จากจุดเริ่มต้นในการเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น เพื่อสาระ ความรู้ และความบันเทิงที่เปิดทางให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถเป็นครีเอเตอร์ได้ TikTok กำลังมีการปรับบทบาทครั้งสำคัญที่จะผลักดันให้ครีเอเตอร์สามารถสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มนี้จากหลากหลายทิศทางมากขึ้น
โดยเฉพาะการเปิด TikTok Shop ที่ปัจจุบันกลายเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่กระโดดเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ซึ่งคาดการณ์มูลค่าตลาดนี้ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 9.8 แสนล้านบาท ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่สอดแทรกขึ้นมาท่ามกลางคู่แข่งรายใหญ่ที่ครองตลาดอย่าง Shopee และ Lazada ในไทย
ในยุคแรกของ TikTok โอกาสในการหารายได้ของบรรดาครีเอเตอร์จะเป็นรายได้จากภายนอกแพลตฟอร์ม จากบรรดาแบรนด์ที่เข้าไปสนับสนุน หรือสปอนเซอร์ในการทำคลิปต่างๆ ก่อนที่จะเข้ามาสู่ยุคของ TikTok Business ที่ตัวแพลตฟอร์มเริ่มกลายเป็นเอเยนซี ดูแลครีเอเตอร์ในแพลตฟอร์มผ่าน Creator Marketplace ส่งลิสต์รายชื่อ หรือกลุ่มครีเอเตอร์ที่มีศักยภาพไปให้บรรดาแบรนด์ติดต่อเข้าไปเลือกใช้งาน
ทำให้การสร้างรายได้ของครีเอเตอร์ในยุคเริ่มต้นของ TikTok ย้อนไป 6 ปีที่ผ่านมา จะมาจากรายได้ที่เกิดขึ้นนอกแพลตฟอร์ม จากการจ้างงานโฆษณา ดึงความโดดเด่นของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ คลิปวิดีโอสั้นมาใช้งาน ซึ่งนับเป็นแนวทางที่แตกต่างจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีโอรายหลักในตลาดที่จะมีท่าพื้นฐานคือการแบ่งส่วนแบ่งรายได้จากวิดีโอโฆษณาที่ขึ้นระหว่างคลิปให้แก่ผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์
ทิศทางใหม่ในการสร้างรายได้ให้ครีเอเตอร์ของ TikTok เริ่มชัดเจนมากขึ้น หลังจากเริ่มให้บริการ TikTok Shop ในไทย ด้วยการเปิดให้ครีเอเตอร์ที่มีชื่อเสียงสามารถเป็นผู้ค้า หรือผู้แนะนำสินค้า เพื่อรับส่วนแบ่งรายได้จากร้านค้าเพิ่มเติมได้ ทำให้เกิดธุรกิจแนวใหม่ อย่างการแปะลิงก์แนะนำให้ไปซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์ม (Affiliate Link)
การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบนครีเอเตอร์ TikTok เท่านั้น เพราะถือเป็นรูปแบบการทำตลาดที่ต่อยอดมาจากทั้ง Lazada และ Shopee รวมถึง LINE Shop ที่ปัจจุบัน เปิดทางให้ผู้ที่มีคนติดตามในโซเชียล สามารถเข้าร่วมโปรแกรมสร้างรายได้จากการแนะนำให้ลูกค้าไปซื้อสินค้าได้อยู่แล้ว และนับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่การไลฟ์ขายสินค้ากำลังเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการขายบนอีคอมเมิร์ซ จากที่ก่อนหน้านี้จะเป็นการไลฟ์ขายบนโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นหลัก
อีโคซิสเต็มที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์เวลานี้ คือการเจอกันของ 3 ฝ่าย ได้แก่ เจ้าของสินค้า (ร้านค้า) ครีเอเตอร์ และผู้ซื้อ ซึ่งเจ้าของสินค้าสามารถทำตลาดด้วยตัวเองก็ได้ หรือจะเลือกให้ครีเอเตอร์ช่วยโปรโมตสินค้าเพิ่มเติม เพื่อเข้าถึงฐานผู้ชม กระตุ้นให้เกิดการซื้ออย่างต่อเนื่อง วนลูปไปเรื่อยๆ
