในภาคองค์กรธุรกิจบนเทคโนโลยีหัวพิมพ์แบบอิงค์เจ็ทและเลเซอร์

แต่กลายเป็นว่าในปัจจุบัน 2 รายใหญ่ทั้ง ‘เอปสัน’ และ ‘เอชพี’ เริ่มบุกเข้าไปในเขตแดนที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น อย่างการที่เอปสันนำเครื่องพิมพ์อิงค์แท็งก์คุณภาพสูงที่พัฒนาความเร็วในการพิมพ์เข้าไปเจาะตลาดเครื่องพิมพ์เลเซอร์ในองค์กรธุรกิจ หรือ B2B ที่เอชพีครองตลาดอยู่

ขณะเดียวกัน เอชพีก็นำกลยุทธ์ 2 เทคโนโลยี ทั้งเลเซอร์ และอิงค์เจ็ทแบบแท็งก์ เข้ามาเจาะในตลาดคอนซูเมอร์ที่เอปสันเป็นผู้นำอยู่ด้วย ทำให้กลายเป็นว่าปัจจุบันการแข่งขันในตลาดพรินเตอร์มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น


ที่สำคัญคือปัจจัยในการเลือกซื้อของผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น จึงกลายเป็นว่านอกจากการนำเสนอเทคโนโลยีของพรินเตอร์แล้ว ผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอออกมาต้องมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ทั้งลดการใช้พลังงาน การปล่อยความร้อน วัสดุที่ใช้งานสามารถนำกลับไปรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์ผลิตจากวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดพรินเตอร์กลับมาเติบโตมาจากรูปแบบการทำงานในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการมาของไฮบริดเวิร์ก (Hybrid Work) หรือการทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำให้แต่เดิมเครื่องพิมพ์ที่อาจจะใช้งานเฉพาะในสำนักงาน หรือองค์กร ก็ขยายสู่การเป็นดีไวซ์ที่ใช้งานในบ้าน

นอกจากนี้ ในการสั่งพิมพ์งานผู้บริโภคต้องการทั้งความสะดวก และคุณภาพ เพราะชิ้นงานหรือเอกสารที่สั่งพิมพ์จะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะในปัจจุบันเอกสารที่สั่งพิมพ์ออกมาใช้งานจะต้องถูกพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ในรูปแบบกระดาษเพื่อการจัดเก็บ หรือเป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมต่างๆ

*** Epson ทุ่ม 30 ล้านบาท ตั้งโซลูชันเซ็นเตอร์

เมื่อ ‘เอปสัน’ ต้องการบุกเข้าไปเจาะในตลาดองค์กร และภาคอุตสาหกรรมที่จะกลายเป็น S-Curve ใหม่ ที่จะสร้างรายได้ในอนาคตให้แก่บริษัท หนึ่งในแนวทางที่เลือกใช้คือการเปิดโซลูชันเซ็นเตอร์ในการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ และสินค้า เพื่อให้พันธมิตรทางธุรกิจได้เห็นถึงนวัตกรรม และเข้าใจถึงเทคโนโลยีที่จะนำไปสร้างรายได้


จุนคิชิ โยชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจเครื่องพิมพ์ บริษัท ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การดำเนินงานที่จะจับตลาด B2B ทำให้เอปสันต้องมีการลงทุนโครงสร้างเพื่อสนับสนุนโครงการใหม่ๆ ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต

“โซลูชันเซ็นเตอร์จะกลายเป็นทัชพอยท์สำคัญที่ทำให้ลูกค้า และพาร์ตเนอร์ของเอปสันสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและรับประสบการณ์ที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้ รวมถึงการที่เชื่อมั่นว่าภาคธุรกิจจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในสังคม และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่ชุมชน”


ภายในโซลูชันเซ็นเตอร์ของเอปสันจะมีการจัดแสดงสินค้า และผลิตภัณฑ์ใน 4 หมวดหลักทั้งโปรเจกเตอร์ เครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์ หุ่นยนต์แขนกล และเครื่องพิมพ์บิสิเนส บนพื้นที่มากกว่า 600 ตารางเมตร ด้วยการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อจัดแสดงโซลูชันที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาได้

