xs
xsm
sm
md
lg

‘ETDA’ โชว์แผนปี 67 กดดัน ‘แพลตฟอร์มดิจิทัล’ แจ้ง DPS แลกเครื่องหมายการันตีความเชื่อถือ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘ETDA’ เตรียมออกเครื่องหมายรับแจ้ง ‘ETDA DPS Notified’ การันตีความน่าเชื่อถือบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ดี๊ด๊า! ครึ่งปีแรกแจ้ง DPS แล้ว 1,168 แพลตฟอร์ม

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกรรมออนไลน์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสังคมดิจิทัลที่มั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวถึง 4 เป้าหมายสำคัญของ ETDA ในการทำงานปี 2567 ประกอบด้วย 1.การส่งเสริมให้เกิดการใช้งานดิจิทัลไอดี (Digital ID) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐและภาคเอกชนได้ง่ายขึ้น โดยมีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน มีความตั้งใจจะเห็นการใช้งานอย่างแพร่หลาย เพื่อเสริมสร้างการเข้าถึงบริการดิจิทัลที่หลากหลาย และเพิ่มประสิทธิภาพ 2.สนับสนุนให้คนไทยใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความบันเทิงหรือการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิผล เพื่อกระตุ้นการแข่งขันที่เป็นธรรมและโปร่งใสในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล

3.การใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเป็นที่นิยมและถูกใช้งานกันอย่างกว้างขวาง การดูแลเรื่องธรรมาภิบาล และการใช้งานที่มีความรับผิดชอบจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผู้ใช้งานมีความมั่นใจว่า ข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด และป้องกันไม่ให้เกิดการถูกหลอกลวงจากการใช้งาน AI ในแบบที่ไม่เหมาะสม และ 4.พาคนไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เสริมสร้างความสามารถของประชาชนในการใช้เทคโนโลยี ไม่เพียงแต่เพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ยังรวมถึงการปรับใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นในการดำเนินธุรกิจ สร้างโอกาสใหม่ๆ และส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย




***ยกบทบาทดูแล ‘ธุรกิจบริการดิจิทัล’

ที่สำคัญ ‘ETDA’ ยังได้ก้าวขึ้นเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบภายใต้กฎหมาย Digital ID และ DPS (Digital Platform Service) เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการในประเทศไทยทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย เนื่องจากมีแพลตฟอร์มจำนวนมากและหลากหลายโดยที่การให้บริการในรูปแบบดิจิทัลเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ที่ต้องการการบริหารจัดการที่ดี ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อวางกลยุทธ์ให้รอบคอบ รัดกุมมากเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม ETDA และทีมงานจึงให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มสัญชาติไทยถือเป็นตัวเต็งในการจดแจ้ง ‘DPS’ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ส.ค.66 ถึงวันที่ 8 ก.พ.67 มีจำนวนธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งไทยและต่างชาติ แจ้งการประกอบธุรกิจมาแล้วถึง 1,168 แพลตฟอร์ม เป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทยมากถึง 94.46% ส่วนแพลตฟอร์มต่างชาติที่แจ้งมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน

โดยธุรกิจที่ได้แจ้งการประกอบการมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มบริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) จำนวน 302 แพลตฟอร์ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบริการอาหาร การสั่งซื้อสินค้า การเดินทางและการให้บริการทั่วไป ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาและให้บริการที่สะดวกสบายแก่ผู้ใช้ เช่น foodpanda, panda rider, Grab, Lazada, LINE SHOPPING, ช้อปปี้, Robinhood, ชอบช้อป Shobshop, Taobao, Cafe Amazon, AEON THAI MOBILE, LALAMOVE, AliExpress, Agoda, Traveloka (ทราเวลโลก้า), Alibaba.com, iOS App Store, Galaxy Store

ถัดมากลุ่มบริการสื่อสารออนไลน์ (online communication) จำนวน 199 แพลตฟอร์ม เช่น LINE Official Account, LINE OpenChat, LINE Messenger, WhatsApp, WeChat, cheewajit.com, amarinbabyandkids.com, praew.com, Baanlaesuan.com, sudsapda.com, ทีมส์ (ผู้บริโภค), สไกป์ ผู้บริโภค, เว็บไซต์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, stock2morrow, บริการอิเล็กทรอนิกส์ สมอ., AUDITION, e-Tax Invoice & e-Receipt by OEB สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ สํานักงาน กสทช.

และบริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator) จำนวน 78 แพลตฟอร์ม เช่น Commart Website, Dek-D.COM, PPTV HD36, Google News, LINE TODAY, สำนักข่าวไทย, NineEntertain / 9entertain, ไมโครซอฟต์ สตาร์ท, Techsauce, WISESIGHT TREND, ZOCIAL EYE, Thai PBS, คิดเรื่องอยู่ (Think of Living), Techhub Website, newswit.com, เว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม, เว็บไซต์สํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย, ARIP Website iqnewsclip, Central Life X, CredenData, Mandala Al., AR Website, ทริปไนซ์เดย์ เป็นต้น

***ออกโปรแรงหนุนแพลตฟอร์มให้ข้อมูล


จิตสถา ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ก้าวต่อไป ETDA ต้องยกระดับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้โปร่งใส เป็นธรรม โดยสร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้แพลตฟอร์มที่แจ้งข้อมูลแล้วยื่นรายงานประจำปีเพื่ออัปเดตข้อมูล เช่น รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในไทย จำนวนและประเภทผู้ใช้บริการ อีกทั้งการแจ้งข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ (Terms & Conditions: T&C) ให้ผู้ใช้บริการทราบ ในกรณีแพลตฟอร์มที่มีลักษณะตามมาตรา 16 ที่คิดค่าบริการ หรือเป็นสื่อกลางในการเสนอสินค้า หรือบริการ หรือบริการ Search engine ซึ่งทั้งในส่วนรายงานประจำปีและการแจ้ง T&C ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 ก.พ.67 และเร่งให้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายต้องแจ้งและแพลตฟอร์มรายย่อย ดำเนินการแจ้งข้อมูลภายในเวลาที่กำหนดหรือภายในเดือน ส.ค.67

***เตรียมผุดเครื่องหมายให้ผู้ใช้บริการอุ่นใจ

นอกจากนี้ ETDA ยังเตรียมออกเครื่องหมายรับแจ้ง DPS หรือ ETDA DPS Notified สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ที่มีลักษณะตามมาตรา 8 วรรคหนึ่งโดยมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท (กรณีนิติบุคคล) หรือมีผู้ใช้งานเกิน 5,000 คนต่อเดือน (โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด) เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มกลุ่มใหญ่ที่ให้บริการทั่วไป อาจเข้าข่ายแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยงสูง และกระทบต่อผู้ใช้งานในวงกว้างได้

โดยเครื่องหมายรับแจ้ง DPS จะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ ซึ่งแพลตฟอร์มทั่วไปที่ยื่นแจ้งข้อมูลและผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว จะได้รับอนุมัติให้ดาวน์โหลดเครื่องหมาย เพื่อนำไปแสดงบนแพลตฟอร์มของตนเองตามวิธีและเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้ผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม พ่อค้าแม่ค้า ไรเดอร์ ตลอดจนผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ ยืนยันตัวตน เมื่อเกิดเหตุหรือปัญหา มีมาตรการบรรเทาความเสียหาย และชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ดังนั้น ก่อนใช้บริการให้สังเกตเครื่องหมาย ETDA DPS Notified บนแพลตฟอร์ม และอย่าลืมคลิกเข้าไปที่เครื่องหมายดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อมูล รายละเอียดที่สำคัญๆ ของแพลตฟอร์ม เช่น ชื่อบริการ ลักษณะบริการ สถานการณ์ให้บริการ และช่องทางติดต่อ

ส่วนแพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กที่แจ้งข้อมูลแบบย่อ และไม่ได้รับเครื่องหมาย แต่ต้องการแสดงให้ผู้ใช้บริการทราบว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีแนวปฏิบัติการให้บริการสอดคล้องกับกฎหมาย DPS สามารถนำใบรับแจ้งที่ได้จาก ETDA ไปสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้บริการได้เช่นกัน

ส่วนแพลตฟอร์มที่แจ้งมากว่า 1,000 รายนี้ แพลตฟอร์มไหนบ้างที่เข้าข่ายแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (ตามมาตรา 18) ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือรวมทุกประเภทเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย (AMAU) เกิน 10% ของจำนวนประชากร รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยง และมีผลกระทบในระดับสูง ที่จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติมนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำร่างประกาศรายชื่อดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 67


กำลังโหลดความคิดเห็น