ที่กลายเป็นว่าปัจจุบัน แพลตฟอร์ม TikTok กำลังสร้างประสบการณ์ชอปปิ้งผสมผสานความบันเทิงในลักษณะของ Shoppertainment ที่ผู้ชมมีส่วนร่วมกับการซื้อขาย โดยในปีที่ผ่านมา #TikTokป้ายยา มียอดวิวสูงถึง 6.7 พันล้านครั้ง และจากผลสำรวจพฤติกรรมซื้อสินค้าของผู้บริโภคยังระบุว่า 70% ตัดสินใจซื้อจากความไว้วางใจในคอนเทนต์ที่รับชมบน TikTok
***เปิดโอกาสครีเอเตอร์ไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยการที่เป็นเพียงแพลตฟอร์ม ทำให้ TikTok ไม่สามารถขับเคลื่อนทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ที่ผ่านมาจึงได้เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจในท้องถิ่น ให้สามารถเข้าถึงดิจิทัลได้
“ด้วยแนวคิดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่าน TikTok for Smart Economy, Smart People, and Smart Environment ช่วยให้ทุกคนสามารถแบ่งปันเรื่องราวผ่านความคิดสร้างสรรค์ และเป็นแรงบันดาลใจผ่านแคมเปญที่หลากหลายครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความยั่งยืน”
โดยเฉพาะในการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะดิจิทัล ที่ TikTok เข้าไปทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร (BMA) เพื่อให้ความรู้กับคอมมูนิตีผู้ใช้งานในไทย หรือเข้าไปร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น (OTOP) จำนวน 532 แห่งทั่วประเทศในเฟสแรก โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเป็นมากกว่า 1,000 แห่งในปีนี้
การทำงานเหล่านี้นับเป็นหนึ่งในแกนที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากบรรดาครีเอเตอร์ของ TikTok ที่ปัจจุบันทำหน้าที่ในการผลิตเนื้อหา หรือคลิปวิดีโอสั้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ หรือแสดงให้เห็นถึงการนำสินค้าประเภทต่างๆ ไปใช้งานเพื่อให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ซึ่งครีเอเตอร์สามารถเข้าไปเป็นส่วนร่วมในชุมชนต่างๆ ได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนผู้ใช้งานของ TikTok ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) กว่า 325 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 15 ล้านบัญชีเป็นผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มเพื่อสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ ทำให้ในความเป็นจริงแล้วยังมีช่องว่างอีกมากให้บรรดาผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้ใช้ หรือจะกลายเป็นลูกค้าในอนาคต และที่สำคัญคือไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ครอบคลุมถึงทั่วภูมิภาค
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้งาน TikTok ในประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 49 ล้านคน
กรณิการ์ นิวัติศัยวงศ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ FMCG และอีคอมเมิร์ซ TikTok ให้ข้อมูลเสริมว่า ในประเทศไทยมีครีเอเตอร์กว่า 3 ล้านราย ที่สามารถสร้างรายได้จาก TikTok ผ่านการที่แบรนด์เข้าไปสนับสนุนต่างๆ ไม่นับรวมกับผู้ขายอีกกว่า 2.4 ล้านราย ที่ 99% ของจำนวนนี้เป็นผู้ขายในประเทศ