โดยในอนาคต เอปสันจะมีการปรับปรุงโซลูชันเซ็นเตอร์ทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อให้เข้ากับแต่ละช่วงฤดูกาล บนแนวคิดของการส่งเสริมความยั่งยืน ที่จะดึงจุดเด่นของภูมิภาคเอเชียมาช่วยสร้างบรรยากาศให้เป็นเอกลักษณ์ สมกับเป็นโซลูชันเซ็นเตอร์แห่งล่าสุดในภูมิภาค และเป็นฮับของตลาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านด้วย


ซิ่ว จิน เกียด กรรมการผู้จัดการภูมิภาค เอปสัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ข้อมูลเสริมว่า ด้วยงบลงทุนกว่า 30 ล้านบาท ในการตั้งโซลูชันเซ็นเตอร์แห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดประเทศไทย และยืนยันว่าเอปสันมีแผนที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย


โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากเครื่องพิมพ์ในกลุ่มเครื่องพิมพ์บิสิเนส ที่มีการเสริมไลน์สินค้าให้ครอบคลุมทุกระดับการใช้งานตั้งแต่ SMEs ไปจนถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เอปสันยังให้ความสำคัญกับตลาดของเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะเครื่องพิมพ์ผ้า ด้วยการนำเครื่องพิมพ์ Direct to Fabric มาจัดแสดงที่เดียวในภูมิภาค เพื่อให้พาร์ตเนอร์ได้เห็นถึงประสิทธิภาพ ความรวดเร็วในการพิมพ์ และนำไปต่อยอดใช้งานทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ เอปสันยังมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าธุรกิจด้วยความยั่งยืน ที่นับเป็นดีเอ็นเอของเอปสัน ซึ่งสะท้อนอยู่ในการดำเนินธุรกิจด้วยการนำเสนอโซลูชันที่ช่วยประหยัดพลังงาน ลดขนาดพื้นที่ใช้งาน และเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูงพิเศษ จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างให้ชุมชนมีคุณภาพมากขึ้น

*** HP ชูความสะดวก ใช้ได้ทุกสถานการณ์


ในขณะที่เอปสันบุกเข้ามาในตลาด B2B กลับกันทางเอชพีได้นำกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นเครื่องพิมพ์อิงค์แท็งก์เข้ามาเจาะในตลาดคอนซูเมอร์มากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเสนอเครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชันแบบหมึกแท็งก์ ที่นำเสนอเรื่องความสะดวกในการเชื่อมต่อใช้งาน และระบบความปลอดภัยมาตรฐานมาสร้างแรงดึงดูดให้ผู้บริโภค

ซู ริชาร์ต หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเครื่องพิมพ์ในบ้าน เอชพี อิงค์ ให้ข้อมูลว่า การที่เอชพีมีเทคโนโลยีงานพิมพ์ที่หลากหลาย ทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการใช้งานของผู้บริโภคได้ ทั้งในส่วนของเครื่องพิมพ์อิงค์แท็งก์ ที่อำนวยความสะดวกในการใช้งานให้แก่ลูกค้า ไปจนถึงเครื่องพิมพ์เลเซอร์คุณภาพสูง

“ปัจจุบันเทคโนโลยีงานพิมพ์อย่างเลเซอร์ถูกพัฒนาให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างการลดการปล่อยความร้อน ลดปริมาณการใช้งานผงหมึกลงแต่ยังคงคุณภาพได้เช่นเดิม ซึ่งทำให้องค์กรธุรกิจที่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนสามารถนำไปใช้งานได้”

ขณะเดียวกัน เอชพียังได้นำเสนอเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการสั่งพิมพ์เอกสาร ที่ปัจจุบันมีความสำคัญมากขึ้น อย่างการเชื่อมต่อกับเครือข่ายไร้สายให้สามารถสั่งพิมพ์ได้ทุกที่ทุกเวลาในเครื่องพิมพ์อิงค์แท็งก์ รวมถึงการพัฒนาเรื่องความปลอดภัยในยุคไฮบริดเวิร์ก ที่เครื่องพิมพ์กลายเป็นช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดการโจรกรรมทางไซเบอร์ ด้วยมาตรฐานระดับโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น