ล้ำได้อีก! กสทช. จับมือโอเปอเรเตอร์ พัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast Service ข้อความเด้งเตือนเหตุภัยพิบัติ-ความรุนแรงไม่คาดฝัน แบบเรียลไทม์ คาดใช้ได้ภายในปี 67 งบกว่า 1,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 5 มี.ค.67 ที่สำนักงาน กสทช. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) ร่วมกับเอไอเอส แถลงข่าวความสำเร็จในการพัฒนาระบบเตือนภัยจากภาครัฐแบบเจาะจงพื้นที่ (Cell Broadcast Service) ผ่านมือถือ โดยเปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์รุนแรงไม่คาดคิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าพารากอน รวมถึงเหตุกราดยิงในห้างเทอร์มินอล 21 โคราช จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ ด้วยระบบ Cell Broadcast Service โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (กองทุน USO)
สำหรับโครงสร้างของ Cell Broadcast Service ที่นำมาใช้งาน มี 2 ฝั่ง แบ่งเป็น
ฝั่งที่ 1: ดำเนินการและดูแลโดยศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชันต่างๆ เช่น การบริหารจัดการระบบ (Administrator) การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator) และการอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาลว่า จะมอบหมายหน่วยงานใดเป็นศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ (Command Center) คาดว่าภายใน 3 เดือนจะมีความชัดเจน โดยกระทรวงดีอียื่นขอรับการสนับสนุนจากกองทุน USO จำนวน 400 ล้านบาท เพื่อจัดทำ และมีการออกกฎหมายมารองรับ โดยกระทรวงดีอีอาจจะออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
ฝั่งที่ 2: ดำเนินการและดูแลโดยผู้ให้บริการโครงข่ายผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration) การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และการบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management) ซึ่งส่วนนี้ กสทช. เป็นผู้วางโครงสร้างหลักทางวิศวกรรมเพื่อให้พร้อมใช้งาน ซึ่งตอนนี้พร้อมแล้ว และถูกบรรจุเป็นวาระเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบกรอบเงินลงทุนของโอเปอเรเตอร์ทั้ง 2 ราย ซึ่งเบื้องต้นยื่นขอรับการสนับสนุนมารายละ 400 ล้านบาท และจะเลือกหักจากจำนวนเงินที่โอเปอเรเตอร์ส่งเข้ากองทุน USO หรือจะหักตอนช่วงปลายปี
"หลังจากนี้ต้องดูว่าหน่วยงานใดจะเป็นศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ เหตุการณ์ไหนบ้างที่ต้องใช้ระบบเตือนภัยฉุกเฉินนี้ และหลังจากแจ้งเตือนแล้วจะนำไปสู่อะไร ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และต้องทำอย่างไรบ้าง ตอนนี้ กสทช. ขอความร่วมมือไปยังโอเปอเรเตอร์ทุกรายให้มีระบบเตือนภัยดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าโอเปอเรเตอร์ทุกรายอยากทำ เพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย และมีความที่จำเป็น ซึ่งคาดว่าระบบ Cell Broadcast จะสามารถใช้งานได้ภายในปี 67 นี้" ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าว
ด้าน นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือด้วยระบบ Cell Broadcast เป็นไปตามมาตรฐานโลก ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ก็เลือกใช้ โดยระบบดังกล่าวจะเป็นการส่งข้อความเตือนภัยแบบส่งตรงจากเสาส่ง สัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังมือถือทุกเครื่องในบริเวณนั้น แตกต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เพราะไม่จำเป็นต้องใช้หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารข้อมูลเตือนภัยทำได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งพื้นที่เกิดเหตุ โดยประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ
"เทคโนโลยี Cell Broadcast Service เป็นระบบเตือนภัยของประเทศตามมาตรฐานสากล เหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังมือถือทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้นๆ ในเวลาเดียวกัน ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้ สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที โดยล่าสุดได้ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว ได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป" นายวรุณเทพ กล่าว
ขณะที่ นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินในห้องทดลองเป็นผลสำเร็จ ตั้งแต่เมิ่อวันที่ 15 ม.ค.67 โดยระบบนี้ช่วยให้ผู้ใช้มือถือในเครือข่ายทรูและดีแทคได้รับข้อมูลภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินทันที โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติม และสามารถแจ้งเตือนผ่านข้อความและสัญญาณเสียงได้ทุกที่ทั่วประเทศ โดยระบบมีฟังก์ชันการเตือน 5 ระดับ ครอบคลุมตั้งแต่การแจ้งเตือนระดับชาติ เหตุฉุกเฉิน เด็กหาย ความปลอดภัยสาธารณะ จนถึงการแจ้งเตือนทดสอบ สร้างความมั่นใจให้ประชาชนในการรับรู้ข้อมูลสำคัญอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับหน่วยงานรัฐเพื่อนำไปใช้งานจริง โดยมีการรองรับการแจ้งเตือนหลายภาษา ทั้งไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ซึ่งเป็นการยกระดับความปลอดภัย และการตอบสนองฉุกเฉินให้สังคมไทยอย่างมีประสิทธิภาพ