xs
xsm
sm
md
lg

ผลักดัน "Cloud First" ภาครัฐยุคดิจิทัลบน GDCC (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การยกระดับนโยบายของรัฐบาลดิจิทัล สู่ Cloud First หรือการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก ทำให้กระทรวงดีอีรับบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์กลางภาครัฐ เพื่อให้รองรับปริมาณการใช้งานของหน่วยงานต่างๆ

โดยที่ปัจจุบันหลังจากผ่านระยะเวลาของการวางโครงสร้าง และสร้างการมีส่วนร่วม ในปีนี้ถือเป็นช่วงที่หลายหน่วยงานเริ่มเข้ามาใช้งาน GDCC ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้นกว่า 800 หน่วยงาน มีระบบงานต่างๆ ของรัฐที่เข้ามาใช้มากกว่า 3,000 ระบบ เพียงแต่ด้วยงบประมาณที่ถูกจัดสรรมาทำให้ยังมีข้อจำกัด ไม่สามารถรองรับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดสำคัญที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการมาของเทคโนโลยีที่ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก และมีนวัตกรรมเกิดขึ้นทุกวัน

“นโยบายคลาวด์เป็นหลักจะช่วยให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายลดลง และมีประโยชน์ในการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ-เอกชน โดยที่มี สดช.และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ”

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
ในการต่อยอดระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) หลังจากที่วางโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ และมีความต้องการเข้าใช้งานในระดับที่น่าพึงพอใจ เริ่มเห็นการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งในแผนของการนำประเทศไทยก้าวเข้าสู่ภูมิทัศน์การพัฒนาดิจิทัลระยะที่ 3 (Full Digital Transformation) ในปี 2570

“ดีอีมีความมั่นใจว่าในปี 2570 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นให้ได้ ภายใต้การแสดงให้เห็นความสำคัญของนโยบายนี้ ถ้ามีการนำทุกหน่วยงานมารวมศูนย์กันทุกสิ่งทุกอย่าง จะช่วยลดภาระงบประมาณลง และให้ความมั่นใจในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยด้วย”

การที่ก้าวไปสู่รัฐบาลดิจิทัลจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของความโปร่งใสในการให้บริการแบบ One Stop Service มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และลดค่าใช้จ่ายทั้งในเรื่องของการลงทุนและการดูแลรักษาของแต่ละหน่วยงานลง

ปัจจุบัน GDCC กำลังอยู่ในช่วงการยกระดับบริการ จากในช่วงเริ่มต้นให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure as a Service : IaaS) ที่บริการเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเสมือน (Virtual Machine : VM) ไปสู่การให้บริการแพลตฟอร์ม (Platform as a Service : PaaS) และซอฟต์แวร์ (Software as a Service : SaaS) เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนในหน่วยงานภาครัฐ

ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การที่เริ่มให้บริการ VM ที่เปลี่ยนจากการใช้คอมพิวเตอร์ประมวลผลที่เครื่องลูกข่าย มาเป็นการใช้การประมวลผลบนคลาวด์ของ NT ทำให้แต่ละหน่วยงานสามารถจัดสรร และบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรได้มากขึ้น

“การที่หน่วยงานรัฐหันมาใช้งาน GDCC จะช่วยลดงบประมาณที่แต่ละหน่วยงานใช้สำหรับการบำรุงรักษาระบบ ค่าใช้จ่ายบุคลากรที่จะมาดูแลระบบ รวมถึงลิขสิทธิ์ในการใช้งานซอฟต์แวร์ต่างๆ ลง โดยมีการประเมินอยู่ที่ราว 30-40%”


ทั้งนี้ ข้อจำกัดสำคัญของ สดช.ที่เกิดขึ้นเวลานี้คืองบประมาณไม่เพียงพอที่จะลงทุนขยายระบบให้รองรับการใช้งาน โดยก่อนหน้านี้ได้ของบประมาณไปราว 2,200 ล้านบาท เพื่อรองรับการทำงาน 35,000 ระบบงาน จากความต้องการใช้งานของหน่วยงานรัฐประมาณ 50,000 ระบบงาน แต่ได้รับการจัดสรรมาประมาณ 1,100 ล้านบาทเท่านั้นทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการของทุกหน่วยงานได้

ทำให้เป้าหมายในระยะสั้นคือการเพิ่มปริมาณการใช้งานระบบของหน่วยงานรัฐขึ้นมาเป็น 30,000-40,000 ระบบงานก่อน ซึ่งถ้าเทียบจากปริมาณความต้องการใช้งานของหน่วยงานรัฐ และเอกชน สูงถึง 800,000 ระบบงาน ทำให้ที่ผ่านมากระทรวงดีอี ได้ลงนามกับเอกชนหลายหน่วยงานเพื่อสร้างระบบให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในอนาคต

ขณะเดียวกัน การยกระดับสู่การให้บริการแพลตฟอร์ม (PaaS) จะช่วยลดงบลงทุนในการพัฒนาระบบที่ปัจจุบันมีความซ้ำซ้อน อย่างเช่นในเรื่องของระบบยืนยันตัวตน หรือการทำงานแบบไร้กระดาษ (Paperless) ที่ปัจจุบันหลายหน่วยงานแยกกันพัฒนา ถ้าสุดท้ายแล้วทุกหน่วยงานเข้ามาใช้ GDCC ก็จะลดงบประมาณในการพัฒนาลง เปลี่ยนเป็นการเลือกนำระบบที่มีอยู่ในมาร์เก็ตเพลสไปประยุกต์ใช้ในแต่ละหน่วยงานแทน


รมว.ดีอี กล่าวต่อว่า ถ้าทุกหน่วยงานมุ่งเป้าสู่ Cloud First จะใช้งบประมาณไม่ถึง 100 ล้านบาท ทำให้ทุกหน่วยงานสามารถทำงานแบบไร้กระดาษ รวมถึงการแก้ไขปัญหาในเรื่องของความปลอดภัยไซเบอร์ ที่ปัจจุบันหลายเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการมีการติดลิงก์พนัน เนื่องจากไม่ได้ดูแลให้ดีพอ ถ้าย้ายมาใช้งาน GDCC ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เพราะมีหน่วยงานกลางมาช่วยดูแล

“สิ่งที่ดีอีต้องทำตอนนี้คือบูรณาการงานด้วยการสื่อสารไปยังกระทรวงอื่นๆ เพราะการวางแผนในอนาคตเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัลจะต้องมีความแม่นยำและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นให้ได้ภายใต้การทำงานของรัฐบาลยุคนี้”

อย่างไรก็ตาม ภาระความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของ NT ในการเป็นหน่วยงานด้านโทรคมนาคมดิจิทัลภาครัฐ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์กลางภาครัฐด้วยการนำจุดแข็งที่จะเชื่อมโยงทั้งโครงข่ายระหว่างประเทศทั่วโลก และดาต้าเซ็นเตอร์ 13 แห่งในประเทศสอดคล้องกับการเข้ามาลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ของภาคเอกชนระดับโลก ที่มีแผนเข้ามาลงทุนในไทยทั้ง AWS Google Microsoft ที่จะผลักดันให้ไทยกลายเป็นฐานดาต้าเซ็นเตอร์ของภูมิภาค 

นอกจากนี้ ยังเข้าไปส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย จากผู้ให้บริการคลาวด์ทั้ง INET และ NIPA ให้รองรับการการขยายตัวของการใช้งานคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นเพราะยิ่งมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น ราคาค่าใช้จ่ายก็จะถูกลงด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น