xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเซ็น MOU อินโดนีเซีย ยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัล สกัดมิจฉาชีพโกงออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงดีอีเอาจริง! ลงนาม MOU อินโดนีเซีย หวังยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัล สกัดมิจฉาชีพโกงออนไลน์ 'ปลัดดีอี' แง้ม มี.ค.2567 นัดถกกัมพูชา ดับฝันหลอกข้ามประเทศ

ตามที่ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศแห่งอินโดนีเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Memorandum of Understanding between the Ministry of Digital Economy and Society of the Kingdom of Thailand and The Ministry of Communications and Informatics of Indonesia on Information and Communication Technology and Digitalization Cooperation) โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับความร่วมมือสำคัญ ประกอบด้วย บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital platform services) การกำกับดูแลบริการดิจิทัล (Digital service governance) การป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (Anti-online scamming) การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital transformation) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมโอกาสและศักยภาพของประชาชนอย่างครอบคลุม (Digital inclusion) กำลังคนทางดิจิทัล (Digital manpower) และเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy)

ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าวว่า ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับอินโดนีเซีย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการจัดการแพลตฟอร์มดิจิทัล และนำมาพัฒนาระบบการดูแลแพลตฟอร์มของไทย ที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า ดูแลอยู่ ซึ่งจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคนิคในการต่อต้านการหลอกลวง นำไปสู่การลดปัญหาในระดับอาเซียน

เพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้ มีการลงนามความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ กัมพูชา ที่หลังจากนี้ ปลัดกระทรวงดีอีของไทยและกัมพูชาจะดําเนินการร่วมกัน โดยเฉพาะการต่อต้านการหลอกลวงข้ามประเทศที่เป็นปัญหาของทั้งสองประเทศ ส่วนประเทศมาเลเซียอยู่ระหว่างหารือ เพื่อยกระดับการต่อต้านการหลอกลวงข้ามประเทศ และการส่งเสริมการใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น

"การประชุมระดับอาเซียนที่จะจัดขึ้นในเดือน มี.ค.67 ที่ประเทศกัมพูชา จะเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และยกระดับการรับมือกับปัญหาการหลอกลวงข้ามประเทศในอาเซียน เพราะปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ เป็นปัญหาสากลที่ทุกประเทศต้องเผชิญ ไม่เว้นแต่สิงคโปร์ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปัญหาการหลอกลวงและมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ก็ใกล้เคียงกัน ที่ผ่านมาและยังไม่เคยเจอประเทศไหนที่บอกว่า มีปัญหาการหลอกลวงน้อยกว่ากันเลย แต่เรามั่นใจว่า ไทยสามารถรับมือกับปัญหา และนำมาปรับปรุง เพื่อป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด" ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เผยว่า เดือน พ.ย.66 ศูนย์ AOC 1441 รับแจ้งปัญหาหลอกลวงออนไลน์ถึง 80,000 เรื่อง จึงได้จับมือกับ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เพื่อจัดการกับเบอร์โทรศัพท์ที่มีพฤติกรรมต้องสงสัย เช่น โทร.ออกมากผิดปกติ ซึ่งพบมากถึง 12,500 เบอร์ จึงให้พักใช้งานทันที และเร่งรัดให้ผู้ถือครองซิมที่ลงทะเบียนไม่ถูกต้องจำนวน 6 ล้านเลขหมาย ยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นจะถูกระงับการโทร.ออกและอนุญาตให้รับสายเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวและแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น