กระทรวงดีอีเปิดผลงาน 90 วัน ในการดำเนินการ 9 เรื่องใหญ่ ทั้งการตั้งศูนย์ AOC 1441 และจัดการปัญหาซิมม้า ลดผลกระทบแก่พี่น้องประชาชน พร้อมสนับสนุนการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลทั้งดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ฝึกทักษะบุคลากร และส่งเสริมสตาร์ทอัป และ SMEs ให้เข้าถึงบริการดิจิทัล
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดีอีได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้ทำงานอย่างหนักในการดูแลพี่น้องประชาชน และขับเคลื่อนองค์กร เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ตาม 90 วัน 9 ผลงาน ประกอบด้วย
1.จัดตั้งศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ตั้งแต่ 1 พ.ย.66 ที่ผ่านมา มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างธนาคาร กสทช. ตำรวจ โอเปอเรเตอร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับเรื่องร้อง 79,997 ราย สามารถระงับบัญชี 7996 บัญชี ใช้ระยะเวลาระงับบัญชีเฉลี่ย 15 นาที และมีการจับกุมอาชญากรแล้ว 389 ราย
“AOC 1441 ถือเป็นผลงานที่เข้าไปแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้ รวมถึงการปิดซิมม้าที่จะเห็นการลดลงของการโทรศัพท์อย่างมีนัย และเชื่อว่าหลังจากนี้การก่อกวนต่างๆ จะลดลง”
2.ปิดกั้นเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 25,601 เว็บไซต์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 10 เท่า โดยถ้านับเฉพาะเว็บพนันออนไลน์สามารถปิดกั้นได้เพิ่มขึ้นกว่า 4,592 เว็บไซต์ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 17.5 เท่า
3.การแก้ไขปัญหาการซื้อขายข้อมูลและการหลุดรั่วของข้อมูลประชาชน ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังข้อมูลส่วนบุคคลให้หน่วยงานที่มีความต้องสงสัยได้ประสานงานเข้ามาตรวจสอบ 15,320 หน่วยงาน มีหน่วยงานที่มีข้อมูลรั่ว 4,593 เรื่อง และได้ดำเนินการแก้ไขทั้งหมดแล้ว ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ตรวจสอบช่องโหว่เว็บไซต์หน่วยงานรัฐ และปิดกั้นทั้งหมดแล้ว
4.การแก้ไขปัญหาซิมม้า ที่มีการดำเนินการด้วยมาตรการเชิงรุก ทั้งการลงทะเบียนถือครองซิมมากกว่า 5 เลขหมาย มีการเร่งตรวจสอบเบอร์ต้องสงสัยที่โทร.เกิน 100 สายต่อวัน ขยายผลการดำเนินคดี รวมถึงให้โอเปอเรเตอร์มีการแจ้งข้อมูลเลขหมายที่มีการโทร.ผิดปกติ จนถึงการตรวจสอบเสาสัญญาณที่ไม่ได้รับอนุญาต
5.ดึงการลงทุน และการพัฒนาทักษะบุคลากรทางด้านคลาวด์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค และทำให้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 300,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งการตั้งศูนย์เพื่อพัฒนาบุคลากรไทยด้าน AI & Cloud ร่วมกับ HUAWEI การศึกษาแนวทางการใช้ Generative AI จาก Google Cloud และการผลักดันรัฐบาลดิจิทัล ในการนำ AI มาใช้งานร่วมกับ Microsoft
6.ชุมชนโดรนใจ ในการสร้างศูนย์ซ่อม 50 ศูนย์ทั่วประเทศใน 500 ชุมชน พร้อมเปิดศูนย์สอบขอใบอนุญาตการบินโดรน 5 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้ความตั้งใจในการเข้าไปเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาสให้เกษตรกร ซึ่งถ้าทำครบ 4 ล้านไร่ จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาท
7.ดึงกำลังคนที่มีทักษะจากต่างประเทศ ผ่าน Global Digital Talent เนื่องจากกำลังคนดิจิทัลในไทยขาดแคลน ทางดีป้าได้จัดทำแนวทางการดึงดูดกำลังคนดิจิทัลสาขาขาดแคลนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย (Global Digital Talent Visa) โดยอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ตามมาตรา 4 (12) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548
8.การสนับสนุนสตาร์ทอัป และ SMEs สำหรับบัญชีบริการดิจิทัล และมาตรการทางภาษี ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการใช้งานบริการบัญชีดิจิทัล ที่ผ่านมาตรฐาน dSURE ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 132 รายการ จาก 13 ผู้ประกอบการดิจิทัลไทย จนถึงการผลักดันมาตรการภาษีส่งเสริม SMEs ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Tax 200%
9.ยกระดับ Thailand Digital Competitiveness Ranking ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ที่ปัจจุบันอยู่ในลำดับ 35 และมีเป้าหมายที่จะขึ้นไปเป็นอันดับที่ 30 ของโลกภายในปี 2569 และขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียน
“สำหรับเป้าหมายของการดำเนินงานในปี 2567 จะมุ่งเน้นที่การลดมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ประชาชน ที่จะดำเนินการอย่างเข้มข้น เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมาแม้ตัวเลขคดีจะลดลง แต่กลายเป็นว่ามูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้น ทำให้ทางกระทรวงต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานี้ต่อไป”