“TikTok Shop ได้กลายเป็นอีโคซิสเต็มสำหรับอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร ที่ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนจากการค้นพบ ไปสู่การตัดสินใจซื้อได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ทำให้เกิดประสบการณ์ชอปปิ้งแบบ Infinity loop ที่ราบรื่นตั้งแต่การค้นพบสินค้า พิจารณา การซื้อ รีวิวหลังใช้งาน และกลับไปสู่การค้นพบใหม่อีกครั้ง”
ผู้บริหาร TikTok กล่าวเสริมว่า การที่ TikTok Shop เข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ เข้าใจดีว่าเป็นสมรภูมิที่ดุเดือด แต่ TikTok มีเครื่องมือที่แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่น มีครีเอเตอร์ มีความทันสมัยในสินค้า ทำให้เกิดเป็น 2 มุมใหญ่ที่จะสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้า ประกอบด้วยการทำให้มั่นใจว่าจะได้สินค้าในราคาที่ดีที่สุด ถัดมาคือสินค้าที่ได้อยู่ในเทรนด์
โดยที่ปัจจุบันเส้นทางการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคใน TikTok Shop จะเกิดขึ้นจาก 3 ส่วนหลักๆ ที่ใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย 1.การเข้าไปเลือกซื้อในแถบ TikTok Shop 2.การเลือกซื้อจากคอนเทนต์ที่มีทั้งวิดีโอสั้นจากครีเอเตอร์ที่มีการแปะลิงก์รับส่วนแบ่งรายได้ และ 3.การทำตลาดของผู้ประกอบการผ่านทั้งวิดีโอสั้น และไลฟ์ขายของ
ดังนั้น ส่วนสำคัญที่จะทำให้ TikTok Shop เกิดขึ้น และเป็นกระแสได้จึงมาจากการที่บรรดาผู้ประกอบการริเริ่มการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำคอนเทนต์ที่สามารถดึงดูดให้ผู้ใช้งานเข้ามารับชม ก่อนต่อยอดไปถึงการขายสินค้าที่รวดเร็ว ให้สมกับการเป็นแพลตฟอร์ม Shoppertainment
***ส่งมอบประสบการณ์ที่หาไม่ได้ให้ ‘ครีเอเตอร์’
พิสุทธิ์ โรจน์เลิศจรรยา หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ TikTok กล่าวถึงแนวทางในการสนับสนุนการสร้างคอนเทนต์ไปยังครีเอเตอร์ จะเน้นที่การให้ความสนใจของเนื้อหาที่อยู่ในกระแสตามช่วงเวลา และเทศกาลต่างๆ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ได้เข้าถึงกิจกรรมแบบเอ็กซ์คลูซีฟ
“ที่ผ่านมา TikTok มีการพาครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่เป็นดาวรุ่งไปเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ รวมถึงมีการพา TikTokers จากต่างประเทศเข้ามาร่วมกิจกรรมในประเทศไทย เพื่อให้สัมผัสถึงประสบการณ์ที่หาจากที่ไหนไม่ได้”
โดยในปีนี้ ทาง TikTok จะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่ผู้ชมของไทยมีความสนใจ และมีกลุ่มครีเอเตอร์ที่พร้อมจะสร้างสรรค์เนื้อหาออกมาให้ผู้ติดตามได้รับชม
นอกจากนี้ ยังเผยถึงเทรนด์การผลิตคอนเทนต์ที่ได้รับการตอบสนองมากขึ้น คือการสร้างเนื้อหาที่มีความยาวมากกว่า 1 นาที พร้อมกับการเพิ่มเครื่องมือให้ทางครีเอเตอร์สามารถลงเนื้อหาวิดีโอแนวนอน ที่สามารถรับชมได้แบบเต็มหน้าจอเข้าไป เปิดทางในการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีความน่าสนใจได้ยาวขึ้น
“เนื้อหา และวิธีการเล่าเรื่องเฉพาะตัวของครีเอเตอร์แต่ละรายยังคงเป็นจุดที่ดึงความสนใจของผู้ชมมากที่สุด และแพลตฟอร์ม TikTok ก็จะสนับสนุนครีเอเตอร์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในอนาคตต่อไป”