True วาง 3 กลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรด้วยการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งด้วยผ่านการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า นำเทคโนโลยีเติมเต็มวิถีชีวิตคนไทย และการพลิกธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ย้ำเครือข่ายปีนี้ต้องดีขึ้น และกำไรต้องดีขึ้นในทุกไตรมาส
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางธุรกิจในปี 2024 ของกลุ่มทรู ที่จะมุ่งมั่นในการนำโครงสร้างพื้นฐานทางโทรนาคมที่แข็งแรง รวมถึงการมีดิจิทัลอีโคซิสเต็ม เพื่อที่จะมุ่งสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม พัฒนาบุคลากรมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย จนถึงการร่วมมือกับพันธมิตรในหลากหลายอุตสาหกรรม
“การประกาศเป้าหมายในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Thailand’s Leading Telco-Tech Company นอกจากช่วยให้พนักงานมีความมุ่งมั่นในการปรับตัว และนำโอกาสมาเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศ”
เบื้องต้น 3 กลยุทธ์ที่กลุ่มทรูวางไว้เพื่อปฏิวัติเปลี่ยนแปลงวันนี้ เพื่อวันพรุ่งนี้ จะมีทั้งการนำอินฟราสตรักเจอร์ที่เป็นเวิลด์คลาสอยู่แล้ว เพิ่มเติมด้วยการดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด บนเป้าหมายสำคัญคือการขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า
“ในปี 2023 ทรูเริ่มจากการปรับโครงสร้าง ทำธุรกิจบนความปลอดภัย มีการปรับปรุง ปรับตัวให้เหมาะสม ปรับโครงสร้างให้เป็นไปตามทิศทางที่วางไว้ ส่วนในปี 2024 จะเป็นปีที่จะทรานส์ฟอร์มและสร้างให้ผลกำไรดีขึ้นในทุกๆ ไตรมาส และหลังจากปี 2025 เป็นต้นไป จะสร้างผลกำไรให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบนิเวศเพื่อให้เติบโตต่อไปในอนาคต”
นอกจากนี้ ยังเห็นโอกาสสำคัญในการเป็นผู้ให้บริการ Telco-Tech ชั้นนำ ทั้งในแง่ของสัดส่วนการใช้งาน 5G ในไทยที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วประเทศที่ยังมีช่องว่างอยู่ รวมถึงทิศทางในการใช้งานดิจิทัลเซอร์วิสต่างๆ
***รอเงื่อนไขประมูลจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจน
สำหรับเรื่องที่ กสทช. สมภพ ออกมาเปิดเผยถึงการที่ กสทช. เตรียมนำคลื่นความถี่ไม่ว่าจะเป็นคลื่น 850 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 3500 MHz มาจัดสรรใหม่ ผู้บริหารทรูอยากขอความชัดเจนว่า กสทช. มีคลื่นแบนด์ไหนที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย ช่วงปีไหนที่แน่ชัด เพื่อให้สามารถวางแผนในการลงทุนได้อย่างเหมาะสม และเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้
“ต้องยอมรับกันก่อนว่าประเทศไทยมีคลื่นความถี่ที่แพงที่สุดในโลก เราไม่ควรจ่ายค่าไลเซนต์แพงกว่าในสหรัฐฯ หรือยุโรป ถ้ามีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน ระดับราคาที่ต่ำลงมาช่วยประคองให้ผู้ประกอบการสามารถลงทุน นับเป็นเหตุผลที่ถูกต้องในทางธุรกิจ”
ส่วนประเด็นเรื่องของค่าบริการที่ประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากการควบรวม ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของบริการสตรีมมิ่งที่ใช้ปริมาณดาต้าเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือการใช้งานสมาร์ทโฟนที่กล้องถ่ายภาพมีคุณภาพมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้งานดาต้าที่เพิ่มโดยไม่รู้ตัว ทำให้อาจส่งผลต่อเรื่องของค่าบริการที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการทำเวอร์ชวลแบงก์ ทางกลุ่มทรูมองถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรเป็นหลัก ไม่ได้มีแผนที่จะเข้าไปทำตลาดเอง และอยู่ในระหว่างการศึกษาถึงรูปแบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้ กลุ่มทรูจะมีการพัฒนาโครงข่ายให้ทันสมัย (Network Modernization) ให้ครอบคลุมมากขึ้น จาก 2,400 เสาทั่วประเทศในปีที่ผ่านมาเป็น 10,000 เสาในปีนี้
รวมถึงการต่อยอดศูนย์ปฏิบัติการเครือข่าย AI อัจฉริยะ นำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึก คาดการณ์ และวางแผนการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องการขยายเครือข่ายและเพิ่มสัญญาณแบบเจาะลึกเฉพาะพื้นที่ทั่วประเทศ และการให้บริการลูกค้าด้วยการมีปฏิสัมพันธ์แบบเฉพาะบุคคล (Hyper-personalize Services) มาใช้งาน
นอกจากนี้ ยังยกระดับผู้ช่วยอัจฉริยะ Mari AI เวอร์ชันใหม่ ที่จะเปิดตัวในไตรมาส 2 ซึ่งจะสามารถให้ข้อมูล และแนะนำบริการได้อย่างรวดเร็วแบบอัตโนมัติ รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นหนึ่งเดียว (One Application) ที่จะครอบคลุมทั้งข้อมูลและบริการหลังการขายต่างๆ
ในส่วนของบริการดิจิทัล กลุ่มทรูเริ่มเปลี่ยนการสื่อสารบนมือถือสู่การเติมเต็มไลฟ์สไตล์ (Mobile to Lifestyle) ผ่าน TrueID เปลี่ยนบรอดแบนด์สู่การเติมเต็มชีวิตอัจฉริยะในบ้าน (Broadband to Smart Living) จาก True X และเปลี่ยนระบบทีวีแบบเดิมๆ เป็นสตรีมมิง (Linear TV to Streaming)
ขณะที่ภาคขององค์กรธุรกิจ จะมุ่งเน้นการเข้าไปช่วยทรานส์ฟอร์มด้วยโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจร โดยผสานเทคโนโลยี AI, Machine Learning (ML) และ IoT ในการมเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ศูนย์กลาง เพื่อจัดเก็บและนำไปใช้วิเคราะห์เชิงลึก (Data Analytics)
โดยจะมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร โรงงาน ธุรกิจค้าปลีก และที่พักอาศัย พร้อมตั้งเป้ารายได้จากบริการดิจิทัลโซลูชันเติบโตเป็น 2 เท่า ภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยรูปแบบโมเดลธุรกิจในการดำเนินการและบริการแบบใหม่ อย่างการให้บริการด้านต่างๆ ผ่านคลาวด์คอมพิวติ้ง (Everything-as-a-Service) และแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะ (Intelligent Data Platform)
ส่วนในมุมของสิ่งแวดล้อม กลุ่มทรูต้องเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสิ่งแวดล้อมในไทย และของโลก ซึ่งการรวมเสาจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อน รวมถึงการนำ AI มาช่วยดูแลการใช้งานเครือข่าย ทำให้สามารถปรับลดการใช้พลังงาน ทำให้ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น บนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030 และคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กลุ่มทรู มีการเปิดเผยว่าจะสามารถกลับมาทำกำไรได้ภายในปีนี้ พร้อมกับประกาศงบลงทุนไว้ที่ 30,000 ล้านบาท และคาดว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโตราว 3-4%