xs
xsm
sm
md
lg

'ดีอี' กางแผนปี 67 ชู 7 เรือธง ยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



'ดีอี' ตั้งเป้าปั้น 'รัฐบาลดิจิทัล' สำเร็จใน 5 ปี กางแผนปี 67 ชู 7 เรือธง ยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงแนวทางหลักของกระทรวงในปี 67 ที่ประกอบด้วย 7 Flagships หลักเพื่อพัฒนาและยกระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศ ประกอบด้วย

1.Cloud First Policy เพื่อเป็น Cloud Hub ของภูมิภาค โดยให้บริการคลาวด์สำหรับพัฒนาบริการประชาชน ไม่น้อยกว่า 220 กรม 75,000 VM ช่วยประหยัดงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานได้ 30-50% อีกทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ประโยชน์จาก Big Data และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านคลาวด์ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ภายใต้งบประมาณ 1,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ เบื้องต้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการแล้ว และมีคำสั่งให้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเป็นประธาน และประกอบด้วยปลัดแต่ละกระทรวง ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำสั่งดำเนินการต่อไป

2.AI Agenda พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI รวมถึงแพลตฟอร์มบริการ AI แห่งชาติบนระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) สร้างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์สำหรับภาษาไทย (Thai LLM) ซึ่งคาดว่าจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ในปีนี้ รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านจริยธรรม/กฎหมาย/สังคมเพื่อพัฒนาทักษะ AI จัด Hackathon และการอบรมทักษะ AI และเร่งใช้ AI ในรัฐและเอกชน เช่น พยากรณ์อากาศ และแผนที่เสี่ยงภัยจากฝนตกหนัก ให้มีความแม่นยำเพิ่มขึ้นเกิน 90% ภายใต้งบประมาณ 16 ล้านบาท

3.1 อำเภอ 1 IT Man ในงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างนำเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ในเดือน ก.ย.67 แบ่งเป็น โครงการ IT Man 878 อำเภอ ตั้งเป้าอำเภอละ 2 คน เพิ่มศูนย์ดิจิทัลชุมชน 2,222 ศูนย์ และติดตั้งอินเทอร์เน็ตสาธารณะ 24,654 หมู่บ้าน สภาเยาวชนดิจิทัล และชุมชนโดรนใจกว่า 500 ชุมชน

4.Digital Manpower พัฒนากำลังคนดิจิทัล โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานผ่าน Digital ID และแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูล ดึงดูดด้วย Global Digital Talent Visa ร่วมมือกับเอกชนเพิ่มกำลังคน 50,000 คน และขยายความรู้ดิจิทัลผ่านอาสาสมัครกับสภาเยาวชนดิจิทัล

5.พัฒนา Cell Broadcast โดยมีระบบแจ้งเตือนภัยทุกประเภทแบบเจาะจงสำหรับคนไทย เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน แต่เนื่องจากงบประมาณปี 67 มีความล่าช้า กระทรวงจึงขอความช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งกระบวนการนี้ได้เริ่มต้นไปบ้างแล้วด้วยเป้าหมายให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมที่ต้องการเวลาในการดำเนินการ นอกจากหน่วยงานรัฐ โอเปอร์เรเตอร์ต่างๆ เช่น AIS, True, Dtac, และ NT ก็มีส่วนร่วม โดยทำงานร่วมกันเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินงาน

6.แก้ปัญหาภัยออนไลน์ โดยการยกระดับ ศูนย์ AOC 1441 ใช้ AI ตรวจจับบัญชีม้า และแอปพลิเคชันแจ้งเตือนหมายเลขโทรศัพท์เสี่ยง ศูนย์ PDPC Eagle Eye ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล และป้องกันการรั่วไหล นโยบายเปิดก่อนจ่ายเพื่อแก้ปัญหาซื้อของออนไลน์ เก็บเงินปลายทางหากสินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณา ไซเบอร์วัคซีนช่วยให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์

7.ตั้งเป้าหมายยกระดับความสามารถแข่งขันดิจิทัลให้เข้าถึงอันดับ 30 ภายในปี 69 จากที่เคยอยู่ที่ 40 ในปี 65 โดยในปี 67 สามารถปรับปรุงได้ถึงอันดับ 33 จาก 35 ในปีก่อนหน้า ตามการจัดอันดับของ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ในรายงาน IMD World Digital Competitiveness Ranking ปี 66

"การพัฒนาเป็นรัฐบาลดิจิทัลในไทยมุ่งเสร็จสิ้นภายใน 5 ปี ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อ ทั้งนี้ ต่างประเทศอย่างเอสโตเนียใช้เวลา 12 ปี (2552-2564) ส่วนของไทยมีโครงการหลักคือไทยแลนด์ซูเปอร์แอป (Super App) ให้มีผู้ใช้งานอย่างน้อย 55 ล้านคน พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร.หรือ DGA นอกจากนี้ ยังผลักดันให้หน่วยงานรัฐทำงานแบบไร้กระดาษ ซึ่งกระทรวงต่างๆ กำลังปรับปรุงระบบงานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะเสร็จสิ้นใน 2 ปี นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลของประชาชน (Open Data) ก็สำคัญ เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ และการให้บริการข้อมูลอย่างเปิดเผย เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบการปกครองไปสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ" นายประเสริฐ